โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 7 เมษายน 2562
- Tweet
- บทนำ และเป็นโรคติดต่อไหม?
- โรคสะเก็ดเงินเกิดได้อย่างไร?
- มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคสะเก็ดเงินไหม?
- โรคสะเก็ดเงินมีอาการอย่างไร?อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ/อาการรุนแรง?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- แพทย์วินิจฉัยโรคสะเก็ดเงินได้อย่างไร?
- รักษาโรคสะเก็ดเงินอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากโรคสะเก็ดเงินไหม?
- โรคสะเก็ดเงินรักษาหายไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงิน?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันโรคสะเก็ดเงินได้ไหม?
- เมื่อไรจึงควรพบแพทย์?เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- บรรณานุกรม
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคภูมิแพ้ตนเอง หรือโรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease) และโรคภูมิแพ้ (Allergy)
- ยากดภูมิคุ้มกัน
- เอดส์ (AIDS)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- มะเร็ง (Cancer)
- มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
บทนำ และเป็นโรคติดต่อไหม?
สะเก็ดเงิน (Psoriasis/ซอริอะสิส) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งจากผิวหนังขึ้นผื่นเป็นปื้น แดง หนา คัน เจ็บ ตกสะเก็ดเป็นมันและมีสีเงิน จึงได้ชื่อว่า ‘โรคสะเก็ดเงิน’ ซึ่งโรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มโรคออโตอิมมูนที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันตานทานโรคต่อต้านเซลล์/เนื้อเยื่อผิวหนังจึงส่งผลให้เนื้อเยื่อผิวหนังเกิดการอักเสบเรื้อรัง(ชนิดไม่ติดเชื้อ)ดังกล่าว
โรคสะเก็ดเงินพบเกิดกับผิวหนังได้ทุกส่วน แต่ตำแหน่งที่พบบ่อยคือ
- ผิวหนังส่วนข้อศอก (ด้านนอกไม่ใช่ด้านในข้อพับ)
- เข่า (ด้านนอกไม่ใช่ส่วนในข้อพับ)
- ผิวหนังส่วน ด้านหลัง หลังมือ หลังเท้า
- หนังศีรษะ และใบหน้า
*โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ ดังนั้นคนที่สัมผัสคนเป็นโรคสะเก็ดเงิน หรือสัมผัสผิวหนังส่วนเกิดโรค/รอยโรค หรือแม้แต่สะเก็ดของผิวหนังส่วนเกิดโรค จึงไม่เกิดเป็นโรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงินจัดเป็นโรคผิวหนังพบทั่วโลกที่พบได้เรื่อยๆไม่ถึงกับบ่อยมาก ผู้หญิงและในผู้ชายพบใกล้เคียงกัน
- พบโรคนี้ได้ประมาณ 2-3%ของประชากรทั้งหมดทั่วโลก
- พบในทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ
- โดยพบบ่อยในช่วงอายุ15-35ปี
- 10-15%พบก่อนอายุ10ปี และ
- พบน้อยมากในเด็กแรกเกิด
โรคสะเก็ดเงินเกิดได้อย่างไร?
ปัจจุบัน โรคสะเก็ดเงินจัดอยู่ในกลุ่มโรคออโตอิมมูน แต่อาจมีหลายปัจจัยร่วมกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติต่อการสร้างเซลล์/เนื้อเยื่อผิวหนัง ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังส่วนนั้นแบ่งตัวเร็วกว่าปกติร่วมกับเกิดการอักเสบของผิวหนังที่ไม่ใช่จากการติดเชื้อ จึงเกิดเป็นปื้น (Plaque) หรือ เป็น แผ่นหนา แดง คัน และตกสะเก็ด
มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคสะเก็ดเงินไหม?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคสะเก็ดเงินที่พบบ่อย ได้แก่
- เชื้อชาติ: บางเชื้อชาติพบเกิดโรคนี้ได้สูงกว่า เช่น คนผิวขาวพบโรคนี้ได้ประมาณ3.6%ของประชากร แต่พบได้น้อยในคนเอเซีย และคนอัฟริกัน
- พันธุกรรม: เพราะพบโรคได้สูงในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ อย่างไรก็ตามสาเหตุนี้ พบน้อย
- มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติหรือบกพร่อง เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนกลุ่มนี้ เช่น ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) หรือโรคเอดส์
- อาจติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิดบ่อยๆ: เช่น โรคต่อมทอนซิลอักเสบจากเชื้อ สเตร็ปโตคอกคัส (โรคสเตร็ปโธรท/Strep throat)
- ภาวะมีความเครียด: เพราะความเครียดส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำหรือ ผิดปกติได้
- ในคนอ้วนหรือโรคอ้วน: ซึ่งยังไม่ทราบว่าทำไม
- ในคนสูบบุหรี่ ซึ่งอาจจากสารพิษต่างๆในควันบุหรี่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันต้านทานโรค หรือ เพราะมีความเครียดจึงสูบบุหรี่
- ผลข้างเคียงจากกินยาบางชนิดต่อเนื่อง : เช่น
- ยาลดความดันโลหิตบางชนิด
- ยารักษาทางจิตเวชบางชนิด
- ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์
โรคสะเก็ดเงินมีอาการอย่างไร?อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ/อาการรุนแรง?
อาการพบบ่อยของโรคสะเก็ดเงิน ได้แก่
- การเกิดผื่นเป็นปื้นผิดปกติบนผิวหนัง โดยเกิดได้กับผิวหนังทุกส่วนของร่างกายที่รวมถึงหนังศีรษะ(พบบ่อย) หนังตา และที่อวัยวะเพศ
- โดยผื่น/ปื้นมีลักษณะ หนา แห้ง แตก แดง คัน และตกสะเก็ดเป็นสีเงิน
- เมื่อมีอาการมาก อาจมีเลือดออกในปื้นนี้ได้ และ/หรือ
- ลุกลามเข้าไปในเล็บ และ/หรือ
- ลุกลามให้เกิดข้ออักเสบร่วมด้วย ที่เรียกว่า ‘ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน(Psoriasis arthritis)’
ปัจจัยกระตุ้นให้อาการรุนแรง:
ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการหรือให้อาการรุนแรง ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วยสะเก็ดเงิน ผู้ป่วยจึงต้องคอยสังเกตุความเกี่ยวพันด้วยตนเอง เช่น
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- สูบบุหรี่
- กินยาบางชนิดดังได้กล่าวแล้ว(เป็นได้ทั้งปัจจัยเสี่ยงและตัวกระตุ้นให้อาการรุนแรง)ใน ’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ ’
- อากาศหนาว
- ความเครียด
- การติดเชื้อต่างๆในขณะเกิดอาการ เช่น เป็นโรคหวัด และ
- การเกิดบาดแผลที่ผิวหนัง เช่น มีดบาด ฉีดยา
- อาหารบางชนิด เช่น
- เนื้อแดง
- นม และผลิตภัณฑ์จากนม
- อาหารแปรรูป
- น้ำตาลที่ขัดสี
อนึ่ง: โรคสะเก็ดเงิน อาจพบเกิดร่วมกับโรคเรื่อรังอื่นๆ เช่น
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไต
- โรคหัวใจ
เมื่อไรควรพบแพทย์?
เมื่อเกิดผื่น ทั้งผื่นคัน หรือผื่นที่ไม่คัน ที่อาการไม่ดีขึ้นหรืออาการเลวลงภายหลังการดูแลตนเองภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีสิ่งผิดปกติต่างๆ เช่น แผลเรื้อรัง เป็นๆหายๆ เกิดซ้ำในที่เดียวกันตลอด หรือผิวหนังมีก้อนเนื้อ ควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมออย่างน้อยภายใน 1-2 สัปดาห์หลังพบความผิดปกติเพื่อแพทย์วินิจฉัยแยกโรคว่าไม่ใช่เกิดจากโรคสะเก็ดเงิน หรือโรคมะเร็งผิวหนัง เพื่อการรักษาโรคแต่เนิ่นๆที่จะได้ประสิทธิผลการรักษาที่ดีกว่าการรักษาโรคในระยะลุกลาม
แพทย์วินิจฉัยโรคสะเก็ดเงินได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคสะเก็ดเงินได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วย การใช้ยาทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติในครอบครัว ประวัติที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยกระตุ้นต่างๆ
- การตรวจร่างกายทั่วไป
- การตรวจดู ลักษณะความผิดปกติของรอยโรคที่ผิวหนัง
- การตัดชิ้นเนื้อจากผิวหนังที่เกิดโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา และ
- อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมทั้ง นี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(CBC), ดูค่าน้ำตาลในเลือด(โรคเบาหวาน) เป็นต้น
รักษาโรคสะเก็ดเงินอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงิน มีหลายวิธี และอาจใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ, การตอบสนองของอาการต่อวิธีรักษาต่าง, และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การใช้’ยาทา’ต่างๆ เช่นยา Salicylic acid, ยาสเตียรอด์, Retinoid, Anthralin, Vitamin D และรวมถึงการใช้ครีม/โลชั่นบำรุงผิวชนิดที่อ่อนโยน
- การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ดังที่ได้กล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ และ ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’
- การฉายแสงรอยโรคด้วย แสงยูวี เอ หรือ ยูวี บี จากแสงแดด (UV-A หรือ UV B)
- การกินยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดบางชนิด
- การฉายรังสีรักษาที่รอยโรค
- การป้องกัน ควบคุม รักษา โรคต่างๆที่มักเกิดร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ, โรคไต
- บางครั้ง/บางรายที่ดื้อต่อการรักษาวิธีต่างๆ อาจมีการผ่าตัดต่อมทอนซิล กรณีแพทย์เชื่อว่าเป็นต้นเหตุการติดเชื้อเรื้อรังที่ส่งผลกระตุ้นอาการของสะเก็ดเงิน
มีผลข้างเคียงจากโรคสะเก็ดเงินไหม?
ผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากโรคสะเก็ดเงิน เช่น
- โรคข้ออักเสบ ที่พบได้ประมาณ 10-15% และ
- อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด
- โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และ
- โรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
โรคสะเก็ดเงินรักษาหายไหม?
โรคสะเก็ดเงินมีการพยากรณ์โรค โดยเป็นโรคไม่รุนแรงเป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนน้อยมีอาการรุนแรง แต่ไม่ทำให้เสียชีวิต
สะเก็ดเงิน เป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆหายๆตลอดชีวิตแม้จะรักษาอย่างถูกต้องแล้วก็ตาม และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่เรียกว่า ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน, โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, และโรคมะเร็งผิวหนัง นอกจากนั้นคือ การเสียภาพลักษณ์ซึ่งส่งผลถึงคุณภาพชีวิตสำหรับบางคนได้
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงิน? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงินที่สำคัญ ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์/พยาบาล แนะนำ
- อาบน้ำโดยใช้สบู่เด็กอ่อน อาจใช้สบู่สำหรับผิวแห้งมาก (สบู่ผสมน้ำมัน) ในบริเวณผิว หนังส่วนเกิดโรค
- ทายา กินยา ตามแพทย์แนะนำอย่างถูกต้อง อย่าขาดยา
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยต่อความรุนแรงของโรคดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ และหัวข้อ ปัจจัยกระตุ้นอาการฯ’ โดยเฉพาะ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และความเครียด
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน และ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงลดโอกาสติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยง/ลดปริมาณอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นอาการ
- ตากแดดอ่อนๆทุกวันตาม แพทย์/พยาบาล แนะนำ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดี
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม
- เมื่อมีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ขึ้นห้อเลือดตามตัว เบื่ออาหารมาก คลื่นไส้/อาเจียนมาก
- เมื่อกังวลกับอาการ
ป้องกันโรคสะเก็ดเงิน ได้ไหม?
เนื่องจากเป็นโรคในกลุ่มโรคออโตอิมมูน การป้องกันเต็มร้อยจึงเป็นไปไม่ได้ ยกเว้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงฯ/ปัจจัยกระตุ้นฯ (ดังกล่าวใน หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ, และหัวข้อ ปัจจัยกระตุ้นอาการฯ)ที่หลีกเลี่ยงได้ ร่วมกับรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สูขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- Luba, K., and Stulberg, D. (2006). Chronic plaque psoriasis. Am Fam Physician, 73, 636-644.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Psoriasis [2019, March16]
- https://emedicine.medscape.com/article/1943419-overview#showall [2019, March16]
- https://www.psoriasis.org/about-psoriasis [2019, March16]