วัคซีนพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี (Rabies) โดยเชื้อไวรัสนี้จะปรากฏอยู่ในน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรค เชื้อไวรัสเรบีที่มีอยู่ในน้ำลายสัตว์จะติดต่อสู่คนได้ทางบาดแผลที่ถูกกัด หรือทางรอยถลอกของแผลที่ถูกน้ำลายสัตว์ติดเชื้อนี้ หรือเข้าทางเยื่อตา ช่องปาก จมูก ซึ่งเชื้อไวรัสเรบีพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดเช่น สุนัข แมว ค้างคาว กระรอก แรคคูน สกั้ง สุนัขจิ้งจอก โคยอท ซึ่งสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคจะต่างกันไปในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยพบการติดเชื้อไวรัสเรบีในสุนัขมากที่สุด รองลงมาเป็นแมว ดังนั้นในประเทศไทยจึงอาจเรียกโรคติดเชื้อไวรัสเรบีอีกชื่อหนึ่งว่า โรคพิษสุนัขบ้า

เมื่อคนได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จะมีระยะฟักตัวของโรคก่อนที่จะแสดงอาการที่แตกต่างกันโดย มีช่วงได้ตั้งแต่ 5 วันถึง 5 ปี (พบนานที่สุด 8 ปี) แต่ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการทางระบบประสาทที่ดำเนินอย่างรวดเร็วเริ่มจากอาการไข้ กระสับกระส่าย กลืนไม่ได้/กลืนลำบาก ไวต่อสิ่งกระตุ้น(เช่น เห็นอะไรก็ตกใจ ตัวสั่น) ชัก หมดสติ และเป็นอัมพาต ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดที่ติดเชื้อไวรัสนี้จะเสีย ชีวิต

สถานการณ์การติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงเรื่อยมาเนื่องจากการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งก่อนและหลังสัมผัสโรค รวมทั้งการให้ยาอิมมูโนโกลบุลิน(Immunoglobulin) เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งมีประสิทธิภาพสูง และการรักษาพยาบาลที่ป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆภายหลังเกิดเหตุบาดเจ็บจากสุนัขกัดเช่น การรักษาความสะอาดของแผลและการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดโอกาสเกิดแผลติดเชื้อแบคทีเรีย และการให้วัคซีนป้องกันบาดทะยักเพื่อการป้องกันการติดเชื้อบาดทะยัก

มีข้อบ่งใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างไร?

วัคซีนพิษสุนัขบ้า

ข้อบ่งใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าคือ ใช้สำหรับป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในเด็กและในผู้ใหญ่ ทั้งแบบป้องกันล่วงหน้าก่อนถูกสัตว์กัด (Pre-exposure vaccination) หรือใช้หลังสัมผัสโรค/เมื่อถูกสัตว์กัด/สัตว์เลียแผล (Post-exposure vaccination) ดังนี้

1. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า (Pre-exposure vaccination) มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าดังนี้

  • บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อพิษสุนัขบ้าเช่น บุคลากรในห้องทดลองและผู้ทำการค้นคว้าวิจัยหรือทำงานด้านการผลิตเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า จึงแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อนี้ควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันล่วงหน้า เมื่อทำการฉีดวัคซีนตามตารางที่กำหนดแล้ว ให้ทำการตรวจสอบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิคุ้มกันฯโรคนี้ทุกๆ 6 เดือนเพื่อคงระดับภูมิคุ้มกันฯให้อยู่ในช่วงการป้องกันโรคนี้ โดยระดับภูมิคุ้มกันฯในเลือดที่สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้คือ 0.5 ยูนิต/มิลลิลิตร กรณีพบว่าระดับภูมิคุ้มกันฯต่ำกว่าเกณฑ์ควรรับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้ากระตุ้นภูมิคุ้มกันฯซ้ำ 1 เข็ม
  • บุคคลที่มีความเสี่ยงแต่ต่ำกว่ากลุ่มแรกได้แก่ สัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ ผู้ดูแลสัตว์/สัมผัสสัตว์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ บุรุษไปรษณีย์ ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเช่น เดียวกันและควรตรวสอบภูมิคุ้มกันฯทุก 1 ปี
  • บุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าทั้ง 2 กลุ่มได้แก่ นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้และเด็กที่อาศัยอยู่ในเขตโรคนี้ระบาด ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่อาจไม่จำเป็นต้องตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันฯ

ประโยชน์ของการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสนี้ มีประโยชน์หลายประการเช่น ในผู้ที่จำเป็นต้องสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำ การฉีดวัคซีนฯเพื่อป้องกันจะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันโรคฯสูงพอที่ป้องกันการติดเชื้อฯในกรณีที่ไปสัมผัสโรคฯที่อาจไม่รู้ตัว อีกทั้งยังทำให้การรักษาภายหลังสัมผัสโรคฯมีค่าใช้จ่ายลดลงและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น เพราะผู้ป่วยที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน กรณีได้รับบาดเจ็บจากสัตว์สามารถรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ากระตุ้นเพิ่มเติมอีก 1 - 2 ครั้งเท่านั้นและไม่จำเป็นต้องให้ยาอิมมูโนโกลบุลิน แม้การสัมผัสโรคจะรุนแรงคือเกิดบาดแผลที่มีเลือดไหล

2. การฉีดวัคซีนนี้ป้องกันหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า (Post-exposure vaccination) มีจุด ประสงค์เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรคฯ โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามตารางเวลาที่กำหนด (อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ หัวข้อ ตารางการฉีดวัคซีน) ภายหลังการได้รับบาดเจ็บจากสัตว์

วิธีบริหารวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นอย่างไร?

วิธีบริหาร/วิธีฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ปกติแล้วจะแนะนำฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular injection ย่อว่า IM) โดยมีตำแหน่งในการฉีดแนะนำดังนี้ ทารกและเด็กวัยหัดเดิน/เด็กวัยเตาะแตะ แนะนำฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าค่อนไปทางด้านนอก สำหรับเด็กวัยอื่นและผู้ใหญ่แนะนำฉีดวัคซีนข้ากล้ามเนื้อต้นแขน ทั้งนี้ห้ามฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข้ากล้ามเนื้อสะโพกเพราะภูมิคุ้มกันฯที่เกิดขึ้นจะไม่ดีเพราะวัคซีนจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายช้า

อีกทางเลือกหนึ่งคือ การฉีดเข้าในผิวหนัง (Intradermal injection) ตำแหน่งสำหรับฉีดคือ บริเวณต้นแขน ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยการฉีดเข้าผิวหนังได้รับการอนุมัติให้สามารถฉีดได้ในบางประเทศเท่านั้น (ประเทศไทยอนุมัติให้สามารถฉีดได้) เนื่องจากการฉีดเข้าผิว หนังจำเป็นต้องฉีดโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนเทคนิคนี้อย่างชำนาญเท่านั้นเพื่อให้วัคซีนถูกฉีดเข้าในผิวหนัง มิใช่ใต้ผิวหนัง (Subcuteneous ย่อว่า Subcute) โดยการฉีดเข้าผิวหนังที่ถูกต้องกระทำโดยการใช้เข็มและกระบอกฉีดยาปราศจากเชื้อที่ใช้สำหรับฉีดยาอินซูลิน ภายหลังการฉีดเข้าในผิวหนังจะทำให้เกิดตุ่มนูน (Papule) ที่มีผิวลักษณะคล้ายเปลือกส้ม

ซึ่งการฉีดเข้าในผิวหนังมีข้อจำกัดห้ามฉีดในกรณีดังนี้

  • ผู้ที่ได้รับยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ (Corticosteroid) แบบระยะยาว หรือ
  • ได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคอื่นๆเช่น ยา Cyclosporin
  • ใช้ยาต้านมาลาเรียเช่น ยา Chloroquine
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง
  • ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าแต่มารับการรักษาล่าช้า
  • รวมถึงกรณีมีแผลฉกรรจ์บริเวณศีรษะและคอ ไม่ควรรับการฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนังเนื่องจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่อเชื้อพิษสุนัขบ้าอาจลดลง จึงแนะนำ ให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ

มีข้อห้ามใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างไร?

ไม่มีข้อห้ามใช้ของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในการใช้แบบป้องกันล่วงหน้า (Pre-exposure vaccination) หรือแบบหลังสัมผัสโรค (Post-exposure vaccination) อย่างไรก็ตามควรติดตามอาการภายหลังการได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากมีรายงานการเกิดแพ้วัคซีนป้อง กันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดรุนแรงได้ที่เรียกว่า อะนาไฟแลกซิส (Anaphylaxis) โดยมีอาการคือ เกิดผื่นคันตามร่างกาย อาการหายใจติดขัด/หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นควรได้รับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลทันที/รีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน และหลีกเลี่ยงการได้รับวัคซีนชนิดดังกล่าวในครั้งถัดไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ต้องได้รับการพิจารณาสั่งใช้จากแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้แล้วเท่านั้น

มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในผู้ป่วยเด็กและผู้ป่วยผู้ใหญ่เช่น

1. ผู้ที่ได้รับยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ (Corticosteroid) แบบระยะยาว หรือได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันอื่นๆ หรือใช้ยาต้านมาลาเรีย หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฉีดวัค ซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าแต่มารับการรักษาล่าช้า รวมถึงกรณีมีแผลฉกรรจ์/แผลบาดเจ็บรุนแรงบริเวณศีรษะและคอ ไม่ควรรับการฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนังเนื่องจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อเชื้อพิษสุนัขบ้าอาจลดลง จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อเท่านั้น

2. ยาที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายภายหลังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเช่น ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ (Corticosteroid: ยากดภูมิคุ้มกันร่างกาย) ยากดภูมิคุ้มกันชนิดอื่นๆ (Immuosuppressant เช่น Cyclosporin) หรือใช้ยาคลอโรควิน (Chloroquine: ยาต้านมาลาเรีย) ผลลัพธ์ของการใช้วัคซีนนี้ร่วมกับยาที่กล่าวมานั้นคือ อาจมีความล้มเหลวในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Vaccination failure) เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถถูกกระตุ้นได้อย่างเต็มที่ เพราะได้รับผลจากยาที่ใช้อยู่กดภูมิคุ้มกันไว้ ดังนั้นอาจจำเป็นต้องพิจารณาตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อพิษสุนัขบ้า (Antibody) เพื่อให้มั่นใจว่าระดับภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับที่ป้องกันโรคได้ (ระดับภูมิคุ้ม กันที่สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้คือ 0.5 ยูนิต/มิลลิลิตร)

มีอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/ผลไม่พีงประสงค์) ภายหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัข บ้าเช่น อาจเกิดอาการเฉพาะที่ที่ไม่รุนแรงเช่น

  • ผลเฉพาะที่: เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด บวม แดง คัน และอาจเป็นตุ่มนูนบริเวณที่ฉีด
  • ผล/ปฏิกิริยาทั่วๆไป: เช่น มีไข้ หนาวสั่น รู้สึกไม่สบายตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวด ข้อ ปวดกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง กรณีรู้สึกปวดบริเวณที่ฉีด มีไข้ไม่สบายตัว สามารถรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol: ยาแก้ปวด, ยาลดไข้) เพื่อบรรเทาอาการได้
  • นอกจากนี้ยังพบรายงานการเกิดปฏิกิริยาอื่นๆ: เช่น ลมพิษ ขึ้นผื่น หรือภาวะแพ้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดรุนแรงที่เรียกว่า อะนาไฟแลกซิส (Anaphylaxis) เกิดขึ้นได้

ตารางเวลาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและการฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

ขนาดและตารางเวลาในการฉีดวัคซีนสำหรับป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในเด็กและในผู้ใหญ่จะเหมือนกัน ดังนั้นจึงสามารถปฏิบัติตามตารางเวลาในการฉีดวัคซีนได้ทั้งผู้ป่วยเด็กและผู้ป่วยผู้ใหญ่ โดยวิธีการฉีดวัคซีนจะแตกต่างกันตามจุดประสงค์ในการฉีดดังนี้

1. การฉีดแบบป้องกันล่วงหน้า (Pre-exposure immunization) ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่: แนะ นำให้ฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 3 เข็มโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ณ วันที่ 0 (เข็มที่ 1), ณ วันที่ 7 (เข็มที่ 2) และ ณ วันที่ 21 หรือ 28 (เข็มที่ 3) เมื่อฉีดครบทั้งสิ้น 3 เข็มถือว่าครบวัคซีนชุดแรก (Primary vaccination) โดยวันที่ฉีดอาจคลาดเคลื่อนได้บ้างเล็กน้อย 1 - 2 วัน

2. การฉีดวัคซีนกระตุ้นหลังได้รับวัคซีนแบบป้องกันล่วงหน้าทั้งในเด็กและผู้ใหญ่: ภายหลังได้รับวัคซีนชุดแรก (Primary vaccination) ครบ 1 ปีแล้ว ให้ทำการฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีก 1 เข็ม จากนั้นกระตุ้นซ้ำทุกๆ 5 ปี ทั้งนี้อาจพิจารณาการฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสูง ซึ่งจะทำการฉีดเข็มกระตุ้นซ้ำเมื่อทำการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันแล้วต่ำกว่า 0.5 ยูนิต/มิลลิลิตร

3. การฉีดแบบป้องกันหลังสัมผัสโรค (Post-exposure immunization) ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่: วิธีการฉีดวัคซีนสำหรับการป้องกันหลังสัมผัสโรคคือ ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular) หรือฉีดเข้าในผิวหนัง (Intradermal) โดยให้ฉีดวัคซีนในช่วง 14 วันแรกภายหลังสัมผัสโรคเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค ดังนั้นผู้ป่วยควรมารับวัคซีนให้ตรงตามตารางเวลาที่กำหนดเสมอ กรณีมาผิดนัดโดยทั่วไปจะทำการฉีดวัคซีนเข็มต่อไปเลยโดยไม่ต้องเริ่มการฉีดวัคซีนใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตามขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ร่วมด้วย

3.1 วิธีฉีดสำหรับป้องกันหลังสัมผัสโรคทั้งในเด็กและผู้ใหญ่:

ก.กรณีฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular):

  • ในรายที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน จะต้องฉีดวัคซีนเข้ากล้ามฯทั้งสิ้น จำนวน 5 เข็มโดยฉีดวัคซีนครั้งละ 1 เข็ม (0.5 มิลลิลิตรหรือ 1 มิลลิลิตรแล้วแต่วัคซีนแต่ละชนิด) ณ วันที่ 0 (เข็มที่ 1), ณ วันที่ 3 (เข็มที่ 2), ณ วันที่ 7 (เข็มที่ 3), ณ วันที่ 14 (เข็มที่ 4) และ ณ วันที่ 28 หรือ 30 (เข็มที่ 5)
  • ในรายที่เคยได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันล่วงหน้ามาก่อนโดยได้รับวัคซีนครบตามจำนวนแล้ว สามารถฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 1 เข็มในกรณีที่ได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข็มสุดท้ายมาน้อยกว่า 6 เดือน โดยฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ 1 เข็ม (0.5 มิลลิลิตรหรือ 1 มิลลิลิตรแล้วแต่วัคซีนแต่ละชนิด) ณ วันที่ 0 (เข็มที่ 1) เพียงครั้งเดียวเท่านั้น, และกรณีได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข็มสุดท้ายมานานกว่า 6 เดือน (โดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วยได้รับมานานเท่าใดก็ตาม) ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข้ากล้ามเนื้อทั้งหมดจำนวน 2 เข็มคือ ฉีด ณ วันที่ 0 (เข็มที่ 1) และ ณ วันที่ 3 (เข็มที่ 2) และไม่จำเป็นต้องฉีดยาอิมมูโนโกลบุลินป้องกันเชื้อพิษสุนัขบ้า

ข. กรณีฉีดเข้าในผิวหนัง (Intradermal): การฉีดด้วยวิธีนี้มีข้อจำกัดโปรดศึกษาหัวข้อ “วิธีบริหารวัคซีนฯ” เพิ่มเติม

  • ในรายที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อนเลย จะต้องฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนัง ทั้งสิ้นจำนวน 4 ครั้ง/ชุด โดยฉีดเข้าในผิวหนังบริเวณต้นแขนทั้ง 2 ข้างข้างละ 1 จุด (รวม 2 จุด) โดยปริมาณวัคซีนที่ฉีดเข้าแต่ละจุดคือ 0.1 มิลลิลิตร ณ วันที่ 0 (ครั้งที่ 1, 2 จุด), ณ วันที่ 3 (ครั้งที่ 2, 2 จุด), ณ วันที่ 7 (ครั้งที่ 3, 2 จุด) และ ณ วันที่ 28 (ครั้งที่ 4, 2 จุด)
  • ในรายที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันฯล่วงหน้าครบตามจำนวนมาก่อนแล้ว สามารถฉีดวัคซีนฯหลังสัมผัสโรคเข้าในผิวหนังจำนวน 1 เข็มในกรณีที่ได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข็มสุดท้ายมาน้อยกว่า 6 เดือน โดยฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข้าในผิวหนังปริมาณ 0.1 มิลลิลิตรจำนวน 1 จุด ณ วันที่ 0 (เข็มที่ 1) เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
  • กรณีได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข็มสุดท้ายมานานกว่า 6 เดือน (โดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วยได้รับมานานเท่าใดก็ตาม) ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข้าในผิวหนังปริมาณ 0.1 มิลลิลิตรจำนวน 2 เข็มคือ ฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนังจำนวน 1 จุด ณ วันที่ 0 (เข็มที่ 1) ณ วันที่ 3 (เข็มที่ 2) และไม่จำเป็นต้องฉีดยาอิมมูโนโกลบุลินป้องกันเชื้อพิษสุนัขบ้า

3.2 กรณีผู้ป่วยมีการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าซ้ำในช่วงที่กำลังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอยู่: ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีก เพราะพบว่าขณะนั้นผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันเพียงพอในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอยู่แล้วและไม่จำเป็นต้องฉีดยาอิมมูโนโกลบุลินป้องกันเชื้อพิษสุนัขบ้า

การปฏิบัติตนและการรักษาภายหลังการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า

การปฏิบัติตนภายหลังประสบอุบัติเหตุจากสัตว์ทำร้ายทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ควรปฏิบัติดังนี้

1. ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยดูแลรักษาบาดแผลที่ถูกสัตว์ทำร้ายก่อนโดยล้างและทำความสะอาดแผลหลังถูกกัดหรือข่วนด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที ขั้นตอนนี้สามารถกำจัดเชื้อพิษสุนัขบ้าออกจากบริเวณแผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. เช็ดแผลด้วยแอลกฮอล์ 70% หรือด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บhaamor. com บทความเรื่อง ยาใส่แผล) หรือด้วยสารละลายโพวิโดน ไอโอดีน (Providone iodine: ยาทาแผล) เช็ดจนแผลสะอาดไม่ให้เหลือคราบ

3. ไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจร่างกายและให้การบำบัดรักษา ทั้งนี้แพทย์/พยาบาลอาจทำการล้างแผลซ้ำ หากแผลลึกต้องล้างถึงกันแผล และอาจไม่เย็บแผลที่สัตว์กัด (ยกเว้นเพื่อห้ามเลือด) ทันที ถ้าต้องการเย็บแผลมักรอก่อน 3 - 7 วัน

4. เมื่อแพทย์ตรวจบาดแผล จะประเมินความรุนแรงของแผลที่ถูกกัดหรือถูกข่วนเพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือให้ร่วมกับยาอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) หรือไม่ ทั้งนี้แพทย์อาจพิจารณาไม่ให้วัคซีนแต่ให้ล้างแผลให้สะอาด กรณีไม่มีแผลหรือรอยถลอก เป็นเพียงการถูกเลียหรือสัมผัสน้ำลายสัตว์บริเวณผิวหนังปกติ

5. กรณีถูกกัดเป็นรอยช้ำโดยไม่มีเลือดออก หรือถูกข่วนแต่มีเลือดออกซิบๆ หรือถูกเลีย/สัมผัสน้ำลายบริเวณที่มีผิวหนังถลอก แพทย์จะพิจารณฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

6. กรณีถูกกัดและข่วนเป็นแผลที่มีเลือดออก หรือถูกเลีย/สัมผัสน้ำลายบริเวณเยื่อเมือกเช่น ตา ปาก หรือมีการสัมผัสเนื้อสมองสัตว์ ชำแหละหรือลอกหนังสัตว์ รวมถึงกรณีถูกกัดเป็นแผลที่บริเวณใบหน้า ศีรษะ คอ มือ และนิ้วมือ หรือแผลลึก แผลฉีกขาดมาก หรือถูกกัดหลายแผล ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าสูงและระยะฟักตัวมักสั้น จึงจำเป็นต้องฉีดยาอิมมูโนโกลบุลินโดยเร็วที่สุด การให้ยาอิมมูโนโกลบุลินถือเป็นการให้ภูมิคุ้มกันแก่ผู้ป่วยในทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกายระหว่างที่รอให้ร่างกายของผู้ป่วยสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเองจากวัคซีนป้อง กันโรคพิษสุนัขบ้าที่ได้รับ

7. การให้ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) อาจพิจารณาให้เพื่อป้องกันการติดเชื้อเป็นเวลา 3 - 5 วันในกรณีที่มีบาดแผลขนาดใหญ่ บาดแผลบริเวณนิ้วมือ ใบหน้า บาดแผลลึกถึงกระดูก ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไตวาย ตับแข็ง หรือตัดม้ามไปแล้ว หรือให้ยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษากรณีที่บาดแผลมีลักษณะบวม แดง ร้อน มีหนอง หากมีความรุนแรงแพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

8. การให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคบาดทะยัก กรณีที่ผู้ป่วยเคยได้รับวัควีนป้องกันโรคบาดทะยักมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้งและได้เข็มสุดท้ายนานกว่า 5 ปีมาแล้ว แพทย์จะให้วัคซีนบาดทะยักหรือวัคซีนผสมที่มีวัคซีนบาดทะยักอยู่เข้ากล้าม 1 เข็ม แต่ถ้าผู้ป่วยไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก เลยให้ฉีดวัคซีนบาดทะยักหรือวัคซีนผสมที่มีวัคซีนบาดทะยักอยู่จำนวน 3 เข็มคือ ณ วันที่ 0 (เข็มที่ 1), ณ เดือนที่ 1 (เข็มที่ 2) และ ณ เดือนที่ 6 (เข็มที่ 3)

ใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตรอย่างไร?

การใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไม่ถือเป็นข้อห้ามระหว่างการตั้งครรภ์และให้นมบุตรทั้งก่อน และหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า อีกทั้งการใช้ยาอิมมูโนโกลบุลิน (Immunoglobulin) ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรไม่ถือเป็นข้อห้าม สามารถใช้ได้ทั้งวัคซีนนี้และยาอิมมูโนโกลบุลิน

การรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมารับการฉีดวัคซีนไม่ตรงตามตารางเวลาที่กำหนดควรเป็นอย่างไร?

การรักษาผู้ป่วยที่รับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าไม่ตรงตามตารางเวลาที่กำหนด ให้ฉีดวัคซีนโดยนับต่อจากเข็มสุดท้ายที่ผู้ป่วยควรได้รับ ไม่มีความจำเป็นต้องเริ่้มฉีดวัคซีนใหม่ และกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถให้ประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ชัดเจนหรือแน่ชัดได้ในอดีต ข้อมูลที่จำเป็นต้องทราบเช่น ชนิดของวัคซีนที่ได้รับ (เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยวิธีการเพาะเลี้ยงหรือวัคซีนที่ฟักในไข่เป็ด) จำนวนเข็มที่ได้รับ หากผู้ป่วยไม่สามารถให้ข้อมูลดังกล่าวได้ ให้เริ่มรักษาผู้ป่วยเสมือนว่าผู้ป่วยไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

มีวิธีการเก็บรักษาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างไร?

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นวัคซีนผงแห้งมาพร้อมสารละลาย วิธีการเก็บคือ เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา (อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส/Celsius ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง) เมื่อทำการผสมวัคซีนด้วยสารละลายที่จัดมาให้แล้ว ให้ทำการเขย่าจนวัคซีนเป็นเนื้อเดียวกัน พิจารณาใช้วัคซีนภายหลังการผสมทันที ปกติแล้วมีวิธีการเก็บรักษาโดยนำวัคซีนที่ละลายแล้วเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา (อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส) ทั้งนี้ควรใช้วัคซีนที่ผสมแล้วนั้นภายใน 8 ชั่วโมงภายหลังการผสมเพื่อให้วัคซีนยังคงคุณภาพสูงสุด หลัง 8 ชั่วโมงไปแล้วต้องทิ้งส่วนของวัคซีนที่ไม่ได้ใช้

ชนิดของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับใช้ในคนที่มีใช้ในประเทศไทยขณะนี้แบ่งออกตามวิธีการ ผลิตวัคซีนดังนี้

1. วัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยง (Cell culture Rabies vaccine): ประกอบด้วย

1.1 Human Diploid Cell Rabies Vaccine (HDCV) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในเซลล์มนุษย์ (Human diploid cell) มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (Sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส สีชมพู ปริมาตรรวม 1 ml แนะนำให้บริหารยาแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อเท่านั้น ชื่อการค้าได้แก่ SII Rabivax®

1.2 Purified Chick Embryo Cell Rabies Vaccine (PCEC) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยง ไวรัสในไข่ (Primary chick embryo fibroblast cell) สามารถฉีดได้ทั้งแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อและฉีดเข้าในผิวหนัง มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (Sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส ไม่มีสี ปริมาตรรวม 1 มิลลิลิตร ชื่อการค้าได้แก่ Rabipur®

1.3 Purified Vero Cell Rabies Vaccine (PVRV) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในเซลล์เฉพาะชื่อ Vero cells ซึ่งสามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อและฉีดเข้าในผิวหนัง มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำเกลือสำหรับทำละลาย (solution of sodium chloride 0.4%) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส ไม่มีสี ปริมาตรรวม 0.5 มิลลิลิตร ชื่อการค้าได้แก่ Verorab®

2. วัคซีนไข่เป็ดฟักบริสุทธิ์ (Purified Duck Embryo Cell Rabies Vaccine, PDEV): เป็น วัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในตัวอ่อนไข่เป็ดที่ฟักแล้ว (Embryonated duck eggs) มีลักษณะ เป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (Sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะเป็นสารแขวนตะกอนสีขาว ขุ่นเล็กน้อย ปริมาตรรวม 1 มิลลิลิตร แนะนำให้บริหารยาโดยฉีดเข้ากล้าม เนื้อเท่านั้น ชื่อการค้าได้แก่ Lyssavac N®

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
  2. Product Information: Verorab, Rabies Vaccine. Sanofi pasteur, Thailand.
  3. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, เกษวดี ลาภพระ, จุฑารัตน์ เมฆมัลลิกา, ฐิติอร นาคบุญนำ และอัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2556. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา; 2556
  4. คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน โรคพิษสุนัขบ้า ร้ายแรง แต่ป้องกันได้http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/12/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99/ [2016,April16]
  5. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร. Preventing Rabies with PVRV: Efficacy, Safety and Long-term Clinical Experience. กรุงเทพฯ: สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย); 2553
  6. สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. แนวทางการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า (พ.ศ.2556)
  7. โอฬาร พรหมาลิขิต, อัจฉรา ตั้งสภาพรพงษ์ และอุษา ทิสยากร. วัคซีน 2015. กรุงเทพฯ: นพชัยการพิมพ์; 2558