ลมชัก:ลมชักในผู้สูงอายุ

ลมชักในผู้สูงอายุ

โรคลมชักพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย และปัจจุบันพบได้บ่อยขึ้นในผู้สูงอายุ ยิ่งสังคมไทยในปัจจุบันเป็นสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นเราต้องรูเกี่ยวกับโรคลมชักในผู้สูงอายุอย่างดี เพื่อการดูแลคนที่เรารัก และเป็นที่เคารพของเรา อย่าพลาดครับ ต้องติดตามและศึกษาให้ดี

สำคัญอย่างไร

  • ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดโรคลมชักได้สูงขึ้น เพราะมีความผิดปกติของสมอง จากภาวะสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง ความผิดปกติของระบบอื่นๆ เช่น เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจตีบ ไตเสื่อม เป็นต้น
  • มักพบร่วมกับปัญหาสุขภาพ หรือโรคร่วมอื่นๆ ด้วยเสมอ ส่งผลให้การรักษา การเลือกชนิดยากันชัก การติดตามผลการรักษา และผลข้างเคียงต้องทำอย่างใกล้ชิด
  • พบอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการชักได้ง่าย เนื่องจากกลไกของร่างกายในการป้องกันตนเองทำได้ไม่ดี กระดูกหักง่าย อยู่บ้านคนเดียว ไม่มีคนคอยดูแล
  • เกิดผลข้างเคียงจากยาได้ง่าย เพราะมีโรคร่วม และการทำงานของตับ ไตที่ไม่สมบูรณ์

รูปแบบการชักที่แตกต่างจากวัยอื่นๆ

  • อาการชักอาจเป็นแบบสับสน เป็นๆ หายๆ หรืออาการล้มบ่อยๆ หลง ลืมเป็นๆ หายๆ แขน ขาอ่อนแรง เป็นๆ หายๆ หรือแม้กระทั่งอาการกระดูกหัก ข้อต่อเคลื่อนหลุดโดยหาสาเหตุไม่พบ
  • การบันทึกรายละเอียดของอาการผิดปกติทำได้ยาก เนื่องจากผู้สูงอายุจำเหตุการณ์ไม่ได้ อยู่คนเดียว หรือความจำไม่ดี ยิ่งส่งผลต่อการได้ประวัติที่ละเอียดเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค จึงทำให้การวินิจฉัยมักทำได้ยากกว่าวัยอื่นๆ

สาเหตุของอาการชักก็แตกต่าง

  • สาเหตุที่พบบ่อย คือ โรคหลอดเลือดสมองทั้งชนิดสมองขาดเลือด และเลือดออกในสมอง
  • โรคเนื้องอกสมองทั้งชนิดที่เริ่มในสมองเอง หรือกระจายมาจากอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
  • เกิดจากเลือดออกในชั้นเยื่อหุ้มสมองดูรา (subdural หรือ epidural hematoma) โดยที่ไม่ได้ประวัติการล้มหรืออุบัติเหตุที่สมองชัดเจน ส่งผลให้การวินิจฉัยหาสาเหตุทำได้ยาก
  • เกิดจากภาวะผิดปกติของเกลือแร่ชนิดต่างๆ น้ำตาลสูงหรือต่ำมาก เกลือโซเดียมต่ำ แคลเซียมสูง
  • ภาวะติดเชื้อในสมอง โดยที่ไม่มีไข้ ปวดศีรษะ
  • การหาสาเหตุในผู้สูงอายุทำได้ยาก เพราะมักจะไม่มีรายละเอียดการเจ็บป่วย หรือมีโรคร่วมหลายชนิดที่อาจทำให้เกิดอาการชักได้ง่าย

การรักษามีความเฉพาะ

  • การหาสาเหตุที่ทำได้ยาก ส่งผลให้การรักษาเริ่มได้ล่าช้า
  • การเลือกยากันชัก ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจเกิดปัญหาการตีกันระหว่างยากันชักและยาที่ใช้เป็นประจำในการรักษาโรคร่วม
  • ต้องเลือกยากันชักที่มีผลข้างเคียงต่ำสุด โดยเฉพาะอาการง่วง ซึม วิงเวียน มึนศีรษะ ความจำไม่ดี เป็นต้น
  • เลือกยากันชักที่ทานน้อยครั้ง เพื่อเพิ่มความสม่ำเสมอในการทานยา
  • การรักษาที่ดี ต้องมีลูก หลานหรือคนดูแลในการทานยากันชัก เพื่อความสม่ำเสมอในการทานยา บางครั้งผู้สูงอายุจะจำไม่ได้ว่าทานยาหรือยัง ส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผลดี อาจเกิดการทานยาเกินขนาดก็ได้ หรือทานไม่ครบ พบได้ทั้งสองแบบ จึงต้องมีผู้ดูแลการทานยาให้ดีครบถ้วน ตรงเวลา และสม่ำเสมอ

อาการชัก โรคลมชักในผู้สูงอายุรักษาหาย เพียงแค่ลูกๆ ใส่ใจใกล้ชิดกับท่านให้มากขึ้น