สั่นอย่างพาร์กินสัน (ตอนที่ 3)

สั่นอย่างพาร์กินสัน

ส่วนสาเหตุที่แท้จริงของโรคพาร์กินสันนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่ามาจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น

  • พันธุกรรม – มีการวิจัยถึงการกลายพันธุ์ (Mutation) ของยีน (Gene) บางตัวว่า อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคพาร์กินสันได้
  • สภาพแวดล้อม – การสัมผัสกับสารพิษ เช่น แมงกานีส (Manganese) ยาฆ่าวัชพืช (Herbicides) ยาฆ่าแมลง (Pesticides) หรือการที่สมองได้รับการกระทบกระเทือน อาจเป็นสาเหตุร่วมที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสันได้บ้าง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคพาร์กินสัน ได้แก่

  • อายุ – มักเกิดในวัยกลางคนหรือวัยสูงอายุ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุ คนส่วนใหญ่มักจะเป็นเมื่ออายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป
  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม – โดยมีรายงานว่า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่เกิดจากพันธุกรรมมีประมาณร้อยละ 15-25 ทั้งนี้ หากผู้ที่มีสายเลือดใกล้เคียงอันดับแรกซึ่งได้แก่ พ่อแม่พี่น้อง เป็นโรคนี้ จะทำให้ผู้นั้นมีโอกาสเกิดโรคสูงกว่าคนทั่วไปประมาณร้อยละ 4-9
  • เพศ – ผู้ชายมักจะเป็นมากกว่าผู้หญิง
  • การสัมผัสกับสารพิษ

การวิเคราะห์ว่าเป็นโรคพาร์กินสันช่วงระยะแรกๆ ของการเป็นโรคเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก บางครั้งอาจใช้เวลานานในการวิเคราะห์ว่าเป็นโรคพาร์กินสัน ดังนั้นจึงต้องมีการนัดติดตามผล (Follow-up appointments) เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติอยู่เสมอ

และเนื่องจากยังไม่มีการทดสอบเฉพาะเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน ประสาทแพทย์ (Neurologist) จะวิเคราะห์โรคโดยดูจากประวัติผู้ป่วย ดูอาการ ตรวจร่างกายและระบบประสาท เช่น

  • การตรวจเลือด เพื่อตัดตัวเลือกอื่นที่อาจเป็นสาเหตุของอาการออกไป
  • การสังเกตดูสภาพร่างกาย เช่น อาการสั่น คอหรือแขนขามีอาการแข็ง การก้าวเดินปกติหรือก้าวสั้น สามารถลุกจากเก้าอี้ได้งายไหม
  • การตรวจโดยดูจากภาพ (Imaging tests) เช่น การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging = MRI) การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) การตรวจถ่ายภาพทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ด้วยเครื่อง SPECT (Single photon emission computed tomography) และ PET scans (Positron Emission Tomography)
  • การให้กินยา Carbidopa-levodopa ที่เป็นยาใช้รักษาโรคพาร์กินสัน ซึ่งหากกินแล้วมีอาการดีขึ้นก็มักจะยืนยันได้ถึงการเป็นโรคนี้

โรคพาร์กินสันไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ยาสามารถจะช่วยควบคุมอาการ ยาอาจช่วยในการจัดการกับปัญหาในการเดิน การเคลื่อนไหว และอาการสั่น โดยยาเหล่านี้จะใช้เพิ่มสารเคมีในสมองที่เรียกว่า โดปามีน

แหล่งข้อมูล

1. Parkinson's diseasehttp://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/parkinsons-disease/basics/definition/con-20028488[2016, March 8].

2. What is Parkinson’s Disease? http://www.pdf.org/about_pd[2016, March 8].

3. Parkinson's disease. http://www.nhs.uk/conditions/parkinsons-disease/Pages/Introduction.aspx[2016, March 8].