My Epilepsy Diary ลมชัก…..ฉันรักเธอ ตอนที่ 21: ผลข้างเคียงของยากันชัก

วันนี้เป็นวันสุดท้าย และเป็นวันสอบของวิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู เวลา 2 สัปดาห์ ทำไมมันช่างสั้นเหลือเกิน

อาจารย์คะ หนูรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูกเลย วันนี้หนูทำข้อสอบได้ทันเวลา และทำได้เยอะกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

เมื่อมองไปรอบๆ ตัว สิ่งต่างๆ ก็ดูสวยงามขึ้นกว่าที่เคย อาจจะเพราะกาลเวลาทำให้หนูมีประสบการณ์มากขึ้น และทำให้มุมมองของหนูเปลี่ยนไป ช่วงเวลาที่ผ่านมา ถึงจะเครียดน้อยลง แต่ลึกๆ ในใจ ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าเพื่อนอยู่ดี ตอนนี้มันไม่ใช่แบบนั้นแล้วค่ะ ยิ่งได้เห็นคนไข้ที่หอผู้ป่วยนี้ ทำให้หนูมีกำลังใจขึ้นมาก

คนไข้ในหอผู้ป่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูส่วนใหญ่ก็เป็นคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่น stroke (โรคหลอดเลือดสมอง)และอุบัติเหตุที่ไขสันหลัง (spinal cord injury) ส่วนคนไข้โรคอื่นๆ ที่ต้องทำกายภาพบำบัดมักจะนัดมาทำเป็นครั้งคราวมากกว่า

คนไข้ที่หนูได้รับให้ดูแลเป็นคุณตาอายุ 74 ปี เป็นโรคอัมพาต กระดูกเอวเสื่อม (ischemic stroke, spinal stenosis) และ BPH (โรคต่อมลูกหมากโต) ทำให้มี right hemiparesis (อ่อนแรงซีกขวา), ขาสองข้างอ่อนแรง (paraparesis) และปัสสาวะไม่ออก (urinary retention)

งานเข้าแล้วค่ะทีนี้ ทำไมต้องเป็นหนูด้วย เพื่อนๆบางคนได้รับคนไข้ stroke อย่างเดียว ไม่ก็ spinal cord injury อย่างเดียว ของหนูมีครบในคนเดียวเลย และเพื่อนแทบทุกคนเคยมีประสบการณ์ในการเขียนรายงานคนไข้ stroke มาตั้งแต่อยู่กองอายุรกรรมแล้ว แต่หนูไม่เคยเลย ทำอย่างไรดี มีเวลาเขียนเพียง 5 วันเท่านั้น

ไหนๆเราก็ได้รับผิดชอบ คนไข้รายนี้แล้ว ก็คงต้องเขียนรายงาน ถ้าชีวิตจริงเราก็คงเลือกไม่ได้ ว่าคนไข้ที่มาหาเราจะเป็นโรคอะไร จะมาด้วยกี่โรค ถึงจะยากกว่าคนไข้ของเพื่อน แต่หนูก็ได้ความรู้มากขึ้น ได้ทักษะการตรวจร่างกายมากกว่าด้วย เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกมาสามสี่ตัวเลย

และแล้วรายงานของหนูก็เสร็จ แม้ว่าอาจจะไม่สมบูรณ์อย่างที่หนูคิดไว้ แต่ก็ได้ข้อมูลที่สำคัญครบถ้วน

หลังจากทำกายภาพมา 2 สัปดาห์ คุณตาเริ่มนั่งเองได้ จับช้อนกินข้าวได้ แต่ยังหล่นบ่อยๆ จากที่ทำอะไรไม่ได้เลย ตอนนี้ยกแขนขวาขึ้นได้แล้ว แต่ขาของคุณตายังอ่อนแรง ตอนนี้เริ่มฝึกยืน ฝึกปั่นจักรยาน

หนูชอบไปเล่นกับคุณตามาก “คุณตาคะ กำนิ้วหนูแน่นๆ อย่าให้หนูดึงออกได้เด้อ” ไม่ก็เอามือดันขาคุณตาไว้ “คุณตา แตะขาออกมา ออกแรงสู้กัน” ญาติก็ช่วยเชียร์กันเต็มที่

ทุกเช้าหนูไปราวด์วอร์ดด้วยความอยากรู้ว่าวันนี้คุณตาเป็นอย่างไรบ้าง หนูเล่นกับคุณตาเช่นเคย “อ้าว วันนี้ทำไมหนูดึงนิ้วไม่ออกแล้วล่ะจ๊ะตา อู๊ย.. แรงดีนะเนี่ย” และญาติก็เข้ามาบอกอย่างดีใจด้วยว่า “วันนี้คุณตาใส่เสื้อแบบสวมหัวได้แล้ว เมื่อวานฝึกยืนก็ยืนได้นานขึ้น” หนูยิ้มให้คุณตา แค่ได้ยินว่าคุณตาใส่เสื้อเองได้ก็รู้สึกดีแล้ว

มีวันหนึ่งหนูได้เรียนเรื่องอุปกรณ์การช่วยเดิน (gait aid) ที่ห้องกายภาพบำบัด ได้ลองใช้อุปกรณ์หลายอย่าง พอดีญาติคุณตาเข็นรถเข็นคุณตาเข้ามาฝึกปั่นจักรยานพอดี เลยทักคุณตาเล่นๆ

“คุณตา อยากลองใช้อันนี้ไหมคะ” หนูถามขณะกำลังลองเดินโดยใช้โครงเหล็กช่วยเดิน (walker frame)

คุณตาเห็นแล้วก็ยิ้มก่อนจะตอบหนู “อยากลองอยู่จ๊ะ”

นอกจากคุณตา หนูยังได้เห็นคนไข้อีกหลายคน มีวัยรุ่นบ้าง วัยทำงานบ้าง ส่วนใหญ่จะพิการเพราะอุบัติเหตุ เห็นเขาเดินได้ก็ดีใจ หนูรู้สึกว่าเราโชคดีกว่าเขาเยอะ อย่างน้อยร่างกายเราก็ยังมีครบถ้วน เลยคิดซะว่า “ทำกิจกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ADL(Activities of daily living) ได้ก็หรูแล้ว”

นั่นสินะ ขนาดคนไข้เหล่านี้เข้ามาตอนแรก ADL ก็ยังทำไม่ได้ ตอนนี้ทำได้หลายอย่างแล้ว แต่กว่าจะได้ก็ต้องฝึกฝน ใจเย็น ฝึกเรื่อยๆ ทำทุกวัน แล้วทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ

แล้วทำไมหนูถึงจะทำให้ตัวเองดีขึ้นไม่ได้

ตั้งแต่หนูทานยากันชักมา หนูมีปัญหากับผลข้างเคียงมากมาย อย่างที่หนูเคยเล่าให้ฟังไปแล้ว ตอนนี้หนูพยายามฝึกตัวเองเพื่อสู้กับผลข้างเคียงต่างๆ และมันก็เริ่มได้ผลจริงๆ

โชคดีที่หนูได้เริ่มฝึกตั้งแต่ช่วงที่ลาพักการเรียนวิชาอายุรศาสตร์ เพราะหนูได้ทำอะไรที่ต้องใช้ความคิดตลอดเวลา เช่น ทำงานศิลปะ คิดกิจกรรมกลุ่มให้คนไข้ ออกแบบปฏิทิน ช่วยพี่หน่อยแปลงานต่างๆ พาน้องๆ ทำขนม(ที่ห้องตรวจเด็ก)

อยู่ที่บ้านหนูจะซ้อมเปียโน ช่วงแรกๆ ก็ยากทีเดียว เพราะหนูอ่านโน้ตได้ช้ามาก โน้ตเปียโนต้องดูทีละ 2 บรรทัด เป็นของมือซ้ายและขวา ต้องเล่นให้ทั้งสองมือไปด้วยกัน แต่ก็ช่วยหนูมากในเรื่องการประสานงานและเชื่อมโยง (integrate) ข้อมูล(เวลาอ่านโน้ต) ฝึกใช้สมองทั้ง 2 ซีกพร้อมกัน และทำให้สมาธิดีขึ้น และตอนนี้หนูเริ่มไปเล่นฟิตเนสกับแม่ ตั้งใจว่าจะออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะได้แข็งแรงขึ้น ไม่เป็นภูมิแพ้บ่อยๆ ไม่เครียดง่าย

หนูยังไม่เคยเล่าให้อาจารย์ฟังเลย ว่ายามีผลต่อการทรงตัว การประสานงาน (balancing, coordination) เช่นกัน เนื่องจากไม่กระทบต่อชีวิตประจำวันของหนูเท่าไรนัก แต่ก็ทำให้หนูเต้นแจ๊สและบัลเล่ต์บางท่าที่ต้องใช้ทักษะการทรงตัวมากไม่ค่อยได้

การเต้นเลยกลายเป็นสิ่งที่ฝึกยากที่สุด หนูเคยหมุนตัวอยู่บนปลายเท้าข้างเดียวได้หลายรอบโดยไม่ล้ม แต่ตอนนี้หนูทำได้เพียงรอบเดียว พยายามฝึกทรงตัวบนขาข้างเดียวมาเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่พอหมุนทีไรก็ยังเซทุกที หนูเลยฝึกโยคะไปด้วย ไหนๆก็ได้เรียนจากเวชศาสตร์ฟื้นฟูด้วย ก็เอามาใช้เป็นประโยชน์เสียเลย ถึงหนูเคยเล่นโยคะมาก่อน แต่บางท่าที่ทรงตัวยากๆ เคยทำได้แล้วก็ทำไม่ได้ หนูจะพยายามฝึกไปเรื่อยๆ คนไข้ทำได้ หนูก็ต้องทำได้ค่ะ

คุณตา และคนไข้อีกหลายๆคนที่หอผู้ป่วยนี้ ทำให้หนูรู้สึกมีกำลังใจมากขึ้นจริงๆ ขอบคุณนะคะ

บทสรุป ยากันชักมีผลข้างเคียงมากไม่ว่าจะเป็นความง่วงนอน การทรงตัวและความคิดอ่านช้าลง ผู้ป่วยต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ แต่จะทนทานได้เมื่อเวลาผ่านไปและควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อการปรับยาให้เหมาะสม การได้ทราบถึงปัญหาของผู้อื่นที่รุนแรงกว่าเราและนำมาสร้างกำลังใจให้แก่ตนเอง ผมว่าเป็นวิธีหนึ่งที่คนเราทุกคนควรนำมาใช้เมื่อประสบปัญหาใดๆที่ว่ารุนแรงสำหรับเรา แต่เราจะพบว่าเมื่อเรานำปัญหาที่เราพบนั้นไปเทียบกับของคนอื่นๆแล้ว สิ่งที่เราเรียกว่าปัญหาอาจไม่ใช่เลยก็ได้