ลมชัก (Epilepsy)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 21 มกราคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- โรคลมชักเกิดได้อย่างไร? มีอะไรเป็นสาเหตุ/ปัจัยเสี่ยง?
- แพทย์วินิจฉัยโรคลมชักได้อย่างไร?
- รักษาโรคลมชักอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยขณะชักและหลังชักอย่างไร?
- ต้องรักษานานเท่าไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- โรคลมชักรักษาหายไหม?
- ผู้ป่วยโรคลมชักควรใช้ชีวิตอย่างไร?
- ป้องกันโรคลมชักได้ไหม?
- อิ่นๆ
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- ลมชักในผู้หญิง (Epilepsy in women)
- อุบัติเหตุจราจรกับโรคลมชัก (Traffic accident and epileptic patients)
- ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยในโรคลมชัก (Common misunderstood in epilepsy)
- ลมชักชนิดเหม่อ (Absence seizure)
- โรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวี (Epilepsy in HIV Patient)
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
บทนำ
โรคลมชัก (Epilepsy) เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยโรคหนึ่ง ความชุกประมาณ0.67% ของประชากร ประมาณว่าคนไทยทั่วประเทศ เป็นโรคลมชักประมาณ 450,000 คน ประ ชาชนโดยทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจต่อโรคลมชักไม่มาก อาทิเช่น ทราบเพียงว่าโรคลมชักคือ โรคลมชักบ้าหมู หรือ “โรคลมบ้าหมู” เท่านั้น
โรคลมชัก แตกต่างจากการชักจากสาเหตุต่างๆ คือ อาการชักจากโรคลมชัก ต้องมีอา การ ชัก เกร็ง กระตุก กัดลิ้น น้ำลายฟูมปาก ซึ่งทั้งนี้ จริงๆแล้ว โรคลมชักเอง มีอาการชักได้หลายชนิดได้แก่
1. การชักเกร็งกระตุกทั้งตัวและหมดสติ (โรคลมชักบ้าหมู)
2. การชักชนิดนั่งนิ่ง เหม่อลอย
3. การชักชนิดทำอะไรโดยไม่รู้สึกตัว
4. การชักกระตุกเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายและรู้สึกตัวดี
และ 5. การชักชนิดล้มลงกับพื้นทันที
ลักษณะสำคัญของการชักในโรคลมชักทุกชนิดคือ การที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทดังกล่าวข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 30 วินาที ถึง 3 นาที อา การนั้นหายได้เอง แต่อาการเหล่านั้นจะเกิดซ้ำๆและอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งจะมีลักษณะคล้ายๆกัน
โรคลมชักเกิดได้อย่างไร? มีอะไรเป็นสาเหตุ/ปัจัยเสี่ยง?
โรคลมชักเกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมองซึ่งมีหลายสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น
- อุบัติเหตุต่อสมอง
- โรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพาต)
- โรคติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ)
- โรคเนื้องอกสมอง
- โรคพยาธิตัวตืด เช่น ตืดหมู ตืดวัว
- การดื่มเหล้าปริมาณมากหรือการหยุดดื่มเหล้าทันทีในผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง
- โรคกลีบสมองบริเวณขมับฝ่อ
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตามการถ่ายทอดทางพันธุกรรมมีโอกาสเกิดน้อยมาก
- อื่นๆที่เพิ่มโอกาสเกิดอาการชัก เช่น
- ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคไข้ชักในวัยเด็ก
- ได้รับอุบัติเหตุที่สมองอย่างรุนแรง
- ได้รับการผ่าตัดสมอง
แพทย์วินิจฉัยโรคลมชักได้อย่างไร?
ผู้ป่วยที่มีอาการชักและแพทย์สงสัยว่าเป็นโรคลมชักจะได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง(EEG, Electroencephalogram) เพื่อยืนยันว่ามีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมองเข้าได้กับโรคลมชักหรือไม่ ในบางกรณีถ้าผู้ป่วยมีอาการชักผิดปกติชัดเจนที่แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยได้เลยก็ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
ถ้าผลการตรวจยืนยันว่าเป็นโรคลมชัก ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือตรวจแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (เอมอาร์ไอ) ซึ่งสามารถบอกรายละเอียดของสมองได้ดีกว่าการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ซึ่งการตรวจภาพดังกล่าวเพื่อหาสา เหตุของการเกิดโรคลมชัก
รักษาโรคลมชักอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยขณะชักและหลังชักอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคลมชักจะได้รับการรักษาด้วยยากันชักเป็นระยะเวลานานประมาณ 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี เพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการชักอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปีนับตั้งแต่ควบคุมอา การชักได้ และกรณีที่มีสาเหตุ เช่น เนื้องอกสมองติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) ต้องได้รับการรักษาแก้ไขสาเหตุนั้นๆร่วมด้วย
การปฏิบัติตัวให้ถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญในการรักษา ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง“สิ่งกระตุ้น” ต่างๆที่อาจก่อให้เกิดอาการชัก เช่น
- การอดนอน
- การดื่มแอลกอฮอล์
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ภาวะไข้สูง
- การเล่นกีฬาหรือทำงานจนเหนื่อยมาก
- การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน
- การขาดยากันชัก ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งทุกวันให้ครบถ้วน ถูก ต้อง
อนึ่ง สำหรับผู้ป่วยที่ต้องขับรถควรหลีกเลี่ยงเพราะถ้ามีอาการชักขณะขับรถจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
บางกรณีผู้ป่วยจะมีอาการเตือนก่อนที่จะมีอาการชัก เช่น ปั่นป่วนในท้อง จุกแน่นหน้าอก ชามือ แขน-ขา หรือกระตุกก่อนที่จะมีอาการชักเกร็ง กระตุกทั้งตัวและหมดสติ ดังนั้นเมื่อเริ่มมีอาการเหล่านี้ ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลได้แนะนำไว้ เช่น ต้องอยู่ในที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการล้ม ชัก แล้วเกิดอุบัติเหตุซ้ำ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา อาจเกิดอาการชักขึ้นได้ การช่วยเหลือที่ถูก ต้องต่อผู้ป่วยที่กำลังชัก คือ การป้องไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและป้องกันการสำลักโดยการจับผู้ป่วยนอนลงในที่ปลอดภัย จัดตะแคงศีรษะไปด้านข้างเพื่อป้องกันการสำลักน้ำลาย คลายเสื้อผ้าให้หลวม ไม่ควรงัดปากผู้ป่วยเพื่อนำช้อน นิ้วมือ หรือวัสดุใดๆใส่เข้าไปในปากของผู้ป่วย เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือ ไม่ควรกดหน้าอก ท้องหรือยึดรั้งแขนขาผู้ป่วย ที่สำ คัญผู้ช่วยเหลือควรตั้งสติตนเองให้ดี
ภายหลังการหยุดชักทุกครั้งไม่จำเป็นต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพราะส่วนใหญ่การชักจะหยุดได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษาใดๆ จะนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชักนานมากกว่า 5-10 นาทีและไม่รู้สึกตัวหรือชักนานกว่าทุกครั้งที่มีอาการ หรือมีอุบัติ เหตุเกิดขึ้นในขณะชัก เช่น ล้มลงศีรษะแตก เป็นต้น
ต้องรักษานานเท่าไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
ผู้ป่วยโรคลมชักต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอย่างน้อย 2 ปีนับตั้ง แต่ไม่มีอาการชัก โดยหลังจากนั้นแพทย์จะค่อยๆลดขนาดยาลงครั้งละ 15-20% ทุกๆ 1-2 เดือน จนกระทั่งหยุดยากันชักได้
เนื่องด้วยเป็นการรักษาในระยะยาวแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอทุก 1-3 เดือน ขึ้นอยู่กับผลการรักษาว่าควบคุมอาการชักได้หรือไม่ และมีอาการชักบ่อยเพียงใด ดัง นั้นผู้ป่วยจึงควรต้องพบแพทย์ตรงตามนัดสม่ำเสมอตลอดไป จนกว่าแพทย์จะอนุญาตว่า ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์แล้ว
โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยมาตรวจตามนัด เพื่อประเมินอาการชักและประ เมินการใช้ยาว่ามีผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากยาหรือไม่ รวมทั้งความสม่ำเสมอในการรับประ ทานยากันชัก
แต่กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชักบ่อย รุนแรงมากขึ้นหรือได้รับอุบัติเหตุจากการชัก หรือมีผลแทรกซ้อนจากยาที่ผิดไปจากเดิม หรือมีผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรง หรือมีอาการผิดปกติต่างๆที่ต่างไปจากเดิม หรือมีความกังวลในอาการ แนะนำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด
โรคลมชักรักษาหายไหม?
ผู้ป่วยโรคลมชัก 80-90% ตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยากันชัก มีเพียงส่วนน้อยที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคลมชัก มักใช้ในกรณีมีสาเหตุจากเนื้องอกสมอง และกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากันชัก โดยแพทย์จะผ่าตัดบริเวณสมองส่วนกลีบขมับ (Tempo ral lobe) โดยประมาณ 70% ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดสามารถควบคุมอาการชักได้
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชักและไม่เหมาะกับการผ่าตัด บางส่วนจะตอบ สนองต่อการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical stimulation) ไว้ที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 โดยมีเครื่องควบคุมการปล่อยกระแสไฟฟ้าอยู่ภายนอกสมองเพื่อควบคุมอาการชัก
ผู้ป่วยโรคลมชักควรใช้ชีวิตอย่างไร?
โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก จะมีความสามารถเหมือน และในระดับสติปัญญาไม่ต่างกับคนทั่วไป ยกเว้นที่มีอาการชักที่รุนแรง และบ่อยมาก ร่วมกับมีรอยโรคหรือสาเหตุที่รุน แรงในสมอง ก็ส่งผลต่อระดับสติปัญญาได้เช่นกัน ดังนั้นในการใช้ชีวิต การเรียน และการทำ งาน การปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษา จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยในการเลือกวิธีดำรงชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
สำหรับอาหารนั้นโดยปกติแล้วไม่มีอาหารแสลงหรืออาหารต้องห้าม นอกเสียจากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่ต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น อาหารแป้งและหวานในผู้ป่วยมีโรคเบาหวานร่วมด้วย เป็นต้น
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคลมชักไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับชา และกาแฟ หรือเครื่องดื่มอื่นๆที่มีกาเฟอีนนั้น ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า มีผลต่อผู้ป่วยโรคลมชัก แต่จากประสบ การณ์ของผู้เขียนเองพบว่า มีผู้ป่วยที่ดื่ม ชา กาแฟ อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ ดังนั้นผู้ป่วยต้องสังเกตผลกระทบในแต่ละกรณีของอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดต่างๆด้วยตนเอง แล้วปรับตัวไปตามนั้น
ผู้ป่วยที่รับประทานยากันชักนั้น ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยาชนิดอื่นๆร่วมด้วย ควรต้องแจ้งให้แพทย์ที่รักษาโรคอื่นๆทราบว่า ผู้ป่วยรับประทานยากันชักอยู่ เพราะยากันชักนั้นมีโอกาสทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นๆได้ง่าย และห้ามหยุดยากันชักเองอย่างเด็ดขาดโดยไม่ปรึกษาแพทย์ที่รักษาโรคลมชักก่อน
ผู้ป่วยชายโรคลมชัก สามารถแต่งงานและมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ สำหรับผู้ป่วยหญิงโรคลมชัก สามารถแต่งงานและมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติเช่นกัน แต่ต้องมีการวางแผนครอบ ครัวที่ดี คือในระหว่างการรักษาที่ต้องรับประทานยากันชักยังไม่ควรตั้งครรภ์ เพราะยากันชักเกือบทุกชนิดอาจก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยทราบว่าตั้ง ครรภ์ ควรต้องรีบปรึกษาแพทย์ผู้รักษาโรคลมชัก ห้ามหยุดยากันชักหรือปรับเปลี่ยนชนิดและขนาดของยากันชักเอง เพราะอาจเป็นสาเหตุให้มีอาการชักที่รุนแรงจนอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์และต่อการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน
ในผู้ป่วยหญิงที่ยังไม่พร้อมจะตั้งครรภ์ ควรต้องปรึกษาสูติแพทย์ในเรื่องวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมเสมอ เพราะการใช้ยาคุมกำเนิด อาจมีปฏิกิริยากับยากันชัก อาจลดประสิทธิภาพของยากันชัก หรือยากันชักอาจลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดได้ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง บทบาทของการวางแผนครอบครัว)
กรณีที่ผู้ป่วยต้องเดินทาง ต้องมีความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะอาจเกิดอาการชักได้ง่ายเนื่องจาก เหนื่อย อดนอน อาจรับประทานยาไม่ตรงเวลา หรืออาจลืมนำยาไปด้วย ดังนั้นต้องพักผ่อนให้เพียงพอ และต้องไม่ลืมรับประทานยากันชัก
กรณีต้องไปโรงเรียน ควรต้องแจ้งให้คุณครูที่โรงเรียนทราบว่าเป็นโรคลมชัก แจ้งถึงอา การชักว่าเป็นแบบไหน และวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้องถ้าเกิดอาการชักขึ้น
ส่วนการทำงานนั้น สามารถทำงานได้เหมือนคนที่ไม่มีอาการชัก ยกเว้นการทำงานบนที่สูง และทำงานกับเครื่องจักรกล
โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป เพียงแต่ต้องมีระ เบียบในการดำรงชีวิต กล่าวคือ ต้องรับประทานยากันชักให้สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการชัก ไม่อดนอน ไม่นอนดึก ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และไม่ควรขับรถ
การศึกษาเกี่ยวกับโรคลมชัก โดยกลุ่มวิจัยโรคลมชักแบบบูรณาการของมหาวิทยาลัย ขอนแก่น พบว่า
- ผู้ป่วย 30% เคยประสบอุบัติเหตุขณะที่มีการชัก อุบัติเหตุที่พบบ่อยได้แก่ บาดแผลฟกช้ำ เนื้อเยื่อฉีกขาด อุบัติเหตุที่ศีรษะ ไฟไหม้น้ำร้อนลวก และกะโหลกศีรษะแตก โดยปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ การชักชนิดชักเกร็งกระตุกทั้งตัว การหมดสติ การชักแล้วล้ม และผู้ป่วยที่มีการชักบ่อยครั้ง
- ผู้ป่วย 67% ยังขับรถเป็นประจำ และ 25% เกิดอุบัติเหตุจากการขับรถเนื่องจากมีอาการชักขณะขับรถ ซึ่งผู้ป่วยโรคลมชักที่อยู่ระหว่างการรักษาไม่ควรขับรถ เล่นกีฬาทางน้ำ หรือกีฬาที่ต้องมีการปะ ทะกัน รวมทั้งการนอนดึก และการทำงานกับเครื่องจักรกล ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ จะส่งผลต่อคุณ ภาพชีวิตของผู้ป่วย
ป้องกันโรคลมชักได้ไหม?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคลมชัก แต่การหลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ที่หลีกเลี่ยงได้ จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคลมชักลงได้บ้าง เช่น การระมัดระวังอุบัติเหตุต่อสมอง การไม่ดื่มสุรา การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญ ญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ และการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
อนึ่ง ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ป้องกันการเกิดโรคลมชักได้ผลดี 100% และแพทย์ไม่นิยมที่จะให้ยาป้องกันการชัก แพทย์จะเริ่มให้ยารักษาอาการชักในโรคลมชักต่อเมื่อมีอาการชักเกิด ขึ้นแล้ว เพื่อป้องกัน/ลดโอกาสเกิดการชักซ้ำ
ในบางกรณี เช่น -การผ่าตัดสมองบริเวณส่วนผิวสมอง -หรือ เมื่อสมองได้รับการกระทบ กระเทือนอย่างรุนแรง แพทย์จะให้ยากันชักเพื่อลดโอกาสเกิดการชักจากสาเหตุเหล่านั้น
อื่นๆ
จากการศึกษาพบว่า อาการชักส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ได้แก่
- ผลกระทบต่อการทำงาน 54%
- ต่อความมั่นใจในตนเองเอง 51%
- ไม่กล้าอยู่คนเดียว 44%
- ต่อครอบครัว 43%
- ต่อการตั้งเป้าหมายในชีวิต 33%
เนื่องจากโรคลมชักเป็นโรคที่พบบ่อย ประชาชนทั่วไปและคุณครูมีโอกาสพบนักเรียนที่เป็นโรคลมชักมีอาการชักต่อหน้า และต้องให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้อง จากการศึกษาพบว่า
- 80% ของประชาชนทั่วไปจะนำวัสดุช้อน หรือนิ้วมือเพื่องัดปากผู้ป่วย และ
- 64% ของคุณครูก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน
ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้องและเพียง 1 ใน 3 ของประชาชนเท่านั้นที่รู้ว่าโรคลมชักต้องรับ ประทานยานาน 2 ปี
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ความรู้เรื่องโรคลมชักของประชาชนยังต้องการคำแนะนำที่ถูกต้อง ผู้ สนใจติดต่อขอรายละเอียดเกี่ยวกับโรคลมชักได้ที่ รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า กลุ่มวิจัยโรคลม ชักแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 40002 โทรศัพท์ 043-363-654, 081-050-4626 โทรสาร 043-347-542, e-mail:somtia@kku.ac.th, facebook.com/somsaktiamkao
Updated 2017,Dec30