ลดได้ ตัดได้ ผอมได้ (ตอนที่ 5)

ลดได้ตัดได้ผอมได้

หรืออาจเลือกการออกกำลังกายแบบหนัก (Vigorous-intensity activity) ให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 75 นาที เช่น

  • การวิ่ง (Running)
  • กีฬาแข่งขัน
  • การออกกำลังกายแบบวงจร (Circuit training)

การกินยาลดความอ้วน

มียาลดความอ้วนหลายตัวที่อยู่ระหว่างการทดลอง แต่ตัวที่ได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัยและได้ผลก็คือ ยา Orlistat ซึ่งเป็นยาลดความอ้วนที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยการยับยั้งเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายไขมันจากอาหารที่อยู่ในรูปไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นไขมันที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ ให้กลายเป็นกรดไขมันและกลีเซอรอลซึ่งมีขนาดโมเลกลุเล็กลง

เมื่อเอนไซม์ถูกยับยั้งจึงทำให้ไขมันยังคงอยู่ในลักษณะที่เป็นโมเลกุลใหญ่ จึงไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ ทำให้เกิดการขับถ่ายเป็นไขมันออกทางอุจจาระ ดังนั้น ยา Orlistat จะออกฤทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อมีอาหารที่มีไขมันอยู่เท่านั้น ไม่ว่าไขมันจะอยู่ในอาหาร นม หรือน้ำมันก็ตาม

การใช้ยา Orlistat จะต้องใช้ร่วมกับการกินอาหารที่มีประโยชน์และมีการออกกำลังกาย นอกจากนี้การใช้ยาจะต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ ซึ่งจะใช้กรณีที่ผู้ป่วยมี

  • ค่า BMI อยู่ที่ 28 หรือมากกว่า และมีปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนัก เช่น มีความดันโลหิตสูงหรือเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
  • ค่า BMI อยู่ที่ 30 หรือมากกว่า

โดยกินยาครั้งละ 1 แคปซูล สูงสุดวันละ 3 ครั้ง กินพร้อมหรือหลังอาหารไม่เกิน 1ชั่วโมง หากอาหารมื้อนั้นไม่มีไขมัน ก็ไม่จำเป็นต้องกิน และหากกินยาแล้ว 3 เดือน น้ำหนักยังไม่ลด ก็แสดงว่าไม่เหมาะกับวิธีนี้ ยกเว้นกรณีที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งจะใช้เวลาในการลดน้ำหนักที่นานขึ้น

อย่างไรก็ดี แพทย์จะไม่สั่งยา Orlistat ให้หญิงมีครรภ์หรือหญิงอยู่ระหว่างการให้นมบุตร

สำหรับผลข้างเคียงของการใช้ยา Orlistat ได้แก่

  • อุจจาระมีไขมัน
  • ควบคุมการขับถ่ายลำบาก
  • อุจจาระบ่อย
  • ปวดมวน ไม่สบายท้อง
  • ผายลม (Flatulence)
  • ปวดศีรษะ
  • ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เป็นหวัด

แหล่งข้อมูล

1. Obesity. http://www.nhs.uk/conditions/Obesity/Pages/Introduction.aspx [2017, April 4].