My Epilepsy Diary ลมชัก…..ฉันรักเธอ ตอนที่ 12: ดนตรีบำบัด

วันนี้หนูไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรดี งั้นหนูจะขอพูดถึง ลมชัก กับ ดนตรี ก็แล้วกันนะคะ

สองอย่างนี้อาจดูไม่เกี่ยวข้องกันเท่าไรนัก แต่สำหรับหนูแล้ว มันมีความหมายมากมายกับชีวิตของหนูจริงๆ

ช่วงที่หนูทนทุกข์อยู่กับอารมณ์หม่นหมองของตัวเองอยู่ประมาณครึ่งเดือน ไม่พูดไม่จากับใคร ไม่กลับบ้าน ไม่ทำอะไรอื่นนอกเหนือไปจากกิจกรรมการเรียน และกิจวัตรประจำวันอื่นๆ มีสิ่งหนึ่งที่พอจะทำให้หนูรู้สึกผ่อนคลายลงได้บ้าง คือการที่ได้เล่นไวโอลินอยู่คนเดียว

อาจารย์โฉมพิลาศเป็นคนแนะนำให้หนูกลับมาเล่นดนตรีอีกครั้ง หลังจากที่หนูไม่ได้เล่นมาช่วงหนึ่ง และไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถเยียวยาสภาพจิตใจของหนูได้ถึงเพียงนี้

หนูเริ่มเรียนดนตรีตอนอายุ 3 ขวบ และสามารถอ่านโน้ตสากลได้ตั้งแต่ก่อนอ่านหนังสือออกเสียอีก ดนตรีจึงเป็นเสมือนส่วนหนึ่งในชีวิตที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะเวลารู้สึกเหงาและหดหู่เช่นนี้ ดนตรีคือเพื่อนที่ไม่เคยจากไปไหน

ในเวลาที่หนูไม่กล้าที่จะระบายความรู้สึกบางอย่างให้ใครฟัง หนูสามารถระบายความอัดอั้นตันใจผ่านเสียงดนตรีออกมาได้ ถึงแม้บางคนอาจจะไม่เข้าใจ แต่ความทุกข์ในใจก็เบาบางลงไปเยอะ

ต้องขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ของหนู ที่ส่งเสียให้หนูได้เรียนดนตรีมาตั้งแต่เด็ก และขอบคุณน้าชายของหนูที่ซื้อไวโอลินตัวนี้ให้หนู หากหนูไม่ได้เล่นไวโอลินในช่วงนั้น หนูอาจจะรู้สึกแย่กว่านี้ หรือไม่ก็คงป่วยเป็นโรคทางจิต สุดท้ายก็จบลงด้วยการกินยาเหมือนโรคอื่นๆ และหนูคงเบื่อตายเลย แค่นี้ก็ขี้เกียจกินยาอยู่แล้ว

และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หนูเริ่มศึกษาเรื่องดนตรีบำบัดอย่างจริงจัง ที่จริงหนูสนใจเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนจะเข้ามาเรียนแพทย์ และหลังจากที่เข้ามาเรียนแพทย์แล้ว ดนตรีบำบัดก็ยังเป็นศาสตร์หนึ่งที่หนูอยากเรียนมาจนถึงปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้หนูเคยหาข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีบำบัดมาบ้างเล็กน้อย เอาไว้ทำการนำเสนอ (presentation) บ้าง ทดลองใช้กับตัวเองบ้าง ตอนนี้หนูลาพักการเรียนไปแล้ว มีเวลาว่างมากขึ้น ถึงเวลาที่หนูจะได้ศึกษามันอย่างจริงจังเสียที แม้จะไม่ได้เป็นทางการก็ตาม และสิ่งที่หนูอยากรู้มากที่สุดในตอนนี้ คือ ดนตรีมีผลต่อโรคลมชักอย่างไร

งานวิจัยล่าสุดของแพทย์และนักดนตรีบำบัดชาวไต้หวัน ซึ่งได้ทำการวิจัยในเด็กที่เป็นโรคลมชัก ได้ทดลองให้เด็กกลุ่มหนึ่งฟังเพลง Sonata for 2 Pianos (K 448) ของ W.A. Mozart แล้วทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองก่อนฟังเพลง ขณะฟังเพลง และหลังฟังเพลง พบว่า สามารถลดการเกิดคลื่นชักในสมอง ในช่วงที่ฟังเพลงและหลังฟังเพลงได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฟังเพลง โดยคลื่นชักในสมองจะพบน้อยที่สุดในขณะฟังเพลง เมื่อลองให้ผู้ป่วยในกลุ่มทดลองฟังเพลงนี้ทุกวันตอนก่อนนอน เป็นเวลา 8 นาที ติดต่อกัน 6 เดือน พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการชักเลย หรือมีอาการชักลดลง ในช่วงระยะเวลาที่ได้ฟังเพลง จึงน่าเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจมีการนำดนตรีมาใช้เป็นการรักษาร่วมกับยากันชัก (adjunctive therapy) ในการรักษาผู้ป่วยลมชัก

ก่อนหน้านี้เพลงนี้เคยนำมาใช้ทดลองในเด็กสมาธิสั้น ก็พบว่าสามารถทำให้เด็กเหล่านี้มีสมาธิมากขึ้น และเพิ่มความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ (spatial temporal reasoning) และด้านการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีเพลงอื่นอีกมากมายที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กได้ โดยเฉพาะเพลงคลาสสิค ซึ่งจะมีลักษณะพิเศษหลายอย่างที่ต่างจากเพลงประเภทอื่น

แต่ที่น่าแปลกคือ เพลง Mozart K 448 นี้ เมื่อนำมาบรรเลงใหม่โดยใช้ไวโอลิน ด้วยทำนองและความเร็วเท่าเดิม พบว่าไม่มีผลต่อการลดคลื่นชักในสมอง เนื่องจากมีคลื่นความถี่ของเสียงดนตรี (frequency harmonics) ที่แตกต่างกัน

ดนตรีเป็นสิ่งที่สะท้อนอารมณ์ของมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์เข้าใจในความรู้สึกของตนเอง ดนตรีที่แตกต่างกันจึงทำให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป

หนูคิดว่า หนูอยากใช้ความรู้ทางดนตรีที่หนูมีอยู่มาทดลองใช้กับผู้ป่วยบ้าง แต่ยังไม่มีโอกาสเสียที หนูตั้งใจจะเตรียมเพลงที่ฟังง่าย ให้ความรู้สึกสบาย และมีความหมายที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจชีวิต และทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจมากขึ้น และหนูคิดว่าจะลองนำมาใช้ที่คลินิกโรคลมชักเป็นครั้งแรกค่ะ

ที่จริงก็กลัวอยู่ว่า จะมีคนไข้บางคนที่เป็นลมชักประเภทชักด้วยการกระตุ้นด้วยเสียงดนตรี (musicogenic epilepsy) อยู่เหมือนกัน ซึ่งการชักของผู้ป่วยประเภทนี้จะถูกกระตุ้นได้ด้วยดนตรีบางชนิด แต่ก็พบได้น้อยมาก

งั้นหนูคงต้องขออนุญาตอาจารย์ก่อนละกันนะคะ

บทสรุป วิธีการควบคุมอาการชักได้ดี นอกจากยาแล้ว อาจเสริมด้วยดนตรีที่ช่วยให้เราผ่อนคลาย ใจสงบเป็นสุขและมีสมาธิ กระแสประสาทจะเป็นคลื่นแอลฟ่าที่มีความเป็นจังหวะ ไม่ช้าเกินไป ไม่เร็วเกินไป การนำกระแสประสาทก็ไม่สะดุด นำได้คล่องแล่นดี การที่น้องออยนำดนตรีมาใช้เล่นเพื่อผ่อนคลาย และก่อให้เกิดประโยชน์กับอาการชักที่ตนเองเป็นอยู่ด้วย เหมือนกับการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว