สบู่แอนตี้แบคทีเรีย จำเป็นหรือไม่ ? (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ไตรโคลซาน Triclosan (2,4,4’ –trichloro-2’-hydroxydiphenyl ether) เป็นสารประกอบที่ใช้หยุดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา มีการใช้ไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์ยาในท้องตลาดทั่วไป เช่น สบู่แอนตี้แบคทีเรีย และยาสีฟันบางยี่ห้อ

นอกจากนี้ยังมีการใช้ไตรโคลซานในการรักษาวัตถุ (Material preservative) เช่น สารยึดติด (Adhesives) สิ่งทอ (Fabrics) ไวนิล (Vinyl) พลาสติก (Plastics เช่น ของเด็กเล่น แปรงสีฟัน) โพลีเอทิลีน (Polyethylene) โพลียูรีเทน (Polyurethane) โพลีโพไพลีน (Polypropylene = PP) ยาขัดพื้น (Floor wax emulsions) วัสดุอุดรอยรั่ว (Caulking compounds) สารกันรั่ว (Sealants) ยาง (Rubber) พรม (Carpeting) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

EPA ได้ประเมินถึงความเป็นพิษของไตรโคลซานจากข้อมูลที่มีอยู่ พบว่าไตรโคลซานมีผลกระทบต่อ

  • ต่อมไร้ท่อ (Endocrine effects)
  • พัฒนาการและภาวะเจริญพันธุ์ (Developmental and reproductive toxicity)
  • ความเป็นพิษเรื้อรัง (Chronic toxicity)
  • การเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogenicity)
  • ไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid hormones)
  • ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)

ส่วนไตรโคลคาร์บาน (Triclocarban / TCC / 3,4,4'-trichlorocarbanilide) เป็นสารใช้ต้านเชื่อแบคทีเรียและเชื้อรา มักใช้ในผลิตภัณฑ์สบู่ระงับกลิ่นกาย ไตรโคลคาร์บานเป็นสารเคมีที่คงตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมและใช้เวลาย่อยสลายมากกว่า 10 ปี

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา FDA ได้มีการออกร่างกฎ (Proposed rule) เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอเมริกันเป็นระยะเวลา 180 วัน โดยกฎที่จะเกิดขึ้นนี้เรียกร้องให้ผู้ผลิตแจ้งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิผลของการใช้สบู่แอนตี้แบคทีเรียและสบู่ถูตัวที่ใช้กับน้ำเท่านั้น (ไม่ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดมือ (Hand sanitizers) กระดาษเช็ดมือ (Hand wipes) หรือสบู่แอนตี้แบคทีเรียที่ใช้ในสถานพยาบาล เช่น โรงพยาบาล)

เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้สินค้าที่ผสมสารต้านเชื้อจุลินทรีย์มากมาย ซึ่งจะทำให้การรักษาโรคติดเชื้อยากขึ้น นักวิชาการจึงแนะนำว่าเราไม่จำเป็นต้องล้างมือ ล้างหน้า อาบน้ำ ด้วยผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์โดยไม่มีเหตุจำเป็น รวมถึงสินค้าอุปโภค เช่น น้ำยาซักผ้า เครื่องใช้ในครัวเรือนทั้งหลาย แต่ควรหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาสุขลักษณะที่ดีมากกว่า

อนึ่ง กรณีของประเทศไทย ไตรโคลซานเป็นวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 24 ส่วนไตรโคลคาร์บาน เป็นวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 22 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 47) พ.ศ.2550 เรื่อง กำหนดวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง นั่นหมายความว่า สบู่หรือครีมล้างมือหรือครีมอาบน้ำที่มีสารไตรโคลซานหรือไตรโคลคาร์บานนั้น ถือว่าเป็นเครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535

แหล่งข้อมูล:

  1. FDA Taking Closer Look at 'Antibacterial' Soap. http://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm378393.htm [2014, February 20].
  2. Triclosan Facts. http://www.epa.gov/oppsrrd1/REDs/factsheets/triclosan_fs.htm [2014, February 21].
  3. Triclocarban. http://www.sourcewatch.org/index.php/Triclocarban [2014, February 1].