ลิ้นเป็นขน (Hairy tongue) ลิ้นเป็นฝ้า (Coated tongue)

บทความที่เกี่ยวข้อง

ลิ้นเป็นขน หรือ ลิ้นขึ้นขน หรือ ลิ้นเป็นฝ้า ไม่ใช่โรค เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในทุกเพศ ทุกวัย มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก ผู้หญิงและผู้ชายพบได้เท่ากัน โดยเป็นภาวะที่เกิดจากปุ่มเนื้อ (Filiform papillae) ที่อยู่บนลิ้น ที่เป็นปุ่มเล็กๆ ขนาดเป็นมิลลิเมตร ที่กระจายอยู่บนลิ้นเป็นจำนวนมาก ปุ่มนี้มีหน้าที่สร้างสารที่เรียกว่า เคอราติน (Keratin) เพื่อเคลือบปกป้องลิ้น เพื่อลดการคะคายเคือง จากอาหาร เครื่องดื่ม ยาต่างๆ (ที่พบบ่อย คือ ยาปฏิชีวนะ) สารต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ สุรา กาเฟอีน ซึ่งเป็นปุ่มเนื้อที่ทำให้เราเห็นลิ้นมีลักษณะขรุขระ โดยทั่วไปปุ่มนี้จะยื่นออกมาจากตัวลิ้นประมาณ 1 มิลลิเมตร และสารเคอราตินจะหลุดลอกออกไปตลอดเวลาร่วม กับการกลืน การเคี้ยวอาหาร การดื่มต่างๆ แต่ถ้าขาดการทำความสะอาดที่ดีพอ หรือ เคอราตินเหล่านี้หลุดลอกได้ช้า (เช่น จากโรคภูมิแพ้, ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด, ปากแห้ง) สารเคอรา ตินก็จะสะสมหนาตัวขึ้น ร่วมกับมีการจับยึดเกาะของเศษอาหาร และซากแบคทีเรียในปากที่ตายแล้ว หรือจากเกิดเชื้อราบนเคอราติน, เศษอาหาร, ซากแบคทีเรีย ซึ่งกลไกทั้งหมดนี้จะทำให้ลิ้นหนาขึ้น หรือเรียกว่า ‘ลิ้นเป็นฝ้า’ ซึ่งถ้าเคอราตินนี้สะสมมากขึ้นจนมีลักษณะยาวขึ้นเหมือนขน เรียกว่า ‘ลิ้นเป็นขน หรือ ลิ้นขึ้นขน’ ที่ในบางคน เส้นเคอราตินนี้อาจยาวได้ถึง 15 มิลลิเมตร โดยภาวะลิ้นเป็นขนนี้ มักพบเกิดบนส่วนผิวๆตรงกลางของลิ้น ไม่ลุกลามกินลึกลงไปในเนื้อลิ้น

ลิ้นเป็นฝ้า หรือ ลิ้นเป็นขน จะมีสีได้หลากหลาย ขึ้นกับ ชนิดของแบคทีเรียที่สะสมอยู่ และจากสีของสิ่งที่เราบริโภคทางปาก (เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ยาสีฟัน นำยาบ้วนปาก ยา ลูกอม กาเฟอีน บุหรี่ สุรา) สีที่พบได้ บ่อย คือ ดำ น้ำตาล ขาว นอกนั้น คือ เหลือง เขียว ส้ม ชมพู เป็นต้น

ลิ้นเป็นฝ้า ลิ้นเป็นขน ไม่ก่ออาการผิดปกติ ไม่ก่อโรค ไม่ทำให้เป็นมะเร็ง ยกเว้น ทำให้เราเป็นกังวลว่าจะเป็นโรค หรือเรื่องความสวยงาม และอาจเป็นสาเหตุของกลิ่นปาก

อนึ่ง ภาวะนี้ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ถ้ากังวลสงสัยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นใช่ภาวะนี้หรือไม่ หรือเกิดร่วมกับมีแผลในปาก หรือลิ้นบวมแดง เจ็บ ซึ่งเป็นอาการของการติดเชื้อ ก็ควรพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยสาเหตุที่แน่นอน

โดยทั่วไป ลิ้นเป็นฝ้า ลิ้นเป็นขน จะค่อยๆหายไปเอง (ไม่จำเป็นต้องมีการรักษา) ในระยะ เวลาประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ ซึ่งการดูแลตนเอง คือ

  • รักษาความสะอาดช่องปากเสมอ
  • บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งหลังกินอาหาร
  • กินอาหาร ดื่มเครื่องดื่ม ที่ไม่ก่อการระคายเคืองช่องปาก
  • แปรงฟันอย่างถูกต้องวันละ 2 ครั้งเมื่อตื่นนอนเช้า และก่อนเข้านอนกลางคืน
  • แปรงลิ้นเสมอเมื่อแปรงฟัน
  • ใช้ไหมขัดฟันก่อนนอน
  • รักษาช่องปากให้ชุ่มชื้น ด้วยการดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ และจิบน้ำบ่อยๆ และ
  • หยุดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น บุหรี่ สุรา
  • ปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยา เมื่อเกิดจากการใช้ยา
  • หยุดกินยา อาหารเสริม สมุนไพร ฯลฯ ที่ซื้อมาบริโภคเอง

บรรณานุกรม

Hairy/coated tongue http://www.aaomp.org/public/hairy-tongue.php [2014,May16]