รู้ตัวอีกที (ตอนที่ 1)

รู้ตัวอีกที-1

      

      จากกรณี แฟนเพจเฟซบุ๊ก หมอเมย์สู้มะเร็งระยะสุดท้าย ได้โพสต์ข้อความอาลัยถึงการจากไปของหมอเมย์ ผู้ป่วยแม่ลูกสองที่ตรวจพบป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจาย ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่เธอมีอาการป่วย เธอไม่ยอมแพ้และต่อสู้กับมะเร็งกระเพาะอาหารอย่างสุดความสามารถ (ระยะของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่แพร่กระจายอย่างมากอยู่ได้ไม่นานไม่เกิน 1 เดือน) กระทั่งล่าสุด เฟซบุ๊กแฟนเพจ หมอเมย์สู้มะเร็งระยะสุดท้าย ได้โพสต์ภาพและข้อความแจ้งข่าวร้าย โดยระบุว่า คุณหมอเมย์ได้จากไปอย่างสงบแล้ว

      กระเพาะอาหาร อยู่บริเวณช่องท้องส่วนบน มีหน้าที่ในการย่อยอาหาร เมื่อมีการกลืนอาหาร หลอดอาหาร (Esophagus) ที่เป็นกล้ามเนื้อจะค่อยๆ ดันอาหารให้ตกลงในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะมีการหลั่งน้ำย่อย (Gastric juices) ออกมาเพื่อย่อยอาหาร แล้วอาหารจะถูกเคลื่อนต่อไปย่อยต่อที่ลำไส้เล็ก

      โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach cancer / gastric cancer) เริ่มต้นที่เซลล์กระเพาะอาหารซึ่งมีการเจริญเติบโตผิดปกติ กลายเป็นเซลล์มะเร็ง และสามารถกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงหรืออวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ตับ กระดูก ปอด และรังไข่

      ส่วนใหญ่มะเร็งกระเพาะอาหารจะเป็นมะเร็งชนิดที่เรียกว่า มะเร็งชนิดต่อม (Adenocarcinoma) ซึ่งหมายความว่า มีจุดเริ่มต้นของมะเร็งเกิดขึ้นที่เนื้อเยื่อต่อม (Glandular tissue) ที่อยู่ข้างในกระเพาะอาหาร

      ทั้งนี้ ได้มีการประเมินว่า ในปี 2562 จะมีชาวอเมริกันป่วยเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารจำนวน 27,510 ราย และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 11,140 ราย ส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงวัย โดยร้อยละ 60 ของผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 64 ปี

      โดยส่วนใหญ่มักพบว่าเป็นโรคมะเร็งกระเพาะภายหลังจากที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายแล้ว ซึ่งอัตราการอยู่รอดหลัง 5 ปี (The 5-year survival rate) อยู่ที่ร้อยละ 31 อย่างไรก็ดี หากมีการตรวจพบก่อนที่จะลามออกไปนอกกระเพาะอาหาร อัตราการอยู่รอดหลัง 5 ปี จะอยู่ที่ร้อยละ 68

      ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งกระเพาะ ได้แก่

  • อายุ – ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่อายุมากกว่า 55 ปี
  • เพศ – ผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า
  • ติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H. Pylori)
  • ประวัติคนในครอบครัว – หากมีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นมากขึ้น นอกจากนี้โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางโรคก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะมากขึ้น แต่โรคเหล่านี้พบน้อยมากๆ เช่น โรคทางพันธุกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่างๆหลายชนิดรวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร(Hereditary diffuse gastric cancer, Lynch syndrome), โรคมะเร็งเต้านมและรังไข่ทางพันธุกรรม (Hereditary breast and ovarian cancer = HBOC), และ โรคทางพันธุกรรมติ่งเนื้อเมือกของลำไส้ใหญ่(Familial adenomatous polyposis = FAP) เป็นต้น

      

แหล่งข้อมูล:

  1. รู้จัก “โรคร้าย” พรากหมอเมย์ ไม่เจ็บปวด ลุกลาม รู้ตัวอีกที เหลือเวลาไม่นาน. https://www.thairath.co.th/content/1548733 [2019, April 28].
  2. Stomach Cancer: Introduction.https://www.cancer.net/cancer-types/stomach-cancer/introduction [2019, April 28].