ลาโมไตรจีน (Lamotrigine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลาโมไตรจีน (Lamotrigine) เป็นยารักษาอาการโรคลมชักและยังใช้รักษาอาการทางจิตประสาทประเภทอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder/Bipolar) โดยได้รับการรับรองให้ใช้ทางคลินิก ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) มาจนกระทั่งปัจจุบันมีการใช้ยานี้แพร่หลายในทวีปใหญ่ๆเช่น อเมริกา ยุโรป และเอเชีย

ด้านการกระจายตัวของยานี้ในร่างกายของมนุษย์พบว่า ลาโมไตรจีนดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ถึงประมาณ 98% ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 55% โดยตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้อยู่ตลอดเวลา และต้องใช้เวลาถึงประมาณ 29 ชั่ว โมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุลาโมไตรจีนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย และระบุการใช้ยาดังนี้

  • ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท
  • ให้ใช้กับผู้ป่วย Bipolar และโรคลมชักที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล

ลาโมไตรจีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ลาโมไตรจีน

ยาลาโมไตรจีนมีสรรพคุณดังนี้

  • ใช้รักษาโรคลมชักทั้งในผู้ใหญ่และในเด็กที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป
  • ใช้รักษาอาการทางจิตประสาทประเภท Bipolar disorder

ลาโมไตรจีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาลาโมไตรจีนคือ ตัวยาจะยับยั้งความไวหรือความรู้สึกรับรู้ต่อความต่างศักย์ไฟฟ้าในช่องทางลำเลียงประจุเกลือโซเดียมในสมอง ทำให้ผนังของเซลล์ประสาทมีความ นิ่งและสงบขึ้น ส่งผลให้ไม่มีการหลั่งสารกระตุ้นต่างๆออกมาจากเซลล์ประสาทเช่น กรดอะมิโนที่มี ชื่อว่า กลูตาเมท (Glutamate) และแอสปาร์เตท (Aspartate) จากกลไกที่กล่าวมาทำให้เกิดฤทธิ์ต่อต้านอาการลมชักและอาการทางจิตประสาทประเภท Bipolar disorder ได้

ลาโมไตรจีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลาโมไตรจีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดขนาด 25, 50, 100 และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด

ลาโมไตรจีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาลาโมไตรจีนมีขนาดรับประทานดังตัวอย่างเช่น

ก. สำหรับการรักษาโรคลมชัก:

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทาน 25 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 50 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และแพทย์จะค่อยๆปรับขนาดรับประทานเพิ่มครั้งละ 50 - 100 มิลลิกรัมทุก 1 - 2 สัปดาห์ จนได้ขนาดที่คงการรักษาอยู่ที่ 100 - 200 มิลลิกรัม/วันโดยรับประทานวันละครั้งหรือจะแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้งก็ได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยาขนาด 500 มิลลิกรัม/วัน โดยขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา และสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: การใช้ยาจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ โดยประเมินจากอายุ น้ำหนักตัว การตอบสนองต่อการใช้ยาตัวอื่นมาก่อน ความรุนแรงของอาการ และโรคร่วมอื่นๆของเด็ก

ข. สำหรับการรักษาโรค Bipolar disorder:

การใช้ยาและขนาดยาจะขึ้นกับดุลพินิจของจิตแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละกรณี

หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาลาโมไตรจีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาลาโมไตรจีนอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาลาโมไตรจีนสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานในครั้งถัดไปให้รับประทานยาตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการรับประทานเป็น 2 เท่า

ลาโมไตรจีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาลาโมไตรจีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ดังนี้เช่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ เหนื่อยง่าย วิงเวียน ตัวสั่น สับสน อาจเกิดภาวะจิต/ประสาทหลอน ตาพร่า เกิดความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด ตลอดจนมีอาการปวดหลัง

ทั้งนี้ อาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดเช่น มีอาการตากระตุก กล้ามเนื้อเกร็ง มีไข้ต่ำๆ มีตุ่ม นูนในบริเวณผิวหนังจนถึงอาการบวม ตัวสั่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งหากพบอาการดังกล่าวหลังรับประ ทานยานี้ควรรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์/โรงพยาบาลทันที โดยการรักษาเบื้องต้นใช้วิธีการล้างท้องและรับ ประทานยาถ่านกำมันในการดูดซับยาส่วนเกินภายในช่องท้อง

มีข้อควรระวังการใช้ลาโมไตรจีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลาโมไตรจีนดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยโรคตับโรคไต
  • ระวังการใช้ยานี้ในเด็ก
  • ควรแจ้งให้ผู้ป่วยทราบก่อนการใช้ยานี้ว่า หากพบอาการแพ้ยาเกิดขึ้นให้รีบมาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เพื่อบำบัดอาการแพ้ยาและปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษา
  • ระหว่างการใช้ยานี้ให้ระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักร จากอาการตัวสั่นและสับสน
  • ระวังการใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลาโมไตรจีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ลาโมไตรจีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลาโมไตรจีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยาลาโมไตรจีนร่วมกับยาบางกลุ่มสามารถเร่งให้ร่างกายทำลายยาลาโมไตรจีนได้รวด เร็วยิ่งขึ้นจึงส่งผลให้การรักษาด้อยประสิทธิภาพลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป ยากลุ่มดังกล่าวเช่น Phenytoin, Carbamazepine, Phenobarbital, Ethinyloestradiol/Levonorgestrel, Primidone (ยากันชัก) และ Rifampicin
  • การใช้ยาลาโมไตรจีนร่วมกับ Sodium Valproate สามารถทำให้ร่างกายทำลายยาลาโมไตรจีนได้ลดลงอาจส่งผลให้ลาโมไตรจีนอยู่ในร่างกายได้นานมากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงติด ตามมา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาทั้ง 2 ตัวให้เหมาะสมกับร่าง กายของผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาลาโมไตรจีนอย่างไร?

ควรเก็บยาลาโมไตรจีนภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ควรเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความ ชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ลาโมไตรจีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลาโมไตรจีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Lamictal (ลามิกทอล) GlaxoSmithKline

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น , Lamepil, Lamepil MR, Lametec, Lamitor, Lamidus, Lamitor DT, Epitic

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Lamotrigine[2017,Sept9]
  2. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/79#item-8547[2017,Sept9]
  3. http://www.who.int/selection_medicines/committees/expert/17/application/lamotrigine_inclusion.pdf[2017,Sept9]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=lamictal&AllFlag=ALL[2017,Sept9]
Updated 2017,Sept9