สบายใจสบายกาย สายด่วนการแพทย์ (ตอนที่ 1)

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร. นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ABAC Poll มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์มักจะมีอุบัติเหตุและเหตุอื่นๆ ที่ชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักวิจัยดังกล่าว จึงได้เปิดโครงการ “ประเมิน ผลการปฏิบัติงานสายด่วนฉุกเฉิน” อันได้แก่ สายด่วนฉุกเฉิน 191 สายด่วนฉุกเฉินตำรวจทางหลวง 1193 สายด่วนบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 และโทรศัพท์ตำรวจท้องที่ เพื่อนำเสนอข้อมูลเสียงสะท้อนจากประชาชนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 612 ราย [เพื่อรับทราบและปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น]

ปรากฎว่า หน่วยงานที่ได้รับความพอใจสูงสุดในการปฏิบัติการสายด่วนฉุกเฉินได้แก่ สายด่วนบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ที่ได้รับความพึงพอใจอยู่ในระดับสูงในทุกๆ ด้าน อันได้แก่

  1. เจ้าหน้าที่พูดจาสุภาพเรียบร้อย
  2. ใส่ใจเรื่องที่แจ้ง
  3. มีการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
  4. มีผู้รับสายโทรศัพท์ทันที
  5. มีความรวดเร็วในการเข้าถึงที่เกิดเหตุ
  6. มีความเข้าใจในการสื่อสารบอกจุดที่เกิดเหตุได้ และ
  7. มีการติดต่อกลับผู้แจ้งเหตุ เพื่อแจ้งผลการให้ความช่วยเหลือ

ในออสเตรเลีย มีสายด่วนการแพทย์ (Medical hotline) ระดับชาติ ซึ่งได้รับการติดตั้งตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ปีที่แล้ว แต่เพิ่งจะมาครบทั่วทั้งประเทศเมื่อต้นปีนี้เองที่รัฐ Queensland เป็นบริการหลังเวลาปรกติ (After-Hours) ที่รับจ้างดำเนินการโดยบริษัท Medibank Health Solutions ซึ่งจะมีแพทย์สาขาเวชปฏิบัติทั่วไป (General Practitioner: GP) จำนวน 100 คน และพยาบาลกว่า 240 คน พร้อมที่จะรับโทรศัพท์จากทุกแห่งทั่วประเทศ

Ms. Nicola Roxon รัฐมนตรีกระทรวงสุขภาพและผู้สูงอายุ (Minister for Health and Ageing) กล่าวว่า สายด่วนนี้ มีไว้เพื่อสร้างความมั่นใจในยามค่ำคืน ให้แก่ครอบครัวชาวออสเตรเลีย ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการที่จำเป็นต้องได้คำปรึกษาทางการแพทย์ แต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการเหมือนปรกติในเวลากลางวัน

“After Hours GP Helpline” เป็นชื่อบริการนี้ ซึ่งจะเปิดทุกๆ คืน (รวมทุกๆ สุดสัปดาห์ด้วย) ปีละ 365 วัน เป็นความพยายามของรัฐบาลในการปฏิรูประบบสุขภาพ นอกเหนือจาการเพิ่มจำนวนแพทย์ พยาบาล และเตียงในโรงพยาบาล การปรับปรุงคลินิกเวชปฏิบัติกว่า 400 แห่ง และสร้างคลิกนิกพิเศษ (Super Clinics) อีก 64 แห่ง เพื่อให้บริการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้นแก่ชาวออสเตรเลียทั่วประเทศ

บริการสายด่วนการแพทย์นี้ เป็นการเพิ่มเติมการตรวจคัดกรองโดยพยาบาล (Nurse triage) การให้ข้อมูล และการให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นบริการทางโทรศัพท์ที่มีอยู่แล้วก่อนหน้าปัจจุบัน

รัฐมนตรีสตรีกระทรวงสุขภาพและผู้สูงอายุ กล่าวว่า “เราเข้าใจความกังวลของการดูแลลูกที่ป่วยในยามดึกดื่น และไม่มีอะไรที่ทำให้มั่นใจได้ดีกว่าการที่พ่อแม่สามารถยกหูโทรศัพท์พูดคุยกับพยาบาลหรือหมอเวชปฏิบัติเพื่อขอคำปรึกษา และถ้าจำเป็น สามารถ “ส่งต่อ” (Refer) ไปยังสถานพยาบาลใกล้บ้านที่สุด ซึ่งเปิดให้บริการหลังเวลาทำงานปรกติ”

เธอกล่าวต่อไปว่า บริการดังกล่าวเป็นบริการฟรี สำหรับผู้โทรศัพท์จากภายในประเทศออสเตรเลีย และจะเริ่มบริการตั้งแต่เวลา 18.00 น. จนถึง 8.00 น. ของวันรุ่งขึ้น จากเย็นวันจันทร์ถึงเช้าวันเสาร์ แล้วหยุดพักบริการ จากนั้นจะเริ่มบริการใหม่ตั้งแต่ 12.00 น. (เที่ยง) วันเสาร์ ตลอด (ไม่มีชั่วโมงหยุด) ถึง 8.00 น. ของเช้าวันจันทร์ แล้วเวียนกลับไปยังตารางก่อนหน้านี้ ในวันหยุดนักขัตฤกษ์อื่นๆ ก็ใช้ตารางเดียวกับวันหยุดสุดสัปดาห์ที่มีอยู่

แหล่งข้อมูล:

  1. เอแบคโพลล์ชี้ สายด่วนบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ได้รับความพึงพอใจสูงสุด http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1334118778&grpid=&catid=19&subcatid=1904 [2012, April 15].
  2. Medical hotline gets the call. http://www.psnews.com.au/Page_psn2725.html [2012, April 15].