สั่นอย่างพาร์กินสัน (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

สั่นอย่างพาร์กินสัน

แต่หากการใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีผ่าตัด ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep brain stimulation = DBS) ด้วยการผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าไปกระตุ้นสมองเฉพาะส่วน เพื่อลดอาการของโรคพาร์กินสัน อย่างอาการหยุกหยิก (Dyskinesias) อาการสั่น (Tremor) อาการเกร็ง (Rigidity) และช่วยให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดีการใช้วิธี DBS ก็ไม่ได้ช่วยหยุดยั้งพัฒนาการของโรคที่ยังคงมีต่อไป และเช่นเดียวกับการผ่าตัดสมองทั่วไปที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อ การอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง (Stroke) หรือการที่เลือดไหลไม่หยุด (Bleeding)

นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต (Lifestyle changes) โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิค (Aerobic exercise) การกินอาหารที่มีประโยชน์ และการใช้กายภาพบำบัด (Physical therapy) กิจกรรมบำบัด (Occupational therapy) และนักแก้ไขการพูด (Speech-Language pathologist)

กรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยจะต้องติดต่อกับแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อวางแผนการรักษาที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการและผลข้างเคียงที่น้อย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตจะช่วยได้มาก เช่น

  • การกินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารที่มีไฟเบอร์สูง อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3 fatty acids) การดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยป้องกันอาการท้องผูกที่มักเกิดในผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสัน
  • การออกกำลังกาย เช่น การเดิน การว่ายน้ำ การทำสวน การเต้นรำ การออกกำลังกายในน้ำ (Water aerobics) การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Stretching) ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ยืดหยุ่น และสมดุล ช่วยลดอาการหดหู่ซึมเศร้าและวิตกกังวล
  • หลีกเลี่ยงการหกล้ม ด้วยการ
    • ใช้วิธีการเดินกลับ (U-turn) แทนการหมุนตัวกลับ (Pivoting)
    • พยายามกระจายน้ำหนักลงบนเท้าทั้งสองข้าง อย่ายืนพิง
    • หลีกเลี่ยงการยกของระหว่างเดิน
    • หลีกเลี่ยงการเดินถอยหลัง

นอกจากนั้นอาจใช้การแพทย์ทางเลือกร่วมในการช่วยผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสัน เช่น

  • การกินอาหารเสริมโคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10) ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคพารกินสันระยะแรก อย่างไรก็ดี อาจต้องใช้เวลาในการกินที่นานถึง 16 เดือนหรือมากกว่า
  • การนวด – จะช่วยในการผ่อนคลาย ลดความตึงของกล้ามเนื้อ
  • การฝังเข็ม
  • การเล่นไทเก็ก (Tai chi) หรือการเล่นโยคะ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นแข็งแรง
  • การทำสมาธิ เพื่อลดความตึงเครียดและความเจ็บปวด
  • การใช้ดนตรีบำบัด เพื่อการผ่อนคลาย

และเนื่องจากเรายังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคพาร์กินสัน ดังนั้นจึงยังไม่อาจทราบได้ถึงวิธีการป้องกัน อย่างไรก็ดี งานวิจัยบางฉบับระบุว่า คาเฟอีน ชาเขียว การออกกำลังกาย อาจจะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคพาร์กินสันได้

แหล่งข้อมูล

1. Parkinson's diseasehttp://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/parkinsons-disease/basics/definition/con-20028488[2016, March 9].

2. What is Parkinson’s Disease? http://www.pdf.org/about_pd[2016, March 9].

3. Parkinson's disease. http://www.nhs.uk/conditions/parkinsons-disease/Pages/Introduction.aspx[2016, March 9].