วัยทอง วัยต้องผ่าน (ตอนที่ 1)

วัยทอง วัยต้องผ่าน

รศ.พญ.สุชาดา อินทวิวัฒน์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง การหมดประจำเดือนหรือภาวะวัยทองว่า เป็นภาวะที่ไม่มีประจำเดือนอีก พบในผู้หญิงช่วงอายุ 45 - 55 ปี

เนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน จึงทำให้มีการขาดฮอร์โมนเพศหญิงที่ชื่อ “เอสโตรเจน” ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น

ร้อนวูบวาบตามร่างกาย มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เร็ว เครียดง่าย หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุ นอนไม่ค่อยหลับ ผิวหนังจะบางลง แห้งและคัน เส้นผมหลุดร่วงได้ ช่องคลอดขาดความชุ่มชื้น น้ำหล่อลื่นน้อยลง เกิดความเจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์ ปัสสาวะบ่อย กลั้นไม่ได้ กระดูกบางและพรุน หากหกล้มกระดูกจะหักได้ง่าย

รศ.พญ.สุชาดา กล่าวแนะนำเรื่อง การดูแลตนเองและปรับเปลี่ยนตนเองในวัยหมดประจำเดือน ว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องอาหารการกิน เช่น งดหรือเลิกอาหารรสจัด รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งจะช่วยลดอาการร้อนวูบวาบได้ ส่วนการออกกำลังกายจะช่วยลดอาการนอนไม่หลับ ทำให้อารมณ์ดีขึ้น อีกทั้งทำให้กระดูกและสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น

โดยวัยนี้อารมณ์จะขึ้นๆ ลงๆ ควรควบคุมอารมณ์ให้ดี ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ปลา ผัก และผลไม้ เพื่อปรับร่างกายฮอร์โมนให้คงที่ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และควรเพิ่มเอสโตรเจนจากธรรมชาติด้วยอาหารจำพวกถั่วเหลือง หรือพืชผักใบเขียวเพื่อช่วยลดอาการหงุดหงิด และอารมณ์แปรปรวน

สำหรับการรักษา รศ.พญ.สุชาดา กล่าวว่า ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อยก็จะหายไปเองตามธรรมชาติ ถ้ามีอาการผิดปกติบางอย่าง ให้รักษาตามอาการ เช่น ถ้าหงุดหงิดนอนไม่หลับ ให้ยานอนหลับ ถ้าปวดข้อ หรือปวดศีรษะ ให้ยาแก้ปวด

แต่ถ้าอาการมากขึ้นโดยเฉพาะอาการร้อนวูบวาบ มีเหงื่อออกมากควรได้รับฮอร์โมนวัยทองทดแทนเพื่อลดอาการไม่สบายต่าง ๆ

รศ.พญ.สุชาดา กล่าวอีกว่า อาการของสตรีวัยหมดประจำเดือนไม่ใช่อาการร้ายแรง ไม่ควรวิตกมากจนเกินไป ทำจิตใจให้เบิกบานควบคู่ไปกับการออกกำลังกายก็จะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นได้

รศ.พญ.สุชาดา แนะนำในตอนท้ายว่า สิ่งที่ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนควรหมั่นสังเกตก็คือ หากมีเลือดออกจากช่องคลอดกระปริบกระปรอย หรือออกนานกว่าปกติ หรือประจำเดือนกลับมาใหม่หลังจาก 6 เดือนไปแล้ว ก็ควรไปพบแพทย์

แหล่งข้อมูล

  1. http://www.betterhealth.vic.gov.au/bhcv2/bhcarticles.nsf/pages/Steroids [2015, August 18].