รังสีจากโทรศัพท์มือถือ (Cell phone radiation)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: ข้อจำกัดของการศึกษาในปัจจุบัน

ปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือ (Cell phone, Cellular telephone, Mobile phone) เป็นอีกสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะของคนเมือง และเช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดที่ต้องมีรังสีแผ่ออกมาขณะกำลังใช้งานเครื่อง เช่น ทีวี หลอดไฟฟ้า และเตาไมโครเวฟ แต่ความแตกต่างที่ก่อให้เกิดความกังวลกับองค์กรต่างๆด้านสุขภาพ  เพราะโทรศัพท์มือถือ ขณะใช้ต้องอยู่ติดกับร่างกาย ที่สำคัญ คือ  หู  สมอง และผิวหนัง ซึ่งทำให้โอกาสได้รับรังสีของเนื้อเยื่อ/อวัยวะเหล่านั้นสูงขึ้น ดังนั้น จึงกำลังมีการศึกษาอย่างละเอียดถึงผลกระทบของรังสีจากใช้โทรศัพท์มือถือ โดยการศึกษาปัจจุบัน (ค.ศ.2022) มีการควบคุมตัวแปรต่างๆที่อาจส่งผลต่อผลการศึกษา รวมถึงเพิ่มระยะเวลาติดตามผลการ

ข้อจำกัดของการศึกษาปัจจุบัน:

การศึกษาปัจจุบัน (ที่รายงานในปี ค.ศ. 2022) การติดตามผลมักไม่เกิน 20 ปี,  จำนวนผู้ถูกศึกษามีจำนวนน้อยมาก,  ไม่ระบุชัดเจนถึงชนิดและรุ่นของตัวมือถือซึ่งเป็นต้นต่อกระจายรังสีที่มีความเข็มของรังสีต่างกัน, ยังไม่ครอบคลุมรุ่น5Gซึ่งถึงแม้จะยังกระจายรังสีออกมาอยู่ในเกณฑ์น้อย แต่ก็สูงกว่า รุ่น G1-4, ยังศึกษาในกลุ่มผู้ใช้เด็กน้อยมาก, และที่สำคัญรูปแบบการศึกษาเป็นแบบย้อนหลังที่ใช้การสอบถามถึงประวัติการใช้ในอดีตหลังจากเกิดอาการ/โรคแล้ว(Case control study) รวมถึงจำนวนผู้ถูกศึกษาในแต่ละการศึกษายังน้อยศึกษาให้นานเกิน20ปีเพื่อให้รู้ถึงผลที่อาจเกิดกับผู้ใช้ที่ปัจจุบันเริ่มใช้แพร่หลายตั้งแต่ในวัยเด็ก

มีรังสีจากโทรศัพท์มือถือจริงหรือ?

มีรังสีจากโทรศัพท์มือถือจริง โทรศัพท์มือถือ เมื่อเปิดเครื่องฯ จะมีรังสีออกมาจากตัวเครื่องฯ และจะมีรังสีปริมาณสูงมากขึ้นขณะกำลังใช้เครื่องฯ แต่จะไม่มีรังสีเมื่อปิดเครื่องฯ หรือเมื่อเครื่องฯ ปิด

รังสีจากโทรศัพท์มือถือคือรังสีอะไร?

รังสีจากโทรศัพท์มือถือ คือ รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic radiation) ประเภท นอน-ไอออนไนซ์ (Non-ionizing radiation) ชนิดที่เรียกว่า รังสีเรดิโอฟรีเควนซี หรือ เรียกย่อว่า รังสี อาร์เอฟ (Radiofrequency radiation, RF radiation) รังสีชนิด/ประเภทนี้ อาจทำให้ดีเอ็นเอของเซลล์ (DNA คือ สารพันธุกรรมสำคัญในการเจริญเติบโตของเซลล์) เกิดบาดเจ็บเสียหายได้โดยไม่มีการแตกตัวของดีเอ็นเอเป็นประจุลบและประจุบวก ซึ่งทั่วไปเป็นการเสียหายที่น้อยมากที่ร่างกายสามารถซ่อมแซมได้ จึงยังไม่มีรายงานถึงอันตรายที่ทำให้เกิดเซลล์กลายพันธ์เป็นเซลล์เนื้องอกหรือเซลล์มะเร็งเมื่อนำมาใช้โดยทั่วไปและภายใต้กติกา  ทั้งนี้ทั่วไป ทั้งนักวิทยาศาสตร์และแพทย์เชื้อว่า ความเสียหายของเซลล์อาจเกิดขึ้นได้ โดยขึ้นกับหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น ปริมาณรังสีฯ, ความเข็มของรังสีฯ, และระยะเวลาต่อเนื่องของการได้รับรังสี, รวมถึงอายุของเซลล์ที่ได้รับรังสีว่าเป็นเซลล์ชนิดที่ไวต่อรังสีหรือไม่

รังสีจากโทรศัพท์มือถือต่างจากรังสีเอกซ์/รังสีโฟตอน (X-rays/photon) ซึ่งใช้ตรวจและรักษาโรค (รังสีจากการตรวจโรค), โดยรังสีจากการตรวจ/รักษาโรค จะทำให้เซลล์เกิดบาดเจ็บเสียหายจนอาจตายได้ จากการทำให้ ดีเอ็นเอ แตกตัวเป็นประจุลบและประจุบวก ซึ่งจัดเป็นรังสีประเภท ไอออนไนซ์ (Ionizing radiation), ซึ่งรังสีไอออนไนซ์ (ในปริมาณที่เท่ากับรังสีนอน-ไอออนไนซ์) สามารถทำให้เซลล์บาดเจ็บเสียหายได้มากกว่ารังสีนอน-ไอออนไนซ์มาก

เมื่อเซลล์ร่างกายได้รับรังสีแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

เมื่อเซลล์ (ดีเอ็นเอ) ได้รับรังสีไม่ว่าจะเป็นรังสีประเภทใด (แต่ต้องเป็นในปริมาณที่มากพอ และได้รับรังสีอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานาน หลายๆเดือน หรือหลายๆ ปี) จะทำให้เซลล์เกิดบาดเจ็บเสียหายซ้ำๆ ซึ่งถ้าร่างกายซ่อมแซมให้กลับเป็นปกติไม่ได้ เซลล์ที่บาดเจ็บเหล่านี้ อาจเกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์เนื้องอก หรือเซลล์มะเร็งได้

เมื่อเราได้รับรังสีจากโทรศัพท์มือถือแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

เมื่อเราได้รับรังสีจากโทรศัพท์มือถืออย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายๆปี โดยการใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยมาก และใช้แต่ละครั้งพูดคุยเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอก หรือมะเร็ง กับเนื้อเยื่อ/อวัยวะด้านที่ติดกับการใช้โทรศัพท์ฯ เช่น เนื้องอก เส้นประสาทหู(Acoustic neuroma), เนื้องอกประสาทตา (Optic neuroma), เนื้องอกสมอง/มะเร็งสมอง (Brain tumor)โดยเฉพาะส่วนขมับ, มะเร็งเมลาโนมาลูกตา (Melanoma), และเนื้องอกต่อมน้ำลายบริเวณหน้าหู (ต่อมพาโรติด, Parotid gland เกิดเป็น Parotid tumor), หรือ เกิดต้อกระจก

จนถึงปัจจุบัน (ค.ศ 2022) องค์การอนามัยมัยโลก และองค์กรต่างๆด้านรังสีฯและความปลอดภัยของประชาชนของสหรัฐอเมริกา (เช่น องค์การอาหารและยา/FDA, หน่วยงานควบคุมโรค/CDC, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ/NCI, สมาคมโรคมะเร็ง/ACS, สถาบันพิษวิทยาแห่งชาติ/NTP) สรุปตรงกันว่า ‘ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้แน่ชัดว่า รังสีจากโทรศัพท์มือถือ ก่อให้เกิดเนื้องอก หรือมะเร็ง หรือมีผลลบทางกายภาพกับสุขภาพร่างกายทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก’ แต่ด้วยข้อจำกัดในรูปแบบการศึกษาต่างๆ และที่สำคัญยังไม่มีการศึกษาใดที่ติดตามผู้ใช้ได้ในระยะยาวที่นานเกินกว่า 20 ปี จึงสมควรที่จะต้องมีการศึกษาในเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไปด้วยวิธีการศึกษาที่ควบคุมตัวแปรสำคัญให้ได้มากที่สุด  

อย่างไรก็ตาม ดังกล่าวแล้วว่า องค์กรระหว่างชาติด้านโรคมะเร็งที่กำกับโดยองค์การ อนามัยโลกที่เรียกย่อว่า ไออาร์ค หรือ ไอเออาร์ซี (IARC หรือ International Agency for Research on Cancer) ได้ประชุมหารือ และประกาศตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2544 และศึกษาทบทวนสม่ำเสมอจนถึงปัจจุบัน(ค.ศ.2022) ให้รังสีอาร์เอฟ (รังสีชนิดเดียวกับที่เกิดจากโทรศัพท์มือถือ) จัดอยู่ใน ’กลุ่มรังสีที่อาจก่อให้มนุษย์เกิดมะเร็งได้(Possibly carcinogenic to humans/Group 2B)’ ในการจัดอันดับสารต่างๆในโลกที่มีการศึกษาว่าเป็นสารก่อมะเร็งหรือไม่/Carcinogenic hazard to humans)

เด็กใช้โทรศัพท์มือถือแล้วปลอดภัยไหม?

เด็กใช้โทรศัพท์มือถือได้ แต่ควรใช้เฉพาะเมื่อมีความจำเป็น องค์การอนามัยโลก   และองค์กรต่างๆ ได้เตือนถึงการใช้โทรศัพท์มือถือในเด็ก หรือในคนอายุต่ำกว่า 18 ปี และแนะนำว่า ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อลดปริมาณรังสีสะสมตลอดชีวิตที่ผู้ใช้กลุ่มนี้จะได้รับอย่างยาวนานเกินกว่าระยะเวลาที่มีการศึกษาในปัจจุบัน, จึงไม่ควรใช้ต่อเนื่องครั้งละนานๆ,  ควรใช้เวลาพูดในแต่ละครั้งให้สั้นที่สุดเท่านั้น, ที่เตือนในอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะในเด็ก/ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี เซลล์ของร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงมีความไวต่อรังสีทุกชนิด ทุกประเภท สูงกว่าในคนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และผู้ใช้กลุ่มนี้จะมีอายุการใช้งานโทรศัพท์ฯ/การได้รับรังสียาวนาน  จึงมีโอกาสได้รับรังสีสะสมตลอดชีวิตสูง ดังนั้น โอกาสเกิดอันตรายจากรังสีทุกชนิด และโอกาสเกิดเซลล์กลายพันธุ์ของคนอายุต่ำกว่า 18 ปีจึงสูงกว่าในผู้ใหญ่

ป้องกันรังสีจากโทรศัพท์มือถือได้ไหม? มีคำแนะนำการใช้อย่างไร?

ถึงแม้การศึกษาเรื่องโทษทางสุขภาพร่างกายของรังสีจากโทรศัพท์มือถือ ยังไม่ชัดเจน ยังโต้แย้งกันอยู่ แต่โดยทฤษฎี มีความเป็นไปได้ ที่อาจเกิดอันตรายจากรังสีฯได้ในระยะยาว ดังนั้น จึงควรป้องกันไว้ก่อน ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากกว่า และไม่มีข้อเสียหาย

คำแนะนำจากองค์กรต่างๆในการใช้โทรศัพท์มือถือ:  แนะนำทั้งในเด็ก และในผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการลดปริมาณรังสีที่จะได้รับจากใช้โทรศัพท์มือถือ สรุปที่สำคัญ ดังนี้

  • ในเด็กและคนอายุต่ำกว่า 18 ปี: ควรใช้มือถือ ต่อเมื่อมีความจำเป็น และควรใช้เวลาในการพูดแต่ละครั้งให้สั้นที่สุด
  • ลดการสัมผัสโดยตรงกับโทรศัพท์มือถือในขณะเปิดเครื่องฯ (โดยเฉพาะในเด็ก): โดยการใช้เครื่องช่วยฟังชนิดต่างๆ จะช่วยลดปริมาณรังสีที่ได้รับลงมาก เพราะความเข็มของรังสีจะแปรผกผันเป็นกำลังสองกับระยะทาง ดังนั้น ยิ่งอยู่ห่างจากต้นกำเนิดรังสี (ตัวเครื่องฯ ในขณะเปิดเครื่องฯใช้งาน) ยิ่งได้รับรังสีน้อยลง
  • เลือกซื้อมือถือยี่ห้อได้มาตรฐาน เพราะในกระบวนการผลิต เครื่องฯที่ได้มาตรฐานจะอยู่ในการควบคุมความปลอดภัยด้านการแผ่รังสีขณะใช้งาน จากหน่วยงานของประเทศผู้ผลิต

สำหรับประเทศไทยโดยคำแนะนำจาก 'กสทช.:คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ' ซึ่งเช่นเดียวกับจากองค์กรต่างๆทั่วโลกที่เกี่ยวกับสุขภาพ แนะนำว่า ควรเลือกซื้อมือถือที่มีค่ากำหนดระดับการดูดกลืนพลังงานอยู่ในมาตรฐานที่กำหนด หมายความง่ายๆว่า อยู่ในเกณฑ์ที่ยังไม่มีรายงานว่า ก่อให้เกิดอันตรายในมนุษย์ ค่านี้เรียกว่า ค่าดูดกลืนพลังงานจำเพาะ (Specific absorption rate ตัวย่อ คือ SAR/เอสเออาร์/ซาร์) กล่าวคือ มือถือที่ใช้ควรมีค่าเอสเออาร์ ซึ่งอาจเขียนไว้บนกล่อง หรือในเอกสารคู่มือการใช้เครื่องฯ ดังนี้

  • สำหรับทั่วร่างกาย: ไม่ควรเกิน 0.08 W/kg (วัตต์ต่อกิโลกรัม)
  • เฉพาะส่วนศีรษะและลำตัว: ไม่ควรเกิน 2 W/kg และ
  • เฉพาะส่วนแขน/ขา: ไม่ควรเกิน 4 W/kg

มีข้อจำกัดในการใช้ค่ากำหนดระดับการดูดกลืนพลังงานอย่างไร?

ค่าเอสเออาร์/ซาร์ เป็นตัวบอกเพียงว่า โทรศัพท์เครื่องนี้มีค่าดูดกลืนพลังงานของเนื้อเยื่อไม่เกินค่าที่กำหนดไว้ ไม่ได้บอกว่าปลอดภัยจากการใช้เต็มร้อย แต่ขณะนี้ มีเพียงค่านี้เท่านั้น ที่พอบอกเราได้ว่า เราได้รับรังสีอยู่ในระดับที่ยังไม่มีรายงานในขณะนี้ว่า ’ก่ออันตรายต่อเรา’เมื่อเป็นการใช้ในลักษณะทั่วไป

ซึ่งต้องระลึกอยู่เสมอว่า โทรศัพท์มือถือเพิ่งเริ่มใช้อย่างกว้างขวางในระยะเวลาเพียงประมาณ 10-20 ปีมานี้เอง ดังนั้น การศึกษาทุกการศึกษาจึงมีข้อจำกัดในเรื่องของช่วงเวลา ซึ่งในระยาวกว่านี้ คือมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ยังไม่มีใครรู้ว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไร

ดังนั้น การดูแลตนเองในการใช้โทรศัพท์มือถือ จึงควรต้องขึ้นกับทั้ง ค่าเอสเออาร์, การประกาศของไออาร์ค, และคำแนะนำจากองค์กรต่างๆดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น ที่รวมถึงจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ดังบรรณานุกรม1

บรรณานุกรม

  1. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) . https://standard.nbtc.go.th/   [2023,Feb11]
  2. Joachim Schüz,et al. Journal of the National Cancer Institute 2022, 114(5);704-711
  3. https://standard.nbtc.go.th/index.php/component/content/article/188-2012-10-25-08-25-24/2014-05-19-04-05-08/166-2014-05-12-09-10-02  [2023,Feb11]  
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Specific_absorption_rate [2023,Feb11]
  5. https://monographs.iarc.who.int/agents-classified-by-the-iarc/ [2023,Feb11]
  6. https://monographs.iarc.who.int/list-of-classifications [2023,Feb11]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Wireless_device_radiation_and_health [2023,Feb11]
  8. https://www.cancer.gov/about-cancer/causes-prevention/risk/radiation/cell-phones-fact-sheet [2023,Feb11]