My Epilepsy Diary ลมชัก…..ฉันรักเธอ ตอนที่ 10: การศึกษาด้วยตนเอง

“ เธอ อ่านอะไรอยู่น่ะ “

หนูละสายตาจากหนังสือเล่มหนาหนักอึ้ง เงยหน้าขึ้นมองเจ้าของเสียงที่แสนคุ้นเคย เพื่อนสนิทของหนูถามด้วยความสงสัย หลังจากที่หนูตัดสินใจพักการเรียนอย่างเป็นทางการแล้ว แต่กลับมานั่งอ่านหนังสืออย่างจริงจังที่ห้องสมุด

หนูยิ้มให้เพื่อน พลางพลิกหน้าปกหนังสือตำราโรคลมชัก (Textbook of Epilepsy) ให้เพื่อนเห็น แล้วส่งสายตาไปยังกองหนังสือเล่มหนาอีก 3-4เล่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับลมชักทั้งหมด เท่านี้เพื่อนหนูคงได้คำตอบแล้ว แต่ก็คงจะงงน่าดู ว่าทำไมต้องอ่านอะไรเยอะมากมายขนาดนี้

“อ่านเพื่อเอาไปอธิบายให้ป๊าฟังน่ะ แต่อ่านยังกะจะไปเรียนต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา (neuromed) เลยว่ามั้ย”

เพื่อนคนนี้สนิทกับหนูมากและรู้เรื่องครอบครัวของหนูพอสมควร เขาคงเข้าใจในสิ่งที่หนูกำลังทำอยู่ จึงไม่ได้ถามอะไรต่ออีก

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่นักศึกษาแพทย์ปี 4 จะต้องอธิบายเรื่องโรคลมชักให้อาจารย์แพทย์ระดับหัวหน้าภาควิชาศัลยกรรมกระดูก ผู้ที่ทั้งมีความสามารถ เชื่อมั่นในตนเอง และผ่านประสบการณ์มามาก เพียงแต่อาจจะไม่ค่อยมีประสบการณ์ด้านการรักษาผู้ป่วยลมชักเท่านั้น และที่สำคัญ อาจารย์ท่านนี้เป็นคุณพ่อของหนูเองเสียด้วย

ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่ว่าหนูเองจะรู้อะไรไปมากกว่าป๊า ยกเว้นแต่ว่าได้เป็นคนไข้เอง จึงอาจจะเข้าใจอะไรมากกว่าเล็กน้อย แต่หนูก็ยังเรียนไม่จบ ยังไม่เคยเห็นคนไข้ลมชักคนอื่นเลยด้วยซ้ำ

ตั้งแต่ลาพักการเรียน หนูจึงใช้ความรู้เดิมและความสามารถทั้งหมดที่มี ทุ่มเทเวลาส่วนหนึ่งให้กับการศึกษาเกี่ยวกับโรคลมชักอย่างจริงจัง นอกเหนือจากเวลาช่วงเวลาเรียนปกติ ที่หนูก็ยังคงมาเข้าร่วมกับเพื่อนๆเช่นเดิม

หนูหาข้อมูลจากทั้ง internet หนังสือหลายเล่มในห้องสมุด งานวิจัยที่เกี่ยวกับโรคลมชัก อาการต่างๆ ของโรคลมชักแต่ละชนิด การตรวจและวินิจฉัยโรคลมชัก การอ่านคลื่นไฟฟ้าสมอง ที่หนูเองก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการอ่าน จำได้แค่ว่า คลื่นปกติเป็นอย่างไร เพราะเคยเรียนในวิชาสรีรวิทยา (Physiology) ตอนปี 2 คลื่นไฟฟ้าสมองมีความไวและความจำเพาะ (EEG sensitivity & specificity) แนวทางการรักษาโรคลมชักแบบต่างๆ และยากันชักแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร มีกลไกอย่างไร

ก่อนหน้านี้ หนูเคยคิดจะเรียน neuromed อยู่เหมือนกัน เพราะเรื่องระบบประสาทเป็นเรื่องที่หนูชอบที่สุดตอนเรียนชีววิทยา และหนูก็ชอบวิชากายวิภาคระบบประสาท (neuroanatomy) แต่หนูอาจจะไม่มีความสามารถพอที่จะไปถึงจุดนั้น เพราะหนูยังมีวิชาที่หนูยังเรียนไม่ผ่าน และยังไม่รู้เลยว่าหนูต้องใช้เวลาอีกกี่ปีจึงจะจบ สิ่งที่หนูทำอยู่ตอนนี้ หนูไม่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ว่าต้องรู้มากขนาดไหน และหนูไม่ได้เครียดกับมัน หนูอยากรู้เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวหนูเองโดยตรง ยิ่งอ่านมากก็ทำให้หนูสนใจและอยากรู้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เป้าหมายหลักของหนูก็คือ ทำให้ป๊าเข้าใจโรคลมชักให้ได้

หนูพยายามหาความรู้และข้อมูลที่น่าเชื่อถือให้ได้มากที่สุด และยังต้องพยายามทำความเข้าใจด้วยตนเอง หนูถ่ายทอดทุกสิ่งทุกอย่างที่หนูรู้ให้ป๊าฟัง ไม่น่าเชื่อว่า ป๊าจะฟังหนูอย่างตั้งใจ ไม่ขัดจังหวะหนูสักครั้ง และป๊ายังถามหนูเมื่อสงสัยอีกด้วย แต่บางอย่างหนูก็ไม่สามารถตอบได้

“ป๊าคะ ตรงนี้หนูยังไม่รู้หรอก แต่เดี๋ยวจะไปหามาให้นะคะ หรือไม่งั้นป๊าก็ลองถามอาจารย์ดูก็ได้ อาจารย์เก่งกว่าหนูตั้งเยอะ หนูนัดอาจารย์ไว้ให้แล้วนะคะ”

“ได้ๆ เดี๋ยวป๊ากับแม่จะไปคุยกับอาจารย์อาทิตย์หน้า แต่ยังไง ป๊าก็ยังอยากฟังลูกอธิบายนะ” ป๊าตอบ

“ทำไมล่ะคะ หนูมีความรู้แค่นี้เอง”

“ก็เพราะลูกเป็นลูกป๊าไง”

บทสรุป การที่ผู้ป่วยโรคลมชัก พยายามศึกษาหาความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้โดยตรง จะช่วยให้เขารู้จักตนเอง รู้จักโรคที่เป็น มีความหวังและให้ความร่วมมือกับการรักษาดีมาก อย่างไรก็ดีการศึกษาด้วยตนเองของผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีข้อจำกัด และอาจสับสนได้ถ้าเกิดความเข้าใจผิด ดังนั้นถ้าผู้ป่วยศึกษาด้วยตนเองแล้วมีข้อสงสัยต้องถามจากแพทย์อีกครั้ง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง