วัยทอง วัยต้องผ่าน (ตอนที่ 2)

วัยทอง วัยต้องผ่าน

วัยทอง หรือ วัยหมดระดู (Menopause) เป็นวัยที่ประจำเดือนหมด การนับว่าอยู่ในวัยทองนั้น นับหลังจากที่การมีประจำเดือนขาดไป 12 เดือนติดต่อกัน วัยทองสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงอายุช่วง 40 หรือ 50 ปี

วัยทองเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่แสดงถึงการสิ้นสุดภาวะเจริญพันธุ์ (Fertility)

การหมดประจำเดือนตามธรรมชาติสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง คือ

  • วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause) เป็นช่วงที่ประจำเดือนมาๆ ขาดๆ เป็นเรื่องปกติของวัยก่อนหมดประจำเดือน อาจเกิดขึ้นได้เป็นเวลาหลายปีก่อนการหมดประจำเดือนจริง เพราะรังไข่ค่อยๆ ลดการผลิตเอสโตรเจนลง โดยในช่วง 1-2 ปีสุดท้ายก่อนหมดประจำเดือน เอสโตรเจนจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หญิงหลายคนเกิดอาการวัยทอง
  • วัยหมดประจำเดือน (Menopause) เกิดขึ้นใน 1 ปี หลังจากการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ช่วงนี้รังไข่จะหยุดการผลิตไข่และการผลิตเอสโตรเจน
  • วัยหลังหมดประจำเดือน (Postmenopause) ในช่วงนี้อาการร้อนวูบวาบจะน้อยลง แต่จะมีความเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพที่มีสาเหตุเกี่ยวกับการขาดเอสโตรเจน
  • นอกจากนี้ยังมีการหมดประจำเดือนก่อนวัย (Premature menopause / early menopause) ซี่งอาจเป็นเพราะ รังไข่เสื่อมหรือหยุดทำงานก่อนกำหนด (Premature ovarian failure) เพราะโดยปกติรังไข่จะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เมื่อรังไข่หยุดการผลิตไข่ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในฮอร์โมน 2 ตัวนี้ หากเกิดในช่วงอายุก่อน 40 ปี จะเรียกว่า รังไข่เสื่อมหรือหยุดทำงานก่อนกำหนด
  • การทำให้หมดประจำเดือน (Induced menopause) ด้วยการตัดมดลูก (Hysterectomy) เช่น เป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Uterine cancer) หรือเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

การตัดมดลูกแต่ไม่ได้ตัดรังไข่ (Partial hysterectomy) จะไม่ใช่สาเหตุของการหมดประจำเดือนในทันที แม้ว่าจะไม่มีประจำเดือน แต่รังไข่ก็ยังผลิตไข่และผลิตเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน

แต่การตัดทั้งมดลูกและรังไข่ (Total hysterectomy and Bilateral oophorectomy) จะเป็นสาเหตุให้ประจำเดือนหมดทันทีโดยไม่มีช่วงเปลี่ยนถ่าย (Transitional phase) มักทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบและอาการอื่นที่อาจรุนแรง เพราะฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงในทันทีทันใดไม่ได้ใช้เวลาหลายปี

การให้เคมีบำบัดและรังสีบำบัด (Chemotherapy and radiation therapy) – การรักษาโรคมะเร็งสามารถทำให้เกิดอาการวัยทองได้ชั่วคราว เช่น ร้อนวูบวาบระหว่างหรือภายหลังการรักษา แต่ไม่ได้เป็นถาวร ดังนั้นจึงยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้

แหล่งข้อมูล

  1. Menopause. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/menopause/basics/definition/con-20019726 [2015, August 18].
  2. Menopause Basics. http://www.webmd.com/menopause/guide/menopause-basics [2015, August 19].