วัคซีนโปลิโอ(Polio vaccine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เชื้อไวรัสโปลิโอ(Poliovirus) ที่ก่อโรคโปลิโอ(Poliomyelitis หรือนิยมเรียกทั่วไปว่า Polio/โรคโปลิโอ) เป็นเชื้อที่อาศัยอยู่ในลำไส้และถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย การติดเชื้อเกิดในมนุษย์เท่านั้น โดยจะติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสโปลิโอ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ และอาจมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยที่ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น ไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดต้นคอ แต่สำหรับอาการอื่นๆที่รุนแรงแต่พบได้น้อย เช่น คอแข็งจากภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรืออาการอัมพาตของแขนขาแบบเฉียบพลัน(Acute Flaccid Paralysis, AFP) ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลีบ และอาจเกิดอัมพาตของระบบหายใจจนทำให้เสียชีวิตได้ ฉะนั้นหากพบว่า มีเด็กป่วยเป็นอัมพาตจากเชื้อโปลิโอ 1 ราย แสดงว่าอาจมีเด็กอีกประมาณ 100-200 รายที่ได้รับเชื้อโปลิโอที่สามารถแพร่เชื้อโปลิโอได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังไม่ได้รับ “วัคซีนโปลิโอ หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ หรือวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอ (Polio vaccine หรือ Poliomyelitis vaccine)” หรือยังไม่มีภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่อโรคโปลิโอ ซึ่งเด็กเหล่านั้นอาจขับถ่ายเชื้อโรคนี้ออกมากับอุจจาระได้นานหลายสัปดาห์

นอกจากการได้รับวัคซีนโปลิโอแล้ว ยังมีวิธีอื่นที่ช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโปลิโอได้ เช่น การขับถ่ายลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโปลิโอแพร่กระจายสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนการรับประทานและหลังจากเข้าห้องน้ำ/ห้องส้วม ก็ช่วยได้เช่นกัน

โปลิโอเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความพิการและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในอดีต จนกระทั่งองค์การอนามัยโลกได้ประกาศนโยบายที่จะกวาดล้างโรคโปลิโอให้หมดทั่วโลก จึงทำให้ปัจจุบัน โรคโปลิโอลดลงอย่างมากจนเกือบหมดไป

ในประเทศไทย ได้มีการระบาดของโรคโปลิโอครั้งแรกในปี พ.ศ. 2495 รัฐจึงมีการกำหนดให้หยอดวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทานแก่เด็กครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ซึ่งการครอบคลุมของการได้รับวัคซีนมากกว่าร้อยละ 90(90%)ของเด็กแรกเกิด และเน้นการเฝ้าระวังโรคนี้รวมถึงกลุ่มอาการอัมพาตอ่อนปวกเปียกแบบเฉียบพลันในเด็กเล็ก โดยการเก็บอุจจาระส่งตรวจหาเชื้อโปลิโอ เพื่อยืนยันให้ทราบว่าเด็กติดเชื้อไวรัสโปลิโอหรือไม่ถ้าเด็กมีอาการอัมพาตดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้โลกก้าวเข้าสู่ภาวะที่เชื้อไวรัสโปลิโอกำลังจะหมดไป และคาดการณ์ได้ว่า วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีด (IPV, Inactivated polio vaccine ) จะเป็นวัคซีนหลักในอนาคต เนื่องจาก วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV, Oral polio vaccine หรือ Oral polio virus vaccine) สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคโปลิโอจากเชื้อไวรัสในวัคซีนโปลิโอชนิดนี้ได้

วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอมีกี่ชนิด?

วัคซีนโปลิโอ

วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอในปัจจุบันมี 2 ชนิด/แบบ/รูปแบบ/ประเภท คือ

1. วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดรับประทาน (Oral poliovirus vaccine หรือ Oral polio vaccine, OPV): เป็นวัคซีนที่เตรียมขึ้นจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่มีชีวิต โดยเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสโปลิโอในเซลล์เพาะเชื้อไวรัสนี้ จากนั้นนำมาผ่านกระบวนการที่ทำให้เชื้อฯอ่อนฤทธิ์ลง เพื่อให้ไม่ก่อเกิดโรคในผู้รับวัคซีนนี้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ และเนื่องจากเป็นวัคซีนฯที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยการเลียนแบบการติดเชื้อโปลิโอทางธรรมชาติ คือ บริหารวัคซีน/ให้วัคซีนด้วยวิธีรับประทาน จึงทำให้ผู้ได้รับวัคซีน มีภูมิคุ้มกันทั้งในลำไส้และในเลือด จึงเป็นวัคซีนหลักในการลดอุบัติการณ์โรคโปลิโอ

สำหรับข้อเสียของวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดรับประทาน คือ การกลายพันธุ์และก่อโรคของเชื้อไวรัสโปลิโอที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ๋ ดังนั้นประเด็นเรื่องการกลายพันธุ์และเป็นตัวก่อโรคนี้เอง จึงยังเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องพิจารณาทบทวนมาตรการให้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดรับประทาน เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อนี้

2. วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีด (lnactivated polio virus vaccine หรือ Inactivated polio vaccine, IPV): เป็นวัคซีนที่เตรียมขึ้นจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่ตายแล้ว เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดฉีด จึงทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อเชื้อไวรัสโปลิโอสูงขึ้นเฉพาะในกระเเสเลือด ปัจจุบันวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีด มีทั้งอยู่ในรูปวัคซีนชนิดเดี่ยว และวัคซีนชนิดรวมกับวัคซีนอื่น เช่น รวมกับวัคซีนฮิบ เป็นต้น

ปัจจุบัน สำหรับประเทศที่สามารถจัดการกับการติดเชื้อไวรัสโปลิโอให้หมดไปได้ ได้แล้ว ประเทศนั้นจะใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีด IPV ทดแทนวัคซีนชนิดรับประทาน OPV เนื่องจากลดโอกาสเกิดภาวะติดเชื้อไวรัสโปลิโอจากตัววัคซีนฯเอง เพราะวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีด IPVถูกเตรียมขึ้นจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่ตายแล้ว แต่วัคซีนฯชนิดรับประทาน OPV เตรียมจากเชื้อฯที่มีชีวิต

ผลลัพธ์ของการได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดใดก็ตาม จะเสริมสร้างให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ที่ได้รับ หรือเรียกว่า Active immunization วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ ซึ่งถึงแม้ว่าจะป้องกันโรคนี้ไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ทำให้ความรุนแรงของโรคนี้ลดลง

มีข้อบ่งใช้วัคซีนวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโออย่างไร?

ข้อบ่งใช้ของวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอคือ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็ก (Primary immunization) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุ 2 – 4 เดือน ปัจจุบัน ในประเทศไทย วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดรับประทาน OPV ได้ถูกบรรจุอยู่ในวัคซีนจำเป็นที่ต้องให้กับเด็กทุกคน ส่วนวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีดIPV ยังคงเป็นวัคซีนเสริมหรือทดแทน และคาดว่าในอนาคตจะได้รับบรรจุให้เป็นวัคซีนจำเป็นที่ต้องให้กับเด็กทุกคนตามแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติ เนื่องจาก เหตุผลด้านความปลอดภัยที่ลดความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อโปลิโอจากตัววัคซีนฯชนิดOPV ดังได้กล่าวใน หัวข้อ “บทนำ และหัวข้อ ชนิดของวัคซีน”

ทั้งนี้ กลไกการออกฤทธิ์ของวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดรับประทาน OPV คือ เมื่อรับประทานวัคซีนที่ประกอบด้วยเชื้อไวรัสโปลิโอชนิดเชื้อเป็นที่ถูกทำให้อ่อนกำลังเข้าไปแล้ว เชื้อไวรัสโปลิโอจะเพิ่มจำนวนในลำไส้เล็ก ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อเชื้อไวรัสโปลิโอแก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนฯ หรือที่เรียกว่า Active immunization ซึ่งทำให้ความรุนแรงของโรคภายหลังการติดเชื้อไวรัสโปลิโอของเด็กลดลง

สำหรับกลไลการออกฤทธิ์ของวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีด IPV คือ ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน Active immunization ต่อเชื้อไวรัสโปลิโอแก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้เช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการที่ลำไส้ ซึ่งวัคซีนชนิดนี้สามารถให้ได้ทั้งกับเด็กที่แข็งแรงดี และกับเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อีกทั้งวัคซีน IPV ยังสามารถใช้ในผู้ใหญ่ ที่มีความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ และมีโอกาสที่จะสัมผัสเชื้อโปลิโอได้ เช่น นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด, แพทย์ หรือ ผู้ทำงานในห้องปฏิบัติการที่มีโอกาสรับเชื้อไวรัสโปลิโอ

มีวิธีการบริหารวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโออย่างไร?

ปัจจุบันประเทศไทย มีวัคซีนโปลิโอใช้ทั้ง 2 แบบ อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่อยู่ในตารางสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของสาธารณสุขไทยในขณะนี้ ยังคงเป็น OPV ส่วน IPV มีจำหน่ายในรูปวัคซีนรวมกับวัคซีนอื่น ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือก

วิธีการบริหาร/การใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอ แบ่งตามชนิดของวัคซีน ดังนี้

1. วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดรับประทาน (Oral Poliovirus Vaccine, OPV): วัคซีน OPV มีประสิทธิภาพสูงในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโปลิโอทั้งในเยื่อบุลำไส้ และในกระแสเลือด เช่นเดียวกับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อโปลิโอตามธรรมชาติ ที่สำคัญคือ การสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ ที่เยื่อบุลำคอ และที่เยื่อบุลำไส้ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโปลิโอในธรรมชาติลุกล้ำเข้าสู่ร่างกายได้ เชื้อไวรัสในวัคซีนฯที่เพิ่มจำนวนในลำคอและในลำไส้จะขัดขวางเชื้อโปลิโอในธรรมชาติที่อาจได้รับเข้าไปไม่ให้ก่อโรคได้

วิธีการบริหารวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดรับประทาน OPV มีวิธีการบริหาร/การใช้วัคซีน ดังนี้ คือ กรณีที่ขวดเป็นหลอดพลาสติกขนาดบรรจุครั้งละหลายโด๊ส (Multiple doses, ใช้ได้หลายครั้งว) ควรต้องระวังมิให้ปากขวดสัมผัสกับปากเด็ก เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนเชื้อจากเด็กคนหนึ่งไปสู่เด็กอีกคนหนึ่งได้ ในกรณีที่วัคซีนเป็นหลอดแก้ว (Ampule) ขนาดบรรจุ 1 โด๊ส (Single dose, ใช้ครั้งเดียว) เมื่อหักหลอดแก้วแล้ว ควรเทลงในช้อนแล้วป้อนให้แก่เด็ก ไม่ควรหยดจากหลอดแก้วลงปากเด็กโดยตรง เพราะหลอดแก้วอาจจะบาดปากเด็กได้

2. วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีด (lnactivated Poliovirus Vaccine, IPV): วัคซีน IPV มีประสิทธิภาพสูงในการสร้างภูมิคุ้มกันในเลือด ซึ่งทำให้สามารถป้องกันการเกิดอัมพาตจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอได้ดี แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิด IPV จะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ในบริเวณลำคอและในลำไส้น้อย ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีน IPV ครบ และมีระดับภูมิคุ้มกันในเลือดสูงจะป้องกันตนเองไม่ให้เกิดมีอาการอัมพาตได้หลังได้รับเชื้อไวรัสโปลิโอ แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโปลิโอจากในลำไส้ได้ เชื้อโปลิโอในลำไส้ จะยังสามารถผ่านเข้าไปเพิ่มจำนวนในลำคอและในลำไส้ได้ และจะถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระ และสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้

วิธีการบริหารวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีด IPV บริหารโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular injection, IM) บริเวณกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าค่อนไปด้านนอก หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน ปัจจุบัน เพื่อสะดวกในการใช้ วัคซีน IPV ที่มีจำหน่ายส่วนใหญ่ จึงมักเป็นวัคซีนที่อยู่รวมในเข็มเดียวกับ วัคซีนคอตีบ- วัคซีนบาดทะยัก-วัคซีนไอกรน หรือที่เรียกว่า DTP vaccine ซึ่งจะใช้ให้ไปพร้อมๆกันในการฉีดครั้งเดียว

มีข้อห้ามใช้ของวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโออย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ของวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอ เช่น

1.ห้ามใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอซ้ำอีก กรณีที่เคยได้รับวัคซีนชนิดดังกล่าวแล้วเกิดอาการแพ้ยา/แพ้วัคซีนนี้รุนแรง ที่เรียกว่า “อะนาไฟแลกซิส (Anaphylaxis)” โดยอาการ คือ มี ผื่นคันตามร่างกาย อาการหายใจติดขัด/หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก บางกรณีอาจมีความดันโลหิตตก/ความดันโลหิตต่ำ เรียกอาการที่มีภาวะความดันโลหิตตกร่วมด้วยนี้ว่า “อะนาไฟแลกซิส ช็อก (Anaphylacitc shock)” หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ควรได้รับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน(กรณีเกิดอาการที่บ้าน ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน) และหลีกเลี่ยงการได้รับวัคซีนชนิดดังกล่าวในครั้งถัดไป หากมีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนนี้ ต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้แล้วเท่านั้น

2. ห้ามใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอ กรณีผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาปฏิชีวนะ โดยมีประวัติแพ้รุนแรงที่เรียกว่า อะนาไฟแลกซิส ต่อยาปฏิชีวนะ ดังต่อไปนี้ เช่น สเตร็ปโตมัยซิน (Streptomycin), นีโอมัยซิน (Neomycin), โพลีมิกซิน-บี (Polymyxin-B) ซึ่งยาดังกล่าวเป็นหนึ่งในส่วนผสมของวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอบางชนิด

3. ห้ามใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดรับประทาน OPV แก่ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง (Immune deficiency) เช่น ผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ยาเคมีบำบัด, ยากดภูมิคุ้มกันร่างกาย (Immunosuppressant drug) ซึ่งกรณีนี้แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีด IPV แทน ยกเว้นผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดรับประทาน OPV ได้ตามปกติ ไม่ว่าจะมีอาการของโรคเอดส์หรือไม่ก็ตาม เพราะในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะได้ประสิทธิภาพจากวัคซีน OPV มากกว่า IPV และไม่พบว่าทำให้เกิดผลข้างเคียงมากขึ้น

4. ห้ามใช้วัคซีนวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดรับประทาน OPV แก่เด็กที่ผู้ใกล้ชิดในบ้านที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน กรณีนี้ ให้ใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีด IPV แทน เพราะ เป็นวัคซีนที่เตรียมขึ้นจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่ตายแล้ว จึงสามารถช่วยลดโอกาสเกิดการติดเชื้อไวรัสโปลิโอของคนในครอบครัวที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากเชื้อไวรัสฯที่อยู่ในวัคซีนเชื้อเป็น OPVที่จะปนออกมาในอุจจาระของผู้ได้รับวัคซีนOPVลงได้

มีข้อควรระวังในการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโออย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอ เช่น

1.การบริหาร/ใช้วัคซีนนี้ที่ผลิตจากไวรัสชนิดเชื้อมีชีวิตอ่อนฤทธิ์/เชื้อเป็น หรือ OPV สามารถใช้/ให้วัคซีนพร้อมกันได้กับวัคซีนป้องกันโรคอื่นหลายโรค ในวันเดียวกัน ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีสำหรับวัคซีนทุกโรค แต่ถ้าไม่ได้ให้พร้อมกันในวันเดียวกัน ควรเว้นช่วงห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน มิฉะนั้นวัคซีนOPVที่ได้รับภายหลังการได้รับวัคซีนตัวอื่นๆ(ในเวลาห่างกันน้อยกว่า 1 เดือน) อาจกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคโปลิโอได้ไม่ดี ส่วนวัคซีนโปลิโอชนิดเชื้อตาย IPV สามารถให้พร้อมหรือหลังจากให้วัคซีนชนิดอื่นๆกี่วันก็ได้

2. เด็กที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ห้ามให้วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน(OPV) เพราะเชื้อฯจากวัคซีนที่เข้าไปอยู่ในลำไส้ อาจแพร่ไปยังผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องที่อยู่ในบ้านเดียวกันจนอาจก่อการติดโรคโปลิโอกับผู้ที่อยู่บ้านเดียวกันนั้นได้

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอมีอะไรบ้าง?

อาการไม่พึงประสงค์/ปฏิกิริยา/ผลข้างเคียง จากการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอที่อาจพบได้ภายหลังเด็กได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอทั้ง 2 รูปแบบ เช่น เด็กอาจร้องงอแง ไม่สบายตัว มีไข้ที่อุณหภูมิสูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส (Celsius) เบื่ออาหาร ท้องเสีย อาเจียน ส่วนหากได้รับวัคซีนในรูปแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ(IM) อาจพบอาการเพิ่มเติม ณ บริเวณที่ฉีดวัคซีนฯ เช่น เกิดอาการบวม แดง เจ็บ บริเวณที่ฉีด

ทังนี้อาจพบปฏิกิริยา(ผลข้างเคียง)รุนแรงที่เกิดขึ้นภายหลังได้รับวัคซีนนี้ที่เรียกว่า อะนาไฟแลกซิส (Anaphylaxis) โดยอาการ คือ ผื่นคันตามร่างกาย อาการหายใจติดขัด/หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก บางกรณีอาจมีความดันโลหิตตกร่วมด้วยที่เรียกว่า อะนาไฟแลกซิส ช็อก (Anaphylacitc shock) ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ควรได้รับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน และควรต้องหลีกเลี่ยงการได้รับวัคซีนชนิดดังกล่าวในครั้งถัดไป แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนนี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้แล้วเท่านั้น

มีตารางเวลาในการรับวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโออย่างไร?

ตารางเวลาในการรับวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอ มีดังนี้ เช่น

ก. บุคคลที่ควรได้รับวัคซีนและอายุที่ควรรับวัคซีน: วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอนี้ ควรพิจารณาเริ่มให้ในเด็กแรกเกิดที่แข็งแรงปกติเมื่อมีอายุ 2 เดือน โดยที่เด็กปกติทุกคนควรจะได้รับวัคซีนโปลิโอ ชนิดรับประทานได้ (OPV) หรือ ชนิดฉีด (IPV) ก็ได้ แต่กรณีเด็กที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรืออยู่ในบ้านเดียวกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ จำเป็นต้องใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีด (IPV) เท่านั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อโปลิโอจากตัววัคซีนฯของเด็กที่ได้รับวัคซีน หรือของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติที่อยู่บ้านเดียวกับเด็กที่ได้รับวัคซีนนี้

ข. ตารางเวลาในการบริหารงวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอ:

1. วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดรับประทาน(Oral Poliovirus Vaccine, OPV): วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอ OPV บริหาร/ใช้วัคซีนฯโดยการรับประทาน (หยอดทางปาก) ขนาดโด๊ส(Dose/ขนาดวัคซีนในแต่ละครั้ง) 0.1 - 0.5 มิลลิลิตร (2 - 3 หยด แล้วแต่บริษัทผู้ผลิต) จำนวนครั้งที่เด็กควรได้รับวัคซีนฯ คือ 5 ครั้งตามอายุ ดังนี้ ในเด็กอายุ 2, 4, 6 เดือน และกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีก 2 ครั้ง ณ อายุที่ 18 เดือน และในช่วงอายุ 4 - 6 ปี อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ขณะที่เด็กอายุ 4 เดือนที่ปกติจะได้รับวัคซีนชนิดกินอยู่แล้ว เด็กควรได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีด เพิ่มให้แก่เด็กอีก 1 เข็ม โดยยังคงรับวัคซีน OPV ตามตารางเวลาปกติที่ควรได้รับ

การให้วัคซีน OPV ในกรณีที่ขวดเป็นหลอดพลาสติกขนาดบรรจุครั้งละหลายโด๊ส (Multiple doses) ควรต้องระวังมิให้ปากขวดสัมผัสกับปากเด็ก เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนเชื้อจากเด็กคนหนึ่งไปสู่เด็กอีกคนหนึ่งได้ ในกรณีที่วัคซีนเป็นหลอดแก้ว (Ampule) ขนาดบรรจุ 1 โด๊ส (Single dose) เมื่อหักหลอดแก้วแล้วควรเทลงในช้อนแล้วป้อนให้แก่เด็ก ไม่ควรหยดจากหลอดแก้วลงปากเด็กโดยตรง เพราะหลอดแก้วอาจจะบาดปากเด็กได้

เนื่องจาก ตารางการได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอ และ วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าทั้ง 2 ชนิด (RotarixTM, RotaTeqTM) จะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้นการให้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอ OPV สามารถให้พร้อมกับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าได้ หรือหากให้ในเวลาห่างกัน สามารถห่างกันเป็นเวลาเท่าใดก็ได้ โดยพบว่าการให้วัคซีนโรต้าและวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน OPV พร้อมกัน อาจทำให้ระดับของภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อโรต้าไวรัสที่เกิดขึ้นต่ำกว่าการให้วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทานแยกจากกัน แต่อย่างไรก็ตามพบว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคต่อไวรัสโรต้าและต่อไวรัสโปลิโอไม่ลดลง

2. วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีด (lnactivated Poliovirus Vaccine, IPV): วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีด (IPV) มีประสิทธิภาพสูงในการสร้างภูมิคุ้มกันในเลือด ซึ่งทำให้สามารถป้องกันการเกิดอัมพาตจากเชื้อโปลิโอได้ดี แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีน IPV จะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ในลำคอและในลำไส้น้อย ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีน IPV ครบ และมีระดับภูมิคุ้มกันในเลือดสูงจะป้องกันตนเองไม่ให้เกิดมีอาการอัมพาตได้หลังได้รับเชื้อไวรัสโปลิโอ แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อในลำไส้ได้ เชื้อโปลิโอจะยังสามารถผ่านเข้าไปเพิ่มจำนวนในลำคอและลำไส้ และขับถ่ายออกมากับอุจจาระ และแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้

วิธีการบริหารวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีด IPV ให้โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular injection, IM) การฉีดวัคซีนจะฉีด 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, ช่วงอายุ 6-18 เดือน และกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกครั้ง ณ ช่วงอายุ 4 - 6 ปี หรือกระตุ้นอย่างน้อย 6 เดือนภายหลังเข็มที่ 3

เนื่องจากวัคซีน IPV ที่มีจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นวัคซีนที่อยู่รวมกับ วัคซีนคอตีบ-วัคซีนบาดทะยัก-วัคซีนไอกรน (DTP vaccine) การบริหารวัคซีนโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อจึงฉีดไปพร้อมกันในเข็มเดียว คือที่บริเวณกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าค่อนไปด้านนอก หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน

กรณีที่เด็กได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน OPV เมื่อเด็กมีอายุ 4 เดือนที่ปกติจะได้รับวัคซีนชนิดรับประทานอยู่แล้ว ควรบริหารวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอชนิดฉีดให้แก่เด็กเพิ่มเติมอีก 1 เข็ม โดยยังคงบริหารวัคซีน OPVแก่เด็กตามตารางเวลาปกติ

การใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอในหญิงตั้งครรภ์ และในหญิงให้นมบุตร เนื่องจาก ไม่มีข้อบ่งใช้ของวัคซีนดังกล่าวในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ถึงแม้มีการศึกษาแล้วว่าวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอไม่มีอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์ก็ตาม

กรณีผู้ป่วยมารับวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอไม่ตรงตามตารางเวลาที่กำหนด หรือรับวัคซีนไม่ครบควรทำอย่างไร?

กรณีผู้ป่วยได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอครั้งที่ 1 แล้ว แต่ไม่สามารถรับวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 ได้ตรงตามตารางเวลาที่กำหนด การได้รับวัคซีนครั้งที่ 2 หรือ 3 มีวิธีปฏิบัติ คือ เมื่อนึกขึ้นได้ว่าต้องได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอครั้งที่ 2 หรือ 3 ให้ผู้ป่วยมารับวัคซีนโปลิโอครั้งถัดมาได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเพิ่มเติมจากตารางที่ควรจะได้รับวัคซีนแต่อย่างไร ซึ่งวิธีการปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น ให้ถือปฏิบัติทั้งกรณีผู้ป่วยได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอทั้งชนิดฉีด IPVและชนิดรับประทาน OPV

มีวิธีการเก็บรักษาวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโออย่างไร?

มีวิธีการเก็บรักษาวัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอ คือ

วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันมีลักษณะ 2 รูปแบบ คือ

  • วัคซีนรูปแบบฉีด(IPV) แนะนำให้เก็บในตู้เย็น ที่อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น และ
  • วัคซีนรูปแบบเป็นยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน (Oral suspension) หรือ OPV มีวิธีการเก็บรักษา คือ เก็บในตู้เย็น อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส ซึ่งจะหมดอายุภายใน 90 วัน, หากเก็บ ณ อุณหภูมิ -20(ลบยี่สิบ) ถึง 0 องศาเซลเซียส จะหมดอายุภายใน 1 ปี และหากเก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียสจะหมดอายุภายใน 2 ปี โดยปกติวัคซีนชนิดรับประทานควรมีชมพูอ่อน เมื่อยังไม่ได้เปิดใช้ ให้เก็บรักษาไว้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า -15 องศาเซลเซียส แล้วถ้าเปิดใช้แล้ว ให้ใช้ภายใน 8 ชั่วโมงหลังเปิดขวดวัคซีน โดยเก็บไว้ในระบบลูกโซ่ความเย็น คือ เก็บในอุณหภูมิตู้เย็นตลอดเวลา ตั้งแต่ช่วงการขนส่งจากโรง งานผลิต ถึงบริษัทผู้ผลิต และถึงโรงพยาบาลก่อนทำการฉีดให้แก่ผู้ป่วย

วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอที่มีจำหน่ายในประเทศไทยและบริษัทผู้ผลิต

วัคซีนป้องกันไวรัสโปลิโอที่มีจำหน่ายในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท(ดังกล่าวแล้วใน หัวข้อ “ชนิด/ประเภทวัคซีน”) ดังข้อมูลในตารางด้านล่าง ดังนี้

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
  2. TIMS (Thailand). MIMS. 137th ed. Bangkok: UBM Medica; 2014
  3. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, เกษวดี ลาภพระ, จุฑารัตน์ เมฆมัลลิกา, ฐิติอร นาคบุญนำ และอัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2556. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา; 2556
  4. โอฬาร พรหมาลิขิต, อัจฉรา ตั้งสภาพรพงษ์ และอุษา ทิสยากร. วัคซีน 2015. กรุงเทพฯ: นพชัยการพิมพ์; 2558
  5. WHO. Recommendations for Interrupted or Delayed Routine Immunization (Updated 21 May 2016). Available from http://www.who.int/immunization/policy/Immunization_routine_table3.pdf. [2016,Aug27]