สมดุลของเกลือแร่ สมดุลของน้ำและเกลือแร่ (Fluid electrolyte balance)

บทความที่เกี่ยวข้อง
สมดุลของเกลือแร่

น้ำ หรือ ของเหลว เป็นส่วนสำคัญของร่างกาย ร่างกายจะประกอบด้วยส่วนที่เป็นของเหลวประมาณ 60% ซึ่งมีอยู่ในทุกส่วนของเซลล์ (ทั้งภายในและภายนอกเซลล์) และในเนื้อเยื่อทุกชนิดของร่างกาย อีก 40% ที่เหลือเป็นเนื้อเยื่อที่เป็นของแข็ง

ในร่างกายส่วนที่เป็นน้ำหรือของเหลว จะมีเกลือแร่ ในรูปแบบของอีเล็กโทรไลท์(Electrolyte) ที่ช่วยคงสมดุลของ/ของเหลว/น้ำและเกลือแร่ในร่างกาย(สมดุลของน้ำและเกลือแร่ /Water electrolyte balance หรือ สมดุลของของเหลวและเกลือแร่/ Fluid electrolyte balance) คงความเป็นกรด-ด่าง ที่ช่วยให้การทำงานของอวัยวะต่างๆเป็นไปอย่างปกติ โดยเฉพาะ สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ และไต โดยเกลือแร่ที่สำคัญที่สุด มี 3 ตัว คือ โซเดียม (Sodium ย่อว่า N หรือ Na) โพแทสเซียม/โปแตสเซียม (Potassium ย่อว่า K) และ แคลเซียม (Calcium ย่อว่า Ca)

หน้าที่หลักของโซเดียม คือ การรักษาสมดุลของปริมาณน้ำในร่างกาย คงความดันโลหิต คงสมดุลของความเป็นกรด-ด่างของร่างกายร่วมกับเกลือแร่ตัวอื่นๆและคาร์บอนไดออกไซด์

หน้าที่หลักของโพแทสเซียม จะเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อทั้งหมดที่รวมทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ

หน้าที่หลักของแคลเซียม จะเกี่ยวข้องกับการทำงานของ หัวใจ ความดันโลหิต การทำงานของกระดูกและกล้ามเนื้อ และความเป็นกรด-ด่างของร่างกาย

ร่างกายได้น้ำและเกลือแร่ จากอาหารที่เราบริโภคเป็นหลัก โดยมี ไต ผิวหนัง ต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง เป็นตัวควบคุมให้ น้ำและเกลือแร่ให้อยู่ในสมดุล

การเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ เกิดได้จาก ภาวะ/โรคที่ทำให้เสียน้ำและเกลือแร่ เช่น ท้องเสีย อาเจียน ขาดอาหาร ลมแดด การดื่มน้ำน้อย อาการไข้ (เสียเกลือแร่ทางเหงื่อ) โรคไต โรคของต่อมหมวกไต และโรคของต่อมใต้สมอง

อาการจากการเสียสมดุลของน้ำและของเกลือแร่ เช่น บวม หายใจลำบาก หายใจเร็ว สับสน มีความผิดปกติในปัสสาวะ (อาจมากหรือน้อยผิดปกติ) กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจคลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ

การรักษา คือ การปรับสมดุลของน้ำและของเกลือแร่ด้วย ยา หรือ ด้วยการเสริมด้วยเกลือแร่ที่ขาด หรือ การขับออกของน้ำและ/หรือเกลือแร่ส่วนเกิน ร่วมกับการรักษาสาเหตุ

บรรณานุกรม

  1. https://www.healthline.com/health/electrolyte-disorders [2018,March10]
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Water-electrolyte_imbalance [2018,March10]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Electrolyte [2018,March10]
  4. https://mcb.berkeley.edu/courses/mcb135e/kidneyfluid.html [2018,March10]
Updated 2018, March10