ลมหายขณะหลับ (ตอนที่ 3)

ลมหายขณะหลับ-3

ทั้งนี้ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาในกรณีดังต่อไปนี้

  • กรนเสียงดังจนรบกวนการนอนของผู้อื่นหรือตัวเอง
  • หายใจลำบาก หรือ รู้สึกหายใจไม่สะดวกจนทำให้ตื่น
  • มีการหยุดหายใจระหว่างที่หลับ
  • ง่วงซึมระหว่างวัน หรือง่วงหลับระหว่างการทำงาน การนั่งดูโทรทัศน์ หรือแม้แต่การขับรถ

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับเกิดกับใครก็ได้แม้แต่เด็ก โดยมีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง ได้แก่

กรณีเกิดจากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ (OSA)

  • น้ำหนักตัวที่มาก – คนอ้วนมีความเสี่ยงในการมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติถึง 4 เท่า ทั้งนี้เพราะมีไขมันสะสมในทางเดินหายใจตอนบนที่อาจอุดกั้นการหายใจ อย่างไรก็ดีไม่ใช่ทุกคนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจะต้องเป็นคนอ้วน
  • เส้นรอบวงของลำคอ (Neck circumference) – คนที่มีคอหนาอาจจะมีทางเดินหายใจที่แคบ ในผู้ชายจะมีความเสี่ยงมากขึ้นถ้าเส้นรอบวงของลำคอเท่ากับ 17 นิ้ว (43 เซนติเมตร) หรือมากกว่า ส่วนในผู้หญิงจะมีความเสี่ยงมากขึ้นถ้าเส้นรอบวงของลำคอเท่ากับ 15 นิ้ว (38 เซนติเมตร) หรือมากกว่า
  • ทางเดินหายใจที่แคบ (Narrowed airway) - ซึ่งอาจจะเกิดจากกรณีของพันธุกรรม กรณีต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) โตจนไปปิดกั้นทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็ก
  • เพศชาย – ผู้ชายมีความเสี่ยงเป็น 2 เท่า อย่างไรก็ดี ในผู้หญิงก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากมีน้ำหนักตัวมาก และความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน
  • เป็นผู้สูงวัย – ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับมักเกิดในผู้สูงวัยมากกว่า
  • ประวัติครอบครัว – คนที่มีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะนี้ ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ กินยาระงับประสาท (Sedative) หรือยากล่อมประสาท (Tranquilizer) – เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อที่คอคลายตัว
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ – มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่ามากกว่าคนปกติในการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เพราะการสูบบุหรี่อาจเพิ่มโอกาสของการอักเสบหรือการที่ของเหลวคั่งอยู่ในทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งความเสี่ยงจะลดลงหากเลิกสูบบุหรี่ได้
  • คัดจมูก แน่นจมูก (Nasal congestion) - หากมีอาการจมูกหายใจลำบาก ไม่ว่าจะเกิดจากปัญหาทางกายวิภาคหรือภูมิแพ้ ก็ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้มากขึ้น
  • เป็นโรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux = GERD)

กรณีเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง (CSA)

  • เป็นผู้สูงวัย – ผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนและสูงวัยจะมีวามเสี่ยงสูงกว่าในการมีภาวะ CSA
  • หัวใจทำงานผิดปกติ – คนที่มีโรคหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure) จะมีความเสี่ยงในการมีภาวะ CSA มากขึ้น
  • ผู้ที่ใช้ยาระงับปวดชนิดเสพติด (Narcotic pain medications) – ยาที่มีสารอปิออยด์ (Opioid medications) เช่น ยา Methadone จะเพิ่มความเสี่ยงในการมีภาวะ CSA
  • ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) - จะมีความเสี่ยงในการมีภาวะ CSA มากขึ้น

แหล่งข้อมูล:

  1. Sleep apnea. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sleep-apnea/basics/definition/con-20020286 [2017, September 25].
  2. Sleep Apnea. http://www.medicinenet.com/sleep_apnea/article.htm [2017, September 25].