สวยหลอกแต่น่ากลัวจริง (ตอนที่ 2)

สวยหลอกแต่น่ากลัวจริง

ฟิลเลอร์ที่สามารถละลายได้ (Absorbable materials) ได้แก่

  • คอลลาเจน (Collagen) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบส่วนใหญ่ของผิวหนังและเนื้อเยื่ออื่นในร่างกาย แหล่งของคอลลาเจนที่บริสุทธิ์สามารถพบได้จากวัว (Bovine) หรือเซลล์มนุษย์ ผลของการฉีดคอลลาเจนสามารถอยู่ได้นาน 3-4 เดือน ซึ่งถือเป็นสารฉีดที่มีอายุสั้นที่สุด
  • กรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic acid) เป็นน้ำตาลชนิดหนึ่ง (Polysaccharide) ที่มีอยู่ในเนื้อเยื่อร่างกาย เช่น ผิวหนัง และกระดูกอ่อน (Cartilage) สามารถรวมตัวเข้ากับน้ำและบวมในรูปของเจล (Gel form) ทำให้รู้สึกผิวนุ่มเต่งตึง

แหล่งของกรดไฮยาลูโรนิกที่ใช้ มาจากการสกัดจากการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียในห้องทดลองและสกัดจากหงอนไก่ (Rooster combs) หรือบางทีก็ทำจากสารเคมีเพื่อให้อยู่ในร่างกายได้นานขึ้น ผลของการฉีดกรดไฮยาลูโรนิกสามารถอยู่ได้นาน 6-12 เดือน

  • แคลเซียมไฮดรอกซีอาปาไทต์ (Calcium hydroxylapatite) เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่พบในฟันและกระดูกมนุษย์ สามารถเห็นได้ด้วยการเอ็กซเรย์ เป็นสารที่ใช้ได้ดีกับส่วนของใบหน้าหรือหลังมือ สามารถอยู่ได้นาน 18 เดือน
  • โพลิแอลแลกติกแอซิด (Poly-L-lactic acid : PLLA) เป็นสารโพลิเมอร์ (Polymer) ทางชีวภาพที่มนุษย์สร้างขึ้น สารนี้ใช้กันมากในส่วนของรอยเย็บ (Absorbable stitches) และตะปูเกลียวยึดกระดูก (Bone screws) สารนี้จะสามารถอยู่ได้นานถึง 2 ปี

ฟิลเลอร์ที่ไม่สามารถละลายได้ (Non-absorbable materials) แต่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้แก่

  • Polymethylmethacrylate beads (PMMA microspheres) ซึ่งไม่ใช่สารทางชีวภาพ เป็นสารที่ใช้ในอุปกรณ์อื่น เช่น ซีเมนต์เชื่อมกระดูก (Bone cement) และเลนส์เทียม (Intraocular lenses) เป็นสารที่ร่างกายไม่สามารถละลายเองได้

ทั้งนี้ผลสำเร็จของการฉีดฟิลเลอร์ขึ้นอยู่กับสุขภาพผิว ความเชี่ยวชาญของแพทย์ ปริมาณและชนิดของฟิลเลอร์ที่เลือกใช้

ฟิลเลอร์สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในระยะยาวหรือถาวร อย่างไรก็ดีส่วนใหญ่จะมีผลข้างเคียงประมาณ 2 สัปดาห์หลังการฉีด อาการบวมและปวดอาจคงอยู่นาน 1 เดือนหรือมากกว่า ดังนั้นจึงต้องมีการทดสอบการแพ้ (Allergy testing) สำหรับสารบางตัวก่อน เช่น สารที่ได้จากสัตว์อย่างวัวหรือหงอนไก่ เป็นต้น

ความเสี่ยงของการฉีดฟิลเลอร์ที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่

  • เป็นรอยช้ำ (Bruising)
  • บวมแดง
  • ปวด
  • กดเจ็บ (Tenderness)
  • คันเป็นผื่น

แหล่งข้อมูล

  1. แพทยสภาขู่ห้ามฉีดฟิลเลอร์ หากพบทำให้ตาบอดมากขึ้น. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000080049 [2015, September 1].
  2. What You Should Know About Wrinkle Fillers. http://www.webmd.com/beauty/facial-fillers/wrinkle-fillers-what-you-should-know [2015, September 1].
  3. Soft Tissue Fillers (Dermal Fillers). http://www.fda.gov/MedicalDevices/ProductsandMedicalProcedures/CosmeticDevices/WrinkleFillers/ucm2007470.htm [2015, September 1].