ลดได้ ตัดได้ ผอมได้ (ตอนที่ 4)

ลดได้ตัดได้ผอมได้

สำหรับการรักษาโรคอ้วนทำได้ด้วยการ

  1. กินอาหารที่มีประโยชน์
  2. ออกกำลังกาย
  3. กินยาลดความอ้วน
  4. ผ่าตัด

การกินอาหารที่มีประโยชน์

ไม่มีกฏการกินไหนที่สามารถใช้ได้กับทุกคน การลดน้ำหนักที่ปลอดภัยควรอยู่ที่สัปดาห์ละ 0.5-1 กิโลกรัม และส่วนใหญ่จะให้ลดแคลอรี่ลงที่ 600 ต่อวัน กล่าวคือ ผู้ชายไม่ควรกินมากกว่า 1,900 แคลอรี่ต่อวัน (จากปกติที่ 2,500) และผู้หญิงไม่ควรกินมากกว่า 1,400 แคลอรี่ต่อวัน (จากปกติที่ 2,000)

ซึ่งทางที่ดีที่สุดคือ การเลิกกินอาหารที่ไม่ก่อประโยชน์และให้พลังงานที่สูง เช่น ฟาสต์ฟู้ด อาหารผ่านกระบวนการ (Processed food) และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลรวมถึงแอลกอฮอล์ ทั้งยังให้กินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้

นอกจากนี้ ให้พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือสูง เพราะเกลือจะทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ที่เป็นโรคอ้วนอยู่แล้ว

สำหรับวิธีการจำกัดจำนวนอาหารที่บริโภคเพื่อให้น้ำหนักตัวลดลง (Fad diet) เช่น การอดอาหารเป็นเวลานาน นั้นควรหลีกเลี่ยง เพราะจะไม่สามารถช่วยเรื่องการลดความอ้วนในระยะยาว แต่อาจทำให้เจ็บป่วยได้

ส่วนวิธีการกินอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำมาก (Very low calorie diet = VLCD) กล่าวคือ แคลอรี่ต่ำกว่า 800 ต่อวัน อาจทำให้น้ำหนักลดเร็ว แต่ก็อยู่ได้ไม่นานหรือไม่ปลอดภัย การใช้วิธีนี้จะได้รับประโยชน์ในกรณีที่ต้องการลดน้ำหนักให้เร็วเพื่อลดอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอ้วน อย่างไรก็ดี ไม่ควรใช้วิธีนี้นานเกิน 12 สัปดาห์ในแต่ละครั้ง และควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น

การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นวิธีการลดแคลอรี่ของอาหารลง ซึ่งจะทำให้น้ำหนักลดได้ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันภาวะต่างๆ ได้อีก เช่น ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ร้อยละ 40

ผู้ใหญ่ควรออกกำลังกายปานกลาง (Moderate-Intensity Activities) ให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที หรือ 5 ครั้งๆ ละ 30 นาที เช่น

  1. การเดินเร็ว (Brisk walking)
  2. การขี่จักรยาน (Cycling)
  3. การว่ายน้ำ (Recreational swimming)
  4. การเต้นรำ (Dancing)

แหล่งข้อมูล

1. Obesity. http://www.nhs.uk/conditions/Obesity/Pages/Introduction.aspx [2017, April 4].