ลมพิษ (Urticaria)

สารบัญ

ลมพิษคืออะไร? มีอาการอย่างไร?

ลมพิษ (Urticaria หรือ Hives) เป็นกลุ่มอาการ ไม่ใช่โรค แต่มักเรียกว่าเป็นโรค โดยเป็นอาการที่เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่ง/สารที่ก่อการแพ้ อาจมีเฉพาะอาการซึ่งแสดงออกทางผิวหนัง หรือมีอาการทางเนื้อเยื่อ/อวัยวะระบบอื่นๆร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับความรุน แรงของสาเหตุ เช่น บวม แน่นหน้าอก หรือ ความดันโลหิตต่ำ/หน้ามืด โดยลักษณะอาการทางผิวหนัง จะเป็นผื่นบวมนูน สีออกขาว ล้อมรอบด้วยผื่นสีแดง ผู้ป่วยมักมีอาการคันถึงคันมากในตำแหน่งผิวหนังบริเวณเกิดผื่น หรือถ้าเป็นมากจะรู้สึกแสบร้อนที่ผื่น แต่ผื่นมักหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง

ลมพิษ

ลมพิษมีกี่ประเภท? มีสาเหตุจากอะไร?

การจัดแบ่งประเภทของลมพิษสามารถแบ่งได้ 2 แบบ คือ

  1. แบ่งโดยอาศัยระยะเวลาที่เป็นโรค

    ถ้ามีอาการไม่เกิน 6 สัปดาห์จัดเป็นลมพิษเฉียบพลัน แต่ถ้ามีอาการต่อเนื่องนานกว่า 6 สัปดาห์ จัดเป็นลมพิษเรื้อรัง

  2. แบ่งตามสาเหตุ โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการลมพิษที่พบบ่อย ได้แก่
    • สาเหตุทางกายภาพ (physical) สาเหตุจาก สสาร และ/หรือพลังงาน หรือ ได้แก่ ความเย็น ความร้อน แสงแดด การสั่นสะเทือน การกดทับ การขูดขีดที่ผิวหนัง
    • การออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง การเล่นเทนนิส
    • การสัมผัสสารบางอย่าง เช่น ยาง เนื้อดิบ ปลา พืชผักบางชนิด
    • การสัมผัส หรือ การดื่มแอลกอฮอล์
    • จากการที่อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น เช่น จากการออกกำลังกาย
    • การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารทะเล หรือ อาหารรสจัด
    • ยาบางชนิด เช่น ยาลดไข้แอสไพริน หรือ ยาปฏิชีวนะบางชนิด
    • โรคบางชนิด เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ (โรคไทรอยด์) โรคพยาธิ หรือติดเชื้อราบางชนิด
    • บางครั้ง แพทย์หาสาเหตุไม่พบ

 

พบลมพิษบ่อยไหม?

ลมพิษเป็นกลุ่มอาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อยมาก จากการศึกษาพบว่า ในผู้ใหญ่ประ มาณ 25% เคยมีอาการของลมพิษอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต แต่มีเพียงประมาณ 3% ที่เป็นลม พิษเรื้อรัง และประมาณ 35% ของลมพิษมีสาเหตุจากสาเหตุทางกายภาพ

อาการลมพิษ พบได้ทุกเพศทุกวัย พบได้บ่อยที่สุดในช่วงอายุ 20-40 ปี เพศหญิงพบลมพิษเรื้อรังมากกว่าเพศชาย และสาเหตุของลมพิษเรื้อรังอาจเกิดจากโรคทางภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรค หรือจากสาเหตุทางกายภาพ เช่น จากการขูดขีดหรือการกดทับที่ผิวหนังเรื้อรัง

ความเครียดทำให้เป็นลมพิษได้ไหม?

มีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบความเกี่ยวเนื่องระหว่างระบบประสาท-ระบบต่อมไร้ท่อ-ระ บบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ที่อาจเป็นสาเหตุของลมพิษ โดยพบว่าความเครียดทำให้มีการหลั่งของสารเคมีบางชนิด และสารเคมีนั้นๆจะไปกระตุ้นเซลล์ชนิดหนึ่งในร่างกายที่อยู่ในเนื้อเยื่อผิว หนังและในเนื้อเยื่อต่างๆ ซึ่งเรียกว่าเซลล์มาสต์ (Mast cell) ทำให้เซลล์นี้แตกตัว หลั่งสารฮิสตามีน (Histamine) ออกมา ซึ่งสารฮิสตามีนเป็นสารสำคัญที่ทำให้เกิดลมพิษ

แพทย์วินิจฉัยลมพิษได้อย่างไร?

สิ่งสำคัญที่สุดในการวินิจฉัยโรคลมพิษคือ การสอบถามประวัติอาการ ประวัติการแพ้สิ่งต่างๆ และการตรวจร่างกาย ทั้งนี้เพื่อพยายามหาสาเหตุและปัจจัยกระตุ้น บางรายอาจจำเป็น ต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือดทั่วไปเพื่อดูความเข้มข้นของเลือดและปริมาณเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ตรวจเลือดเกี่ยวกับโรคทางภูมิคุ้มกันต้านทาน ตรวจเลือดดูโรคไทรอยด์ ตรวจอุจจาระหาพยาธิ และ/หรือ ทำการทดสอบที่ผิวหนังเพื่อหาสารก่ออาการ ที่เรียก ว่า สะกินเทส (Skin test) หรือเจาะเลือดส่งตรวจภาวะแพ้อาหาร (Food allergy) ทั้งนี้การตรวจเพิ่มเติมต่างๆจะขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

รักษาลมพิษได้อย่างไร?

สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาลมพิษคือ ต้องพยายามหาและหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษ ดังนั้นสิ่งที่มีความสำคัญมากคือ ข้อมูลจากผู้ป่วย ถึงกระนั้นก็ตาม ส่วนใหญ่จะไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษได้แน่นอน ถึงแม้ว่าจะถามประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละ เอียด และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการดังกล่าวแล้ว ดังนั้นมักต้องใช้ยาในการรักษาเพื่อบรรเทาอาการคันของผู้ป่วย โดยทั่วไปจะเริ่มต้นจากยาทาประเภทคาลาไมน์โลชั่น (Calamine lotion) ซึ่งเป็นแป้งน้ำผสมเมนทอลเพื่อให้เย็น เพื่อลดอาการคัน หรือทาแป้งเย็นหรือประคบผ้าเย็นก็ได้ ถ้ายังมีผื่นขึ้นอยู่ก็รับประทานยาต้านฮิสตามีน โดยรับประทานชนิดที่ไม่ง่วงในตอนเช้า เพื่อไม่รบกวนการทำงาน และรับประทานชนิดที่ทำให้ง่วงในตอนกลางคืน เพื่อจะได้ไม่เกาเวลานอนหลับ ถ้ายังไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือมีอาการทางเนื้อเยื่อ/อวัยวะระบบอื่นๆร่วมด้วย เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ปวดท้องหรือถ่ายเหลว เป็นลมหน้ามืด ควรปรึกษาแพทย์ หรือพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

ต้องงดอาหารบางอย่างไหม?

มีงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยลมพิษประมาณ 30% มีอาการดีขึ้นเมื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีวัตถุเจือปนประเภทที่แต่งสี กลิ่น รส นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงสุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม

ลมพิษหายขาดไหม?

พบว่าผู้ป่วยจำนวนมากอาจเป็นลมพิษเป็นๆหายๆต่อเนื่องได้นานถึง 1-5 ปี บางการศึก ษารายงานว่าผู้ป่วยประมาณ 50% หายจากลมพิษหลังจาก 3 เดือน และ 80% หายหลังจาก 1 ปี อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยประมาณ 11% หายหลังเป็นลมพิษนานถึง 5 ปี ส่วนใหญ่ลมพิษที่เกี่ยวกับโรคทางภูมิคุ้มกันต้านทาน จะเป็นต่อเนื่องนานกว่าลมพิษเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุ

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีผื่นคัน ลักษณะคล้ายลมพิษ ควรรีบพบแพทย์ เมื่อ

  • มีผื่นลมพิษรุนแรง หรือ คันมาก อาการไม่หาย หรือไม่ดีขึ้น ด้วยการดูแลตนเองในเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว
  • มีอาการบวมตามเนื้อตัวมาก
  • มีผื่น นานเกิน 1-2 วัน
  • ร่วมกับมีไข้
  • เมื่อกังวลในอาการ

ควรพบแพทย์ฉุกเฉิน เมื่อ

  • มีผื่นร่วมกับอาการบวมบริเวณลำคอจนหายใจติดขัด
  • รู้สึกหน้ามืด เป็นลม

 

ป้องกันลมพิษได้อย่างไร?

การป้องกันลมพิษ ที่สำคัญ คือ

  • หลีกเลี่ยงสิ่ง หรือ สารต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ที่รู้ว่าเป็นสาเหตุ
  • สังเกตตนเองเสมอในเรื่องต่างๆ เพื่อหาสิ่ง หรือ สารที่อาจกระตุ้นให้เกิดลมพิษ
  • ระมัดระวังการกินยาต่างๆ เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด เพราะอาจเป็นสาเหตุได้
  • ควรแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าที่แผนกเอกซเรย์ (การตรวจทางเอกซเรย์บางชนิด อาจมีการฉีดสี ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดลมพิษได้) เสมอว่า เคยเป็นลมพิษ เพื่อหลีกเลี่ยงการกินยา หรือ การตรวจที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดลมพิษ

 

บรรณานุกรม

  1. The EAACI/GALEN/EDF/WAO guideline : definition, classification and diagnosis of urticaria. Allergy 64 Issue 10, 1417-26 (Oct 2009).
  2. Urticatia: an update. http://www.allergyclinic.co.nz/guides/73.html (April, 2011).
  3. สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย. Clinical practice guideline: urticaria/angioedema.