My Epilepsy Diary ลมชัก…..ฉันรักเธอ ตอนที่ 3: เรื่องราวในวัยมัธยม

ตอนนั้นหนูเป็นนักกิจกรรมตัวยงเลยก็ว่าได้ หนูทำกิจกรรมในโรงเรียนและนอกโรงเรียนมากมาย เช่น เล่นดนตรี ร้องเพลง ทำละครโรงเรียน ทำกิจกรรมเพื่อการกุศล เข้าค่าย แต่หนูไม่เคยทิ้งการเรียน การเรียนอยู่ในระดับดี ไม่ถึงกับเก่งมาก แต่หนูก็มีความสุขกับชีวิต มีเพื่อนมากมาย นอกจากนี้ ตอน ม.3 หนูยังได้ค้นพบความสามารถของตัวเองอีกอย่างหนึ่ง คือความถนัดด้านการคำนวณ ทำให้หนูมีความสุขมากกับการเรียนวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ในช่วง ม.ปลาย หนูไม่ค่อยถนัดวิชาท่องจำ แต่ก็ตั้งใจเรียนมาตลอด ส่วนวิชาอังกฤษก็พอมีทุนเดิมจากที่เรียนตอนประถมอยู่แล้ว การเรียนช่วงมัธยมจึงแทบไม่มีปัญหาเลย

มันเคยมีปัญหาอยู่ 2 ช่วงเท่านั้น ช่วงแรก คือช่วง ม.6 เทอมต้น หลังจากช่วงม.5 ที่ชีวิตกำลังรุ่ง ทั้งได้รางวัลคุณธรรมดีเด่น สอบแข่งคณิตได้ที่1ของโรงเรียน ได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันวิชาต่างๆ เป็นนักไวโอลินที่เก่งที่สุด พอถึงปีสุดท้ายของม.ปลาย ก็เริ่มมีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้ความเครียดเพิ่มมากขึ้น แทบจะละทิ้งกิจกรรมทุกอย่างไปเลย ช่วงนั้นมีเรื่องให้เครียดหลายเรื่อง ทั้งเรื่องทำแฟ้มงานหาย โดนคุณครูว่า พ่อแม่ก็ไม่เข้าใจปัญหา ทะเลาะกับเพื่อนในกลุ่ม ต้องเตรียมตัวสอบเข้า สอบแข่งขัน ต้องอ่านหนังสือหนักมาก พักผ่อนน้อยจนภูมิแพ้กำเริบ แต่แม้ว่าจะอ่านหนังสือมากเท่าไร การสอบแข่งขันทุกอย่างในช่วงนั้นกลับร่วงไม่เป็นท่า ตอนนั้นจำได้แค่ว่า ทำไมเราทำข้อสอบไม่ค่อยทัน ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ ข้อสอบยากกว่านี้ก็เคยทำทัน สนามใหญ่กว่านี้เราก็เคยสู้ได้

อีกช่วงหนึ่งคือช่วงก่อนสอบพื้นฐานวิศวกรรม เนื่องจากเป็นคนชอบวิชาคำนวณมาก จึงทำคะแนนวิชาฟิสิกส์และคณิตได้ดี และจากการทำข้อสอบเก่ามาประมาณ 20 ปี ก็พอจะชำนาญในการทำข้อสอบแล้ว ประเมินเวลาที่จะใช้ทำข้อสอบได้ รู้ว่าทำทันแน่ๆ เลยคาดหวังไว้สูง แต่พอมาสอบจริง ข้อสอบก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิมมาก แต่ทำได้น้อยกว่าที่คิดไว้ ด้วยเหตุผลเดิมคือ ทำไม่ทัน

แต่กลับกัน วันที่มาสอบเข้าคณะแพทย์ วันนั้นไม่ได้เครียดเลย ยังอ่านชีววิทยา ไทย สังคม ไม่จบเสียด้วยซ้ำ อาศัยแต่ความรู้เดิมที่เคยตั้งใจเรียนในห้อง ทำข้อสอบเสร็จเร็วกว่าที่คิดไว้ แต่คิดว่าคงไม่ติดแน่ เพื่อนๆคงมีความรู้แน่นกว่าเรามากมาย พอวันประกาศผล จนถึงบัดนี้ก็ยังงงอยู่เลย ว่ามีชื่อของหนูอยู่ในรายชื่อนักเรียนที่สอบผ่านได้อย่างไร

และนี่.. คือที่มาของนักศึกษาแพทย์คนนี้ค่ะ

บทสรุป อาการชักจะมีอาการบ่อยมากขึ้นถ้ามีความเครียด พักผ่อนไม่พอ อดนอน ดังนั้นผู้ป่วยลมชักต้องพยายามพักผ่อนให้พอ ไม่เครียด เด็กที่เป็นโรคลมชักนั้นสามารถทำกิจกรรม เรียนหนังสือได้เหมือนเด็กทั่วไป แม้ว่าจะเป็นโรคลมชักก็สามารถเรียนรู้ได้ดี เป็นคนเก่งและดีได้ ทนความเครียดได้เหมือนคนทั่วไป ถ้าใจมุ่งมั่นก็ประสบความสำเร็จได้โดยโรคลมชักไม่เป็นอุปสรรค ปัจจุบันผมมีโอกาสดูแลนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาคณะอื่นๆเกือบทุกคณะในมหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่าเด็กที่เป็นลมชักก็สามารถเรียนหนังสือ ทำกิจกรรมต่างได้เหมือนเด็กคนอื่นๆ