สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

อนุสนธิจากข่าวเมื่อวานนี้ สำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการของรัฐที่พยายามประกันสุขภาพประชาชนอย่างถ้วนหน้าเป็นโครงการล่าสุด (แต่ใหญ่ที่สุด) ที่นำเสนอสู่ประชาชนในปี พ.ศ. 2544 เพื่อขยายขอบเขตผลประโยชน์ด้านดูแลสุขภาพ แก่ประชาชนที่มิได้รับการความคุ้มครองจาก 2 โครงการก่อนหน้านี้ อันได้แก่ โครงการประกันสังคม และโครงการสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (Civil servant medical benefits) เป็นโครงการแรกสุดที่ประกันสุขภาพของข้าราชการ และผู้ที่เกษียณอายุแล้ว พร้อมผู้อยู่ในความอุปถัมภ์ (Dependents) อันได้แก่บิดามารดา คู่สมรส และบุตร ไม่เกิน 3 คน โดยเป็นบุตรที่อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ผู้มีสิทธิจะได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมทุกอย่าง (Comprehensive)

เนื่องจากคำนิยามของสิทธิที่ค่อนข้างจะครอบจักรวาล ทำให้มีผู้ได้รับผลประโยชน์จำนวนมาก จนไม่สามารถทราบจำนวนผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง แต่เป็นที่ประมาณการกันว่า 10% ของจำนวนประชากรของประเทศ หรือประมาณ 6.5 ล้านคนในปัจจุบัน

โครงการนี้อยู่ภายใต้การบริหารของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง โดยได้แหล่งเงินทุนจากเงินได้ภาษีของประชาชน โดยที่ผู้ได้รับผลประโยชน์ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันใดๆ เพราะรัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด สิทธิที่ได้รวมถึงค่าใช้จ่ายในฐานะผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ทั้งการเยียวยาและผ่าตัด บริการฉุกเฉิน และค่าตรวจสุขภาพประจำปี แต่ไม่รวมถึงค่าบริการบางอย่างที่ไม่จำเป็น อาทิ ศัลยกรรมตกแต่งเพื่อความสวยงาม และบริการป้องกันอื่นๆ

ในกรณีฉุกเฉิน ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลเอกชน และจะสามารถเบิกจ่ายได้บางส่วน หรือจะเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2541 ข้าราชการผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายได้สำหรับการบำบัดรักษาทุกประเภท รวมทั้งค่ายาทุกขนาน โดยไม่มีข้อจำกัด (ปัจจุบัน มีข้อจำกัดการใช้ยาเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะเมื่อเป็นยาต้นฉบับเฉพาะโรค)

ส่วนข้าราชการผู้ป่วยนอก อาจต้องทดรองจ่ายเงินตนเองไปก่อน แต่สามารถเบิกจ่ายคืนได้ทั้งหมด ส่วนข้าราชการผู้ป่วยใน อาจให้โรงพยาบาล ส่งไปเรียกเก็บค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยตรงจากต้นสังกัด หรือกรมบัญชีกลาง ความยืดหยุ่นนี้ เป็นแหล่งรายได้สำคัญให้โรงพยาบาล เพื่อชดเชยการขาดทุนจากการให้บริการผู้ป่วยในโครงการอื่นๆ

โรงพยาบาลบางแห่งใช้ช่องโหว่นี้ในการเรียกเก็บค่าบริการเกินความเป็นจริง โดยที่แพทย์ออกใบสั่ง (Prescription) ใช้บริการตรวจวิเคราะห์ (Diagnostics) ที่ก่อให้เกิดรายได้สูงสุดแก่โรงพยาบาล ดังนั้น ค่าใช้จ่ายต่อหัวสำหรับข้าราชการ จึงสูงสุดเมื่อเทียบเคียงมาตรฐานกับโครงการประกันสุขภาพอื่นๆ

แต่ที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายต่อหัวได้เพิ่มขึ้นถัวเฉลี่ยปีละ 20% ในช่วงปี พ.ศ. 2531 ถึง ปี พ.ศ. 2540 แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ (Medical inflation) อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แสดงถึงการใช้สิทธิของข้าราชการอย่างฟุ่มเฟือย และปราศจการควบคุมดูแลอย่างใกล้ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นข้าราชการที่ได้รับผลประโยชน์เดียวกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. Pongpirul, Krit (2011, March). Hospital Coding Practice, Data Quality, and DRG-Based Reimbursement Under the Thai Universal Coverage Scheme. PhD Dissertation at Johns Hopkins University, Baltimore, Maryland.