วิคส์/วิคส์วาโปรับ (Vicks/Vicks Vaporub)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 มีนาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- วิคส์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- วิคส์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- วิคส์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- วิคส์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- วิคส์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้วิคส์อย่างไร?
- วิคส์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาวิคส์อย่างไร?
- วิคส์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาโอทีซี (OTC Drugs) ยาจำหน่ายหน้าเคาเตอร์ (Over-the-counter drugs)
- โรคหวัด (Common cold)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- รูปแบบยาเตรียม (Pharmaceutical Dosage Forms)
บทนำ
วิคส์/ยาวิคส์/วิคส์วาโปรับ(Vicks/Vicks Vaporub)เป็นชื่อการค้าของยาสัญชาติอเมริกันที่สามารถซื้อโดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ (Over-the-counter drugs ย่อว่า OTC drugs) ลักษณะเป็นยาขี้ผึ้งที่มีส่วนประกอบหลักๆ คือ “การบูร น้ำมันยูคาลิปตัส และเกล็ดสะระแหน่” ประวัติของวิคส์มีการใช้มายาวนานกว่า 100 ปีแล้ว โดยมีการผสมและผลิตครั้งแรกในปี ค.ศ.1891 (พ.ศ.2434) ในเวลา 6 ปีถัดมา วิคส์ก็ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการโดยใช้ชื่อการค้าว่า “Vicks Magic Croup Salve” ซึ่งอาจแปลเป็นไทยว่า “ขี้ผึ้งพิศวงบรรเทาอาการไอ” จากนั้นอีก 7 ปีต่อมา ก็มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “VapoRub” และยังคงมีจำหน่ายมาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยคุณสมบัติของวิคส์ที่เป็นยาบรรเทาอาการคัดจมูก/ แน่นจมูก รวมถึงอาการไอจากโรคหวัด ประกอบกับหาซื้อได้ง่าย และมีความคุ้นเคยในชื่อการค้า จึงทำให้วิคส์เป็นยาที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค/ผู้ป่วยจำนวนมาก อย่างไรก็ตามวิคส์ก็ยังมีข้อห้ามใช้บางประการที่ผู้บริโภคควรทราบไว้ เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาวิคส์ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จะมีผิวหนังบอบบาง ตัวยาสำคัญในสูตรตำรับของวิคส์อาจทำให้เกิดความรู้สึกระคายเคือง หรือร้อนผิวหนังบริเวณที่ทายา จึงถือเป็นข้อห้าม ทายานี้บนผิวหนังกับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีลงมา
- ห้ามทาวิคส์ในบริเวณผิวหนังที่เป็น แผลเปิด แผลฉีกขาด ด้วยจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองหรือแสบร้อนผิวหนัง/แผลที่สัมผัสยานี้ได้มากยิ่งขึ้น
- ห้ามนำไป รับประทาน หรือป้ายตา ด้วยวิคส์เป็น “ยาใช้ภายนอก” เท่านั้น
- หลังทายานี้แล้ว ห้ามนำพลาสเตอร์ปิดผิวหนังปิดทับ ควรปล่อยให้ตัวยามีการระเหยอย่างเป็นธรรมชาติ
- ห้ามนำผ้าหรือกระเป๋าน้ำร้อนมาประคบบริเวณผิวหนังที่เพิ่งทายานี้ ด้วยความร้อนจะเพิ่มอาการระคายเคืองของผิวหนังที่สัมผัสกับยาวิคส์ได้มากยิ่งขึ้น
- ห้ามใช้ทาหน้าอก/เต้านมของมารดาที่ต้องเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของตนเอง
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ควรได้รับคำยืนยันจากแพทย์ว่าเหมาะสมหรือไม่ ด้วยสตรีมีครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาต่างๆหลายประเภท
นอกจากการใช้วิคส์เป็นยาบรรเทาอาการโรคหวัด คัดจมูก ลดอาการไอแล้ว ในต่างประเทศยังมีการใช้วิคส์ที่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ทางคลินิกอีกหลายประการ อาทิ เช่น ใช้ทาเท้าเพื่อบรรเทาอาการไอช่วงกลางคืน ทาผิวหนังช่วยบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ ทาฆ่าเชื้อราบริเวณเล็บเท้า(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เชื้อราที่เล็บ) ทาบริเวณศีรษะบรรเทาอาการปวดศีรษะ ทาบำบัดอาการคันจากแมลงกัดต่อย ทาเสื้อผ้า หรือผิวหนังเพื่อไล่และป้องกันยุงกัด ฯลฯ จากข้อบ่งใช้ดังกล่าวถึงแม้จะไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ทางคลินิกของการใช้วิคส์ก็ตาม แต่ในความเห็นของผู้เขียนถือเป็นประโยชน์ของผู้บริโภคที่มิได้ก่อให้เกิดโทษแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้วิคส์/ยาวิคส์เพิ่มเติมได้จากแพทย์หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป
วิคส์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
วิคส์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ
- บรรเทาอาการโรคหวัด คัดจมูก และอาการไอ ช่วยให้หายใจโล่ง/สะดวก
วิคส์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ด้วยส่วนประกอบของตัวยาสำคัญในวิคส์(ดังได้กล่าวแล้วใน “บทนำ”) ล้วนแต่เป็นสารหอมระเหยง่าย ประกอบกับมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ การสูดดมวิคส์จะทำให้รู้สึกเย็น โล่ง ในระบบทางเดินหายใจ ร่วมกับลดอาการคัดจมูก น้ำมูกน้อยลง บรรเทาอาการไอ ส่งผลให้หายใจได้สะดวก จนเป็นที่มาของสรรพคุณ
วิคส์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
วิคส์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาขี้ผึ้งบรรจุขวด ขนาด 50 กรัม
- ยาขี้ผึ้งบรรจุตลับ ขนาด 10 กรัม
วิคส์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
วิคส์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป: ทาวิคส์บริเวณหน้าอก คอ และหลังเพียงบางเบา ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยการระเหยเข้าโพรงจมูก หรือใช้วิคส์ประมาณ 2 ช้อนชาใส่กับน้ำร้อน วางภาชนะที่ใส่วิคส์และน้ำร้อนห่างจากตัวผู้ป่วยพอประมาณ เพื่อผู้ป่วยสูดดมไอระเหยของตัวยานี้เป็นเวลาประมาณ 10–15 นาที
ห้ามนำวิคส์ที่ผสมน้ำร้อนแล้ว ไปต้มซ้ำ ด้วยตัวยาในวิคส์ส่วนมากจะระเหยไปพร้อมการหลอมละลายยาในน้ำร้อนครั้งแรกแล้ว
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีลงมา: ห้ามทายานี้บนผิวหนังเด็กวัยนี้ ด้วยอาจก่อการระคายเคืองต่อผิวหนังเด็กได้
อนึ่ง:
- กรณีรู้สึกร้อนเมื่อสัมผัสยานี้ที่ผิวหนัง อาจทาบริเวณเสื้อผ้า เช่น คอปกเสื้อ
- ห้ามทายานี้กล้บริเวณตา
- ความถี่ของการใช้ยานี้ ให้ดูตามความเหมาะสมโดยพิจารณาอาการของผู้ป่วย และหากอาการดีขึ้นก็สามารถหยุดการใช้ยานี้ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาวิคส์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น มีบาดแผลตามผิวหนัง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาวิคส์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาวิคส์ ก็สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ด้วยยานี้เป็นยาทาภายนอกไม่ใช่ยารับประทาน จึงลดความเสี่ยงของการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด/ร่างกายได้ในระดับหนึ่ง การใช้ยานี้ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม
วิคส์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
วิคส์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ระคายเคืองผิวหนังที่สัมผัสยานี้ อาจทำให้ระคายเคืองตาจากการระเหยสูดดม โดยทั่วไป อาการระคายเคืองสามารถบรรเทาโดยการล้างยานี้ออกจากผิวหนัง ก็จะทำให้อาการข้างเคียงดังกล่าวดีขึ้นแล้ว
มีข้อควรระวังการใช้วิคส์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้วิคส์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามรับประทาน รวมถึงห้ามใช้ป้ายตา
- ห้ามทาผิวหนังเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีลงมา
- ห้ามทาบริเวณหน้าอก/เต้านมของคุณแม่ที่เลี้ยงนมบุตรด้วยนมมารดา
- ห้ามใช้พลาสเตอร์ปิดผิวหนังบริเวณที่ทายานี้ ด้วยจะทำให้รู้สึกแสบร้อนตามมาได้ ควรปล่อยให้ยานี้ระเหยเพื่อจะได้สูดดมได้อย่างสะดวกมากขึ้น
- การทายานี้ก่อนนอน ควรคลายเสื้อผ้าชุดนอนอย่างหลวมๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสูดดม ไอระเหยจากตัวยานี้ได้ง่ายขึ้น
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมวิคส์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
วิคส์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยวิคส์ เป็นยาชนิดทาภายนอก(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม) จึงยังไม่พบเห็น/ไม่มีรายงานการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษาวิคส์อย่างไร?
เก็บยาวิคส์ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
วิคส์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
วิคส์/ยาวิคส์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Vicks VapoRub (วิคส์วาโปรับ) | Procter & Gamble |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Vicks [2017,Feb11]
- https://www.drugs.com/uk/vicks-vaporub-1414.html [2017,Feb11]
- http://www.besthealthmag.ca/best-you/home-remedies/camphor-oil-a-home-remedy-for-coughs-colds-and-muscle-pain/ [2017,Feb11]
- http://www.more.com/lifestyle/exercise-health/12-surprising-uses-vicks-vaporub [2017,Feb11]