ลาสซาฟีเวอร์ระบาดอีกแล้ว (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ลาสซาฟีเวอร์ระบาดอีกแล้ว-2

      

      ไข้ลัสสา หรือ ไข้ลาสซา (Lassa Fever) มีการระบาดในไนจีเรียครั้งแรกที่เมืองลัสสา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 นับตั้งแต่นั้นมาก็เกิดการระบาดในประเทศในแอฟริกาตะวันตกอื่น ๆ รวมทั้งกานา มาลี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน (Sierra Leone)

      ไข้ลาสซา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสลาสซา (Lassa virus) ซึ่งอยู่ในตระกูล Arenaviridae ที่มีสารพันธุกรรมเป็นชนิด RNA สายเดี่ยว (Single-stranded RNA virus) ที่แพร่จากสัตว์มาสู่คน โดยเกิดจากหนูที่เรียกว่า "Multimammate rat" ที่อยู่ในสายพันธุ์ Mastomys

      คนส่วนใหญ่ติดเชื้อโรคนี้จากสิ่งปนเปื้อนปัสสาวะ อุจจาระ เลือด หรือน้ำลายของหนู ไม่ว่าจะด้วยการกิน ดื่ม สัมผัส หรือหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของหนูที่มีเชื้อนั้น

      นอกจากนี้เชื้อยังสามารถแพร่จากคนสู่คนผ่านทางของเหลวในร่างกาย เช่น เลือด เนื้อเยื่อ สารคัดหลั่ง ของผู้ติดเชื้อ ซึ่งหมายความว่าเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเพียงพอถือว่าอยู่ในกลุ่มเสียงที่จะติดเชื้อ โดยขณะนี้นักวิจัยกำลังศึกษาว่าเชื้อโรคนี้จะอยู่ในร่างกายและแพร่ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ แม้ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม

      มีการประมาณการติดเชื้อไข้ลาสซาในแต่ละปีอยู่ที่ 100,000 - 300,000 ราย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,000 ราย โดยเฉพาะในประเทศไลบีเรียและเซียร์ราลีโอนซึ่งมีผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลถึงร้อยละ 10-16 ที่ติดเชื้อไข้ลาสซา และประมาณร้อยละ 15-20 ของผู้ป่วยมักเสียชีวิต โดยอัตราการเสียชีวิตมักพบในหญิงที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 และประมาณร้อยละ 95 ของทารกมักเสียชีวิตในครรภ์ของแม่ที่ติดเชื้อ

      ปกติอาการของไข้ลาสซาจะปรากฏใน 1-3 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ โดยอาการจะแตกต่างกันไปและไม่เฉพาะเจาะจง จึงทำให้การวินิจฉัยโรคทำได้ยาก ซึ่งทั้งอาการ เป็นไข้ เจ็บบริเวณหน้าอก (Retrosternal pain) เจ็บคอ ปวดหลัง ไอ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย เยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) หน้าบวม ปัสสาวะมีโปรตีน (Proteinuria) มีเลือดออกที่เยื่อบุ (Mucosal bleeding)

      นอกจากนี้อาจมีปัญหาด้านประสาท เช่น สูญเสียการได้ยิน สั่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Encephalitis) โดยอาการแทรกซ้อนที่พบมากที่สุดหลังจากการฟื้นไข้ ได้แก่ อาการหูหนวกและสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร

      การวินิจฉัยโรคจะใช้อีไลซ่าเทคนิค (Enzyme-linked immunosorbent serologic assays = ELISA) เพื่อตรวจหาแอนติบอดี้ IgM และ IgG และสารที่กระตุ้นการสร้างแอนติบอดี้ (Lassa antigen) โดยใช้เวลาเพาะเชื้อประมาณ 7-10 วัน และใช้การย้อมพิเศษทางอิมมูโนฮีสโตเคมี (Immunohistochemistry) เพื่อการชันสูตร (Post-mortem diagnosis)

      และปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองใช้วิธีปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรสแบบย้อนกลับ (Reverse transcription-polymerase chain reaction = RT-PCR) เพื่อการวินิจฉัยต่อไป

      การรักษาทำได้ด้วยการใช้ยาต้านไวรัส Ribavirin ซึ่งจะได้ผลดีหากใช้ในระยะแรกของการเกิดอาการ นอกจากนี้ต้องมีการให้สารน้ำและเกลือแร่ที่เหมาะสม การหล่อเลี้ยงด้วยออกซิเจน (Oxygenation) และระวังเรื่องความดันโลหิต

      สำหรับการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับหนูโดยเฉพาะในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรค การรักษาความสะอาดของบ้านไม่ให้เป็นที่อาศัยของหนู กรณีที่ต้องทำการดูแลผู้ป่วยโรคลาสซ่า ต้องระวังการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยในลักษณะเดียวกับผู้ติดเชื้ออีโบลา โดยสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ใส่หน้ากาก ถุงมือ ใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ล้างมือให้สะอาด และแยกผู้ป่วยไว้ต่างหาก

แหล่งข้อมูล:

  1. ไข้ลัสสา : โรคคร่าชีวิตที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน. http://www.bbc.com/thai/international-43293484 [2018, March 30].
  2. The Facts on Lassa Fever. https://www.ncc.gov.ng/thecommunicator/index.php?option=com_content&view=article&id=1172%3Athe-facts-on-lassa-fever&catid=27&Itemid=179&option=com_content&view=article&id=1172%3Athe-facts-on-lassa-fever&catid=27&Itemid=179 [2018, March 29].
  3. Lassa Fever. https://www.iamat.org/risks/lassa-fever [2018, March 29].