ราก่อภูมิแพ้ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ราก่อภูมิแพ้

นอกจากอาการแพ้แล้ว เชื้อรายังอาจทำให้เกิดความเสี่ยงกับผู้ที่มีระบบภูมิต้านทานอ่อนแอ (Impaired immune systems) อย่างคนที่เป็นเอดส์ เช่น ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังหรือเยื่อเมือก (Mucus membranes)

แพทย์สามารถวิเคราะห์โรคนี้ได้ด้วยการทดสอบ ดังนี้

  • การทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง (Skin prick test) ซึ่งจะใช้สารก่อภูมิแพ้ที่น่าสงสัย เช่น เชื้อราในบริเวณที่อยู่ โดยระหว่างการทดสอบจะนำสารก่อภูมิแพ้มาจิ้มที่ผิวบริเวณแขนหรือหลัง ถ้ามีอาการแพ้ก็จะเกิดเป็นผื่นนูนเหมือนลมพิษบริเวณผิวที่ทดสอบ
  • การทดสอบเลือด (Blood test) หรือที่เรียกว่า การตรวจเลือดหาแอนติบอดีต่อสารก่อภูมิแพ้(Radioallergosorbent test = RAST) ด้วยการส่งตัวอย่างเลือดไปทดสอบในห้องแล้ป

การรักษาที่ดีที่สุดสำหรับอาการแพ้ก็คือ การหลีกเลี่ยงจากสิ่งกระตุ้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากเชื้อราเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างสมบูรณ์ จึงต้องมีการใช้ยาช่วยรักษาอาการ ซึ่งได้แก่

  • Nasal corticosteroids - ช่วยป้องกันการอักเสบของทางเดินหายใจ
  • Antihistamines – ช่วยลดอาการคัน จาม คัดน้ำมูก
  • Oral decongestants - ยาลดน้ำมูก ซึ่งไม่ควรใช้ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง (Hypertension) หรือมีอาการใจสั่น (Palpitations)
  • Decongestant nasal sprays - ไม่ควรใช้เกินวัน 3-4 ครั้ง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงเมื่อหยุดใช้ ทั้งยังทำให้ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ (Insomnia)
  • Montelukast - เป็นยาใช้รักษาอาการหอบหืด

นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยวิธี

  • Immunotherapy ซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนที่มีสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย วัคซีนที่ใช้ชนิดนี้จึงมีสูตรเฉพาะแตกต่างจากวัคซีนธรรมดาทั่วไป รวมไปถึงวิธีการฉีดด้วย เพราะไม่ใช่ฉีดเพียงครั้งเดียวแล้วหาย แต่จะมีการฉีดอย่างต่อเนื่อง โดยฉีดจากปริมาณน้อยๆ และเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขนาดที่ร่างกายเคยชินแล้วไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น จึงหยุดเพิ่มขนาดของวัคซีน และค่อยๆ เพิ่มระยะห่างของการฉีดวัคซีนออกไปเป็นทุกๆ 2 และ 3 สัปดาห์ จนถึงฉีดเพียงเดือนละครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นคงระดับสูงอยู่ได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ควรฉีดเดือนละครั้งไปนาน 3-5 ปี จึงจะพิจารณาหยุดฉีดได้
  • การล้างจมูก (Nasal lavage) ด้วยน้ำเกลือ เพื่อทำให้จมูกโล่งจากสารก่อการระคายเคือง (Irritant)

สำหรับคำแนะนำเพื่อการป้องกันเชื้อราก่อภูมิแพ้ในบ้าน มีดังนี้

  • กำจัดแหล่งที่ก่อให้เกิดความชื้น เช่น ท่อน้ำหรือบ่อบาดาลที่รั่วซึม เพื่อทำให้บริเวณนั้นๆ แห้ง
  • ติดเครื่องปรับอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศชนิด HEPA (High-efficiency particulate air) เพื่อดักสปอร์ที่อยู่ในอากาศไม่ให้เข้ามาในบ้าน
  • ติดตั้งเครื่องดูดอากาศในห้องน้ำเพื่อให้อากาศถ่ายเทและแห้งไว
  • อย่าใช้พรมกับห้องน้ำหรือชั้นใต้ดิน
  • ถอดหรือเปลี่ยนพรมและเบาะหนังที่มีเคยโดนน้ำเปียกชุ่ม หรือสิ่งของที่มีเชื้อราติดอยู่ เช่น ขอบหน้าต่าง ฯลฯ

แหล่งข้อมูล

1. Mold allergy. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/mold-allergy/basics/definition/con-20025806 [2015, December 5].

2. Moldhttp://www.cdc.gov/mold/faqs.htm[2015, December 5].

3. Mold. http://www2.epa.gov/mold[2015, December 5].