ลมเป็นพิษ (ตอนที่ 1)

ลมเป็นพิษ

ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคลมพิษเป็นโรคที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง มีขนาดตั้งแต่ 0.5 - 10 เซนติเมตร มีอาการคัน แต่ละผื่นมักจะคงอยู่ไม่นาน โดยมากมักไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นก็จะราบไปโดยไม่มีร่องรอย แต่ก็อาจมีผื่นใหม่ขึ้นที่อื่นๆ ได้

ผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวม ตาบวม สาเหตุมีทั้งการติดเชื้อ ยา อาหาร แมลงกัดต่อย ระบบฮอร์โมน ขณะที่บางรายก็ไม่ทราบสาเหตุหรือสิ่งกระตุ้น ทั้งนี้ โรคลมพิษแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. ชนิดเฉียบพลัน คือ เป็นมาไม่เกิน 6 สัปดาห์ ชนิดนี้มักจะหายภายใน 2 - 3 สัปดาห์ แต่พบว่าลมพิษเฉียบพลันประมาณร้อยละ 10 - 20 ผื่นอาจขึ้นต่อเนื่องจนเป็นลมพิษเรื้อรัง
  2. ชนิดเรื้อรัง จะมีอาการต่อเนื่องนานเกิน 6 สัปดาห์

ศ.พญ.กนกวลัย กล่าวอีกว่า ที่น่ากังวลคือ ลมพิษเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรง กล่าวคือ มีอาการแสดงที่อวัยวะอื่น เช่น ปวดท้อง แน่นจมูก คอ หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก หอบหืด หรืออาจเป็นลมจากความดันโลหิตต่ำ แต่จะพบได้น้อย ซึ่งหากเกิดขึ้นควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจอันตรายถึงชีวิตได้

ศ.พญ.กนกวลัย ชี้แจงว่า ในต่างประเทศพบประมาณร้อยละ 0.5 - 1 ของประชากร สำหรับประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่จากสถิติผู้ป่วยนอก แผนกผิวหนัง รพ.ศิริราช พบผู้ป่วยโรคลมพิษประมาณร้อยละ 2 - 3 ของผู้ป่วยที่มารับการรักษาโรคผิวหนัง พบได้ในทุกกลุ่มอายุ อุบัติการณ์สูงสุด คือ วัยทำงาน อายุระหว่าง 20 - 40 ปี อาจเพราะมักมีอาการเครียดสะสมและอาจละเลยต่อการดูแลสุขภาพ จึงทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้มากขึ้น

ศ.พญ. กนกวลัย กล่าวต่อว่า ลมพิษเรื้อรังมีผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การนอนหลับ และความเครียด เนื่องจากจะเป็นๆ หายๆ โดยเฉพาะรายที่ไม่ทราบสาเหตุ อาจมีภาวะความเครียดสูง เพราะไม่ทราบว่าจะมีอาการเกิดขึ้นเมื่อไร และไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากปัจจัยกระตุ้นได้ ซึ่งการรักษาแพทย์จำเป็นต้องให้ยาตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไปเพื่อควบคุมอาการผื่นลมพิษ และเมื่อควบคุมอาการได้แล้วจึงค่อยๆ ลดยาลง จนถึงพยายามหยุดยาเพื่อควบคุมโรคในระยะยาว ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเรื้อรังนานเป็นปี โดยปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น ทั้งยากินและยาฉีด

ลมพิษ (Urticaria / Hives) เป็นปฏิกริยาของผิวหนังที่เป็นผื่นคันสีแดงหรือสีขาว มีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกันไป มีการประเมินว่าคนจำนวน 1 ใน 6 คน จะต้องเคยมีประสบการณ์ในการเป็นลมพิษมาแล้วในช่วงหนึ่งของชีวิต

ลมพิษสามารถแบ่งออกได้เป็น

  1. ลมพิษแบบเฉียบพลัน (Acute urticaria) ซึ่งจะมีอาการน้อยกว่า 6 สัปดาห์ มักเกิดจากการแพ้อาหาร ยา หรือติดเชื้อ
  2. ลมพิษแบบเรื้อรัง (Chronic urticaria / angioedema) ซึ่งจะมีอาการมากกว่า 6 สัปดาห์ และกระทบต่ออวัยวะภายใน เช่น ปอด กล้ามเนื้อ ทางเดินอาหาร

แหล่งข้อมูล

  1. วัยทำงานป่วย “ลมพิษ” มากสุด คาดเครียด ไม่ดูแลสุขภาพ ระวังอาการเฉียบพลันรุนแรงถึงตาย. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000106979&Keyword=%ca%d8%a2%c0%d2%be [2015, October 1].
  2. Chronic hives (urticaria). http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/chronic-hives/basics/definition/con-20031634 [2015, October 1].
  3. Allergies and Hives. http://www.webmd.com/allergies/guide/hives-urticaria-angioedema [2015, October 1].
  4. Urticaria (hives). http://www.nhs.uk/conditions/Nettle-rash/Pages/Introduction.aspx [2015, October 1].