วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese encephalitis vaccine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis ย่อว่า JE) เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยในประเทศไทย เกิดจากเชื้อไวรัสเจแปนิสเอนเซฟาไลทิส (Japanese Encephalitis Virus ย่อว่า JEV) ซึ่งแยกได้จากสมองของชายชาวญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2468 โรคนี้มีสุกร/หมูเป็นรังโรค หมายความว่า สุกรเป็นแหล่งเพิ่มจำนวนของไวรัสนี้อย่างรวดเร็ว และมียุงรำคาญเป็นพาหะโรค เมื่อยุงกัดสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสนี้ ซึ่งอาจเป็น สุกร ม้า วัว ควาย แพะ แกะ สุนัข นก เป็นต้น มากัดมนุษย์ ก็จะเกิดการติดเชื้อนี้

ประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี ได้แก่ บริเวณเอเชียใต้ ประเทศอินเดียและศรีลังกา ตลอดจนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจังหวัดต่างๆในภาคตะวันออกของประเทศจีน ประเทศ ไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อโรคนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดง ในผู้ติดเชื้อไวรัสโรคนี้บางราย อาจมีอาการแสดงที่รุนแรง (ประมาณ 1 รายใน 250 ราย) เช่น อาการปวดศีรษะ มีไข้สูง อาเจียน หลังจากนั้นจะมีอาการทางสมอง เช่น อาการคอแข็ง มีสติลดลง อาจมีอาการชัก อัมพาต และหากมีอาการรุนแรงมาก อาจเสียชีวิตได้

ปัจจุบันโรคไข้สมองอักเสบเจอี เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วย “วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี/วัคซีนโรคไข้สมออักเสบเจอี/วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี(Japanese encephalitis vaccine หรือ JE vaccine)” โดยวัคซีนป้องกันโรคนี้มีประสิทธิภาพกว่าร้อยละ 90(90%)

รูปแบบวัคซีนนี้ เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถก่อโรคนี้ได้ แต่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อโรคนี้(Live Attenuated Vaccine) สายพันธุ์ SA14-14-2 เป็นวัคซีนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเฉพาะในประเทศจีน(ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก) ส่วนในประเทศไทย นิยมใช้วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) ซึ่งได้รับการบรรจุในแผนการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข

ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO; World Health Organization) ได้บรรจุให้วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี เป็นวัคซีนจำเป็นที่ควรมีในระบบสาธารณสุขมูลฐานของทุกประเทศ

วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีมีกี่ชนิด มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ วิธีการบริหารและขนาดการบริหารอย่างไร?

วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี

ชนิดของวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี รูปแบบเภสัชภัณฑ์ และวิธีการบริหาร/การใช้ และขนาดการบริหาร มีดังนี้

ก. ชนิดและรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของวัคซีนไข้สมองอักเสบจีอี:

1. วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี แบ่งได้เป็น 2 ชนิด/ 2 รูปแบบเภสัชภัณฑ์คือ

  • ชนิดเพาะเลี้ยงเชื้อในสมองหนู (Inactivated Mouse Brain JEV) เป็นวัคซีนที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และอยู่ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทยอีกด้วย มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ทั้งชนิดน้ำ และชนิดผงแห้ง (Lyophilized) โดยได้เชื้อไวรัสโรคนี้มาจาก 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์นาคายาม่า (Nakayama) และสายพันธุ์ปักกิ่ง (Beijing)
  • ชนิดเพาะเลี้ยงเชื้อในเซลล์เพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส(Inactivated cell culture-derived JEV) จากเชื้อไวรัสโรคนี้ สายพันธุ์ SA14-14-2

2. วัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live-attenuated Vaccine): เป็นการนำเชื้อไวรัสเชื้อนี้มาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถก่อโรคได้ แต่ยังคงความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ โดยใช้เชื้อไวรัสโรคนี้สายพันธุ์ SA14-14-2 ในการเพาะเลี้ยงและผลิตวัคซีน

ข. วิธีการบริหารและขนาดการบริหารวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี:

วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีมีการบริหาร/วิธีการใช้ โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular injection) หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous injection)ในกรณีผู้ป่วยมีความเสี่ยงการเกิดเลือดออกผิดปกติ หรือมีภาวะเม็ดเลือดต่ำ ที่วัคซีนนี้อาจไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

โดยทั่วไป การใช้วัคซีนนี้ เป็นการฉีดครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร แต่วัคซีนชนิดเชื้อตายที่เพาะเลี้ยงในสมองหนู สำหรับในเด็กอายุ 2 เดือน ถึง 3 ปี ให้ฉีดครั้งละครึ่งหนึ่งของปริมาตรปกติ คือ 0.25 มิลลิลิตรต่อครั้ง

วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีมีข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้อะไรบ้าง?

วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี มีข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้ เช่น

  • ห้ามใช้วัคซีนนี้กับผู้ที่แพ้วัคซีนนี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนนี้ ซึ่งผู้รับวัคซีนนี้ ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงส่วนประกอบของวัคซีนนี้ก่อนการฉีด
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่กำลังรับการรักษาด้วยยาประเภทยาเสตียรอยด์ในรูปแบบรับประทานหรือการฉีด
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่กำลังเข้ารับการรักษาด้วยรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด
  • ควรปรึกษาแพทย์หากต้องการใช้วัคซีนนี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี (AIDS/HIV) หรือในผู้ป่วย โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ ระยะรุนแรง หรือมีภาวะชักในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
  • ห้ามใช้วัคซีนนี้ในสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร

อนึ่ง ภายหลังการให้วัคซีนนี้แล้ว ผู้รับวัคซีนนี้ ควรนั่งพักประมาณ 15 นาที เพื่อป้องกันการเป็นลมภายหลังการรับวัคซีนนี้ และควรรีบแจ้งให้แพทย์/พยาบาลทราบ หากมีอาการมึนงง หรือมีการมองเห็นภาพเปลี่ยนไป ภายหลังการรับวัคซีนนี้

วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างไรบ้าง?

โดยทั่วไป วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง) เช่น

  • ผลข้างเคียงเฉพาะที่: เช่น อาการ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีนนี้
  • ผลทั่วไป: ผู้รับวัคซีนนี้บางรายอาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ภายหลังการฉีดวัคซีนนี้ ซึ่งจะหายไปเองใน 2-3 วัน หรือดูแลตนเองด้วยการกินยา Paracetamol

แต่หากอาการผิดปกติต่างๆไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรืออาการแย่ลง ผู้รับวัคซีน ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม หากผู้รับวัคซีนนี้มีอาการแพ้ยา/แพ้วัคซีน เช่น มีผื่นคันขึ้นตามลำตัว ริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตา ใบหน้าบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ผู้รับวัคซีนควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีเหมาะสำหรับใคร? และมีกำหนดการฉีดวัคซีนอย่างไรบ้าง?

วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี เหมาะสำหรับเด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 9-18 เดือนขึ้นไป หรือนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามายังในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้นานมากกว่า 1 เดือน โดยแนะนำให้รับวัคซีนครบตามกำหนดก่อนวันเดินทางอย่างน้อย 10 วัน

สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ได้แนะนำตารางกำหนดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีในเด็กไทย โดย “ชนิดเชื้อเป็น” ต้องฉีดทั้งหมด 2 ครั้ง ส่วนวัคซีน”ชนิดเชื้อตาย”ต้องฉีดทั้งหมด 3 ครั้งดังนี้

อนึ่ง ในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนชนิดของวัคซีน ระหว่างวัคซีน “ชนิดเชื้อเป็น”และ”ชนิดเชื้อตาย” หากได้รับวัคซีนเชื้อตายในครั้งแรก สามารถฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดเชื้อเป็นในภายหลัง ดังตารางต่อไปนี้

ส่วนในกรณีเคยได้รับวัคซีน “เชื้อเป็น”มาก่อน 1 ครั้ง และต้องการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนเชื้อตาย ให้ฉีดอีก 1 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 12 เดือน

วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีมีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/จัดจำหน่ายใดบ้าง?

วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีในประเทศไทย มีชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตหรือจัดจำหน่าย ดังนี้

บรรณานุกรม

  1. Japanese Encephalitis Fact Sheets. WHO. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs386/en/ [2016,Aug20]
  2. Centers for Disease Control and Prevention http://www.cdc.gov/japaneseencephalitis/ [2016,Aug20]
  3. 19th WHO Model List of Essential Medicines (April 2015. WHO. 2015.
  4. Weekly epidemiological record. Japanese Encephalitis. 2015;90:69-88.
  5. IXIARO suspension for injection - Japanese encephalitis vaccine (inactivated, adsorbed) SPC. http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/21683 [2016,Aug20]
  6. โรคไข้สมองอักเสบ. คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล. http://www.tm.mahidol.ac.th/hospital/hospital-japanese-encephalitis-th.php [2016,Aug20]
  7. ตารางการให้วัคซีน สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย http://www.hpb.gov.sg/HOPPortal/dandc-article/9642 [2016,Aug20]
  8. วัคซีนโรคไข้สมองอักเสบเจอี. ศูนย์วัคซีน โรงพยาบาลวิภาวดี http://www.vibhavadi.com/mediapop.php?id=681 [2016,Aug20]
  9. โอฬาร พรหมาลิขิต. วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ใน ตำราวัคซีน สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. หน้า 127-135