รู้เท่าทันโฆษณา สินค้าสุขภาพ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

รศ. ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ กล่าวว่าผู้บริโภคจึงต้องรู้เท่าทัน ไม่ใช่ว่ามีเงินจับจ่ายใช้สอยก็หาข้อมูลว่ากินอะไร ใช้สินค้าอะไรเพื่อให้สุขภาพดี แข็งแรงโดยไม่ต้องออกกำลังกาย หรือเสียเวลาน้อยแต่ได้ผลรวดเร็วที่สุด ตามโฆษณาที่แรงและโดนใจที่สุด จึงมีโฆษณามากมายที่ป่าวประกาศข้อมูลสินค้าเฉพาะคุณประโยชน์ และปิดบังโทษหรือผลข้างเคียง ในการเผยแพร่ผ่านทางสื่อหลักและสื่ออินเทอร์เน็ต

ตัวอย่างเช่นเรื่อง “ดีท็อกซ์” (Detoxification = การถอนพิษ) ที่ท่านคงเคยได้ยินเรื่องการล้างลำไส้ สวนทวารหนักด้วยกาแฟ คนที่ให้ข้อมูลและประยุกต์ใช้วิธีดังกล่าวไม่เคยเรียนด้านพิษวิทยา (Toxicology) มาก่อน แต่กลับให้ข้อมูลเหมือนเป็นผู้รู้ หรือบางคนจบแพทย์ในโรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อเสียง แต่ก็ใช้วิธี “ดีท็อกซ์” แปลกๆ กับคนไข้

อีกตัวอย่างคือการโฆษณาขาย เครื่องทำโอโซน ล้างผัก ผลไม้ ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ว่าฆ่าเชื้อโรคได้จริงหรือไม่ แต่คนขายพยายามพูดให้ผู้บริโภคกลัวว่าผัก ผลไม้ อาจมีการปนเปื้อน ทั้งที่ความจริงแค่ล้างผัก ปอกเปลือกผลไม้ ก็เพียงพอแล้ว ดังนั้นหากเห็นเว็บไซต์ขายของในลักษณะดังกล่าว อย่ารีบหลงเชื่อ ควรระมัดระวังว่าอาจจะมีการให้ข้อมูลเท็จ

หรือเรื่อง “น้ำมันมะพร้าว” ที่ฮือฮาบนโลกออนไลน์ว่า กินแล้วไม่อ้วน ก็ไม่เป็นความจริง คนที่กินแล้วไม่อ้วน คือ เขากินน้อย กินแล้วออกกำลังกาย เพราะถ้ากินแล้วไม่ทำอะไรเลย ไขมันอุดตันคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ขึ้นแน่ หรือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “เหรียญทำจากหินภูเขาไฟ” สินค้าสุขภาพนี้มีการขายไปทั่วโลก อ้างว่าทำให้คนแข็งแรง มีการลงทุนโฆษณามากมาย โดยเอาคนมีชื่อเสียงมาพูด เป็นการใช้มุกตัวอย่างคนไข้ที่ใช้ได้ผล

นอกจากนี้ โฆษณาที่ว่า “สารกาบ้า” ทำให้หลับง่าย ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะสารกาบ้าที่ได้จากการกิน ร่างกายจะไม่ดูดซึมเข้าสมอง อีกทั้งการที่คนๆ หนึ่งจะนอนหลับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ไม่มีเรื่องเครียด กลุ้มใจ ไม่บริโภคสารกระตุ้น เช่น กาเฟอีน

  • ผู้ประสานงานเรื่องการหลอกลวงด้านสุขภาพของคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA) ในสหรัฐอเมริกา มีคำแนะนำ [กาลามสูตร] สำหรับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพดังนี้
  • หากเป็นการรักษาที่ไม่เป็นที่รู้จัก ต้องหาความเห็นที่สองจากผู้อยู่ในวงการแพทย์ หรือคุยกับแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อื่นๆ
  • คุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว เพราะผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์ที่แท้จริงจะไม่ห้ามคนไข้จากการปรึกษาผู้อื่น ให้ระวังผู้เสนอการรักษาที่เป็นความลับ
  • ให้ตรวจสอบกับหน่วยงานเช่น Better Business Bureau [ของไทยก็อาจเป็น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค: สคบ.] หรือหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลเรื่องนี้ ว่ามีผู้บริโภคอื่นที่ร้องทุกข์เรื่องผลิตภัณฑ์หรือผู้ขายรายเดียวกันนี้หรือไม่
  • ตรวจสอบกับกลุ่มวิชาชีพแพทย์ที่เชื่อถือได้ ในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ สมาคมโรคหัวใจ (American Heart Association) สมาคมโรคเบาหวาน (American Diabetes Association) หรือ มูลนิธิข้ออักเสบแห่งชาติ (National Arthritis Foundation) หากเป็นยาที่ใช้กับโรคที่มีผู้ป่วยจำนวนมากและเชื่อถือได้จริง ก็มักจะมียาที่ผลิตในประเทศให้เลือกมากมาย
  • หากท่านประสบปัญหาการหลอกลวงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ต้องรายงานหน่วยงานของรัฐเช่น FDA [คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือ สคบ. ในประเทศไทย] เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภครายอื่น

แหล่งข้อมูล:

  1. รู้ทันข้อมูลอาหารและโภชนาการบนโลกออนไลน์ – คุณหมอขอบอก http://www.dailynews.co.th/article/1490/14215 [2012, March 15].
  2. How to Spot Health Fraud by Paula Kurtzweil. http://www.fda.gov/Drugs/EmergencyPreparedness/BioterrorismandDrugPreparedness/ucm137284.htm [2012, March 15].