ลมชัก ฉันรักเธอ ภาค2 : เมื่อน้องออยซึมเศร้า

ลมชักฉันรักเธอ2

การเรียนภาควิชา com-med (เวชศาสตร์ชุมชน) จบไปโดยที่หนูรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยได้ทำงานอะไรเลย ส่วนมากมีแต่ทำตามที่รุ่นน้องในกลุ่มบอก ส่วนหนึ่งคือหนูไม่ค่อยเห็นด้วยกับหัวข้องานวิจัยที่เป็นมติของกลุ่ม ไม่ค่อยมีใครฟังความคิดเห็นของหนู สุดท้ายงานวิจัยก็เก็บข้อมูลได้ไม่ถึงครึ่ง และยังสรุปผลวิจัยไม่ได้ หนูมองจุดนี้ออกตั้งแต่แรกแล้วค่ะ แต่ทำไม? ทำไมไม่มีคนฟังหนูเลยคะ?

ต่อไปหนูขึ้นเรียน eye (แผนกจักษุ) คาบแรก ต้องจับคู่กันตรวจ ophthalmoscope (อุปกรณ์การตรวจตา จอประสาทตา) และหนูก็เป็นคนเดียวที่ไม่มีคู่

หนูรู้สึกว่าหนูไม่สนิทกับใครเลยค่ะ ถึงแม้หนูจะคุยกับรุ่นน้องในกลุ่มได้ทุกคน และก็ไม่ใช่ทุกเรื่องที่หนูสามารถคุยได้ และเขาก็ไม่ได้สนใจหนูเท่าไหร่นัก

ทุกอย่างดำเนินไปราวกับว่าหนูเป็นคนไม่มีตัวตน จนมาถึงวันนี้...

หนูไม่มีความสุขเลยค่ะ หนูเบื่อชีวิตตัวเองมากๆ จนไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว หลายครั้งที่หนูพยายามทำสิ่งที่หนูชอบ ไปดูหนัง ช็อปปิ้ง ออกกำลังกาย เรียนเต้น แต่หนูก็ไม่รู้สึกสนุกกับมันเลย บางทีก็ทำให้หนูดีขึ้นนิดหน่อย วันๆ ไม่อยากทำอะไร นอกจากนอนอยู่เฉยๆ ไม่หลับ แต่คิดนู่นคิดนี่ไปเรื่อยเปื่อย

ทุกเช้าหนูตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกไม่อยากทำอะไรเลย แต่ด้วยหน้าที่ หนูก็ต้องไปเรียน ทุกวันที่ขึ้นวอร์ด หนูรู้สึกว่าตัวเองไม่มีพลัง เรียนไม่รู้เรื่อง จำอะไรไม่ได้ ไม่อยากคุยกับใคร ไม่กระตือรือร้นที่จะดูคนไข้เหมือนเมื่อก่อน จิตใจอ่อนล้าลงทุกวัน จนช่วงหลังหนูไม่สามารถบังคับตัวเองให้ไปเรียนได้ หรือแม้แต่ทำอะไรต่างๆ นานาที่หนูเคยชอบ

แต่ละวัน เกือบทั้งวันหมดไปกับการแอบหลบไปนอนเฉยๆ อยู่คนเดียว

ระยะเวลาร่วมสองเดือนกว่าแล้วที่หนูรู้สึกว่า ไม่มีวันไหนเลยที่หนูมีความสุข จนความคิดหนึ่งผุดขึ้นในสมอง "ถ้าชีวิตไม่มีความสุขแบบนี้ แล้วจะอยู่ไปทำไม?"

ใจหนึ่งบอกว่าอย่าทำ เรายังมีคนที่รักเราอยู่ แต่อีกใจคิดว่า คนที่รักเราคงไม่อยากเห็นเราหดหู่อยู่ทุกวันหรอก ยิ่งเห็นเขาคงจะยิ่งทุกข์ไปด้วย ให้หนูตายไปเลยไม่ดีกว่าหรือ หนูจึงคิดจะจบชีวิตลงด้วยการกระโดดตึก หนูลองเดินไประเบียงชั้นสูงๆ หลายจุดของโรงพยาบาลและอาคารเรียน มองลงไป แล้วจินตนาการว่าโดดลงไปแล้วหนูจะเป็นอย่างไร หนูจะตายไหม

คงเป็นเพราะกุศลกรรมที่เคยทำไว้ดลบันดาลให้สติกลับคืนมา สติที่รับรู้ว่า 'ฉันกำลังจะฆ่าตัวตาย' ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ทั้งๆ ที่ใจอยากทำจนแทบจะควบคุมร่างกายตัวเองไม่อยู่ หนูรู้ว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ตอนนี้เราตกอยู่ในอันตราย จากการปล่อยให้อารมณ์เศร้าครอบงำจิตใจจนหาทางออกไม่ได้ หนูต้องมองหาคนช่วยเหลือแล้ว วันรุ่งขึ้นหนูรีบวิ่งไปห้องตรวจจิตเวชทันที ขอปรึกษาอาจารย์สักคนหนึ่ง ใครก็ได้ที่พอจะช่วยหนูได้ หนูได้พบอาจารย์นิรมล ซึ่งเห็นว่าหนูทานยา antidepressant (ยาต้านเศร้า) มาระยะหนึ่งแต่อาการยังไม่ดีขึ้น จึงแนะนำให้หนูทำ cognitive behavioral therapy (การรักษาด้วยการจิตบำบัดแบบหนึ่ง ด้วยการปรับพฤติกรรม วิธีคิด)

วันนัดติดตามการรักษาที่ห้องตรวจจิตเวช หนูปรึกษาอาจารย์สุวรรณา แต่เนื่องจากวิธีนี้ต้องใช้เวลานาน อาจารย์ต้องดูแลคนไข้เยอะมาก และไม่ค่อยมีเวลาว่าง หนูจึงได้ไปพบอาจารย์อีกท่านหนึ่ง "อาจารย์สุชาติ" เพื่อนเก่า (แต่ยังเก๋า)ของป๊าตั้งแต่สมัยเรียนที่ศิริราช

อาจารย์สุชาติได้เปลี่ยนยาให้หนู และนัดมาคุยกันบ่อยๆ อาจารย์คุยกับหนูเยอะมาก มีคำถามละเอียดมากตลอด บางอย่างหนูก็ตอบไม่ได้ จนหนูต้องหยุดคิดสักพักจึงนึกออก แล้วก็ค่อยๆ รู้ว่า สิ่งที่หนูคิดไม่ออกนั่นแหละ คือสิ่งที่หนูมองข้าม คือ ปมของปัญหาที่หนูยังแก้ไม่ออก ทุกครั้งหลังจากคุยกับอาจารย์ หนูต้องกลับไปนั่งคิด ปรับอารมณ์ พฤติกรรม และนิสัยของตัวเองอีกมาก หนูทำตามที่อาจารย์บอกทุกอย่าง และหวังว่าทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้น

แต่ผลข้างเคียงของยาใหม่ก็ทำให้ช่วงแรกที่ทานยาหนูมีอาการซึมเศร้ามากกว่าเดิม เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน และนอนไม่หลับ อาจารย์บอกว่าอาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้นหลังจากทานยาไปสักระยะหนึ่ง หนูก็ได้แต่บอกตัวเองว่า อดทน ต้องสู้ อย่าท้อ อย่า ยอมแพ้ ประมาณเดือนกว่าๆ หนูก็เริ่มกลับมาเป็นเหมือนเดิม ความรู้สึกก็ดีขึ้น เริ่มมีความหวัง มีกำลังใจขึ้นมาอีกครั้ง ตัวตนของหนู ความสุข ความสดใสร่าเริง ความมีชีวิตชีวาได้กลับมาแล้ว

หนูยังคงต้องไปพบอาจารย์สุชาติบ่อยๆ เพื่อปรับความคิดต่างๆ และยังต้องกินยาสม่ำเสมอ ตอนนี้หนูรู้สึกดีขึ้นมากๆ เลยค่ะ

จะว่าไป การไปพบจิตแพทย์มันก็เป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง เมื่อชีวิตถึงทางตัน มันไม่ใช่เรื่องน่าอายอย่างที่ใครคิด และมันทำให้หนูค่อยๆดีขึ้นเรื่อย จนเริ่มกลับมาเป็นหนูออยคนเดิมแล้วค่ะ

ข้อคิดเห็นจากหมอสมศักดิ์

ปัญหาทางสุขภาพจิตในผู้ป่วยโรคลมชักเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมาก ทั้งที่รุนแรงและไม่รุนแรง สาเหตุอาจเกิดจากโรคที่เป็น การยอมรับของคนรอบข้าง ทัศนคติและวิธีคิดของครอบครัว ตัวผู้ป่วยเอง

กรณีของน้องออยนั้นน่าจะมีจากหลายๆ สาเหตุ ทั้งความเครียดที่เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆจากการเรียนที่หนัก อาการที่ยังมีเป็นระยะ รวมทั้งความคาดหวังของน้องออยจากน้องๆ ที่ร่วมเรียนและฝึกงานด้วยกัน เนื่องจากมีการเปลี่ยนกลุ่ม ต้องมีการปรับตัวเข้ากันทั้ง 2 ฝ่าย งานที่เร่งรีบ เพราะต้องทำวิจัยให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ หลายๆ อย่างที่กล่าวมาทั้งหมดก็เป็นเหตุให้น้องออยมีภาวะซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้าที่พบได้ในผู้ป่วยนั้น นอกจากโรคที่เรื้อรัง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตแล้ว ยากันชักที่ได้รับก็มีผลด้วย ยาที่น้องออยได้รับ คือ ยาลีวีไทลาซีแทม (levetiracetam) การรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยลมชักเองก็ไม่ง่าย เพราะยาที่ใช้รักษาส่วนใหญ่แล้วก็อาจส่งผลต่อการเกิดอาการชักได้ง่ายขึ้น การรักษาที่สำคัญจึงต้องแก้ไขในทุกๆ อย่างที่อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการรักษาอาการชักให้ดี แก้ไขความเครียด ปรับพฤติกรรม การปรับทัศนคติและอื่นๆ ที่สามารถทำได้

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า คือ การคิดทำร้ายตนเอง จากหลายๆ การศึกษาในผู้ป่วยลมชักพบว่ามีการพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตในผู้ป่วยลมชัก

การพบจิตแพทย์เพื่อให้คำปรึกษาในปัญหาสุขภาพจิตนั้นเป็นสิ่งที่คนไข้ไทยยังไม่คุ้นเคย เมื่อผมแนะนำให้พบจิตแพทย์ มักจะพบปัญหาที่ผู้ป่วยและญาติไม่ยอมพบจิตแพทย์ เพราะยังไม่เข้าใจว่าการพบจิตแพทย์มีประโยชน์อย่างไร กลัวว่าคนจะหาว่าเป็นผู้ป่วยโรคจิตหรือคนบ้า จริงแล้วการพบจิตแพทย์เพื่อให้คำปรึกษาและแก้ปัญหา ให้คำแนะนำต่างๆ ก็ช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นอย่างมาก

โชคดีที่น้องออยได้เพียงแต่คิด ไม่ได้ลงมือทำร้ายตนเอง มิฉะนั้นก็จะเกิดเรื่องเศร้าขึ้นที่ไม่สามารถแก้ไขได้ การดูแลผู้ป่วยลมชักนั้นจะต้องให้ความสนใจปัญหาสุขภาพจิตด้วยเสมอ มิฉะนั้นอาจเกิดเรื่องเศร้าขึ้น