ระวังน้ำขวดเจ้าปัญหา (ตอนที่ 1)

ระวังน้ำขวดเจ้าปัญหา-1

      

      องค์การอนามัยโลก (The World Health Organisation = WHO) ได้เปิดเผยถึง งานวิจัยถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดื่มน้ำขวดว่า น้ำขวดร้อยละ 90 มีส่วนผสมของพลาสติกที่เล็กมากที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก (Microplastics)

      โดยในงานวิจัยล่าสุดของ Sherri Mason จาก The State University of New York in Fredonia ซึ่งได้ทำการวิเคราะห์น้ำดื่ม 11 ยี่ห้อ จำนวน 259 ขวด จาก 19 แหล่ง ใน 9 ประเทศ อันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา จีน บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก เลบานอน เคนย่า และประเทศไทย

      ด้วยวิธีทดสอบที่เรียกว่า เทคนิคการย้อมสีไนล์เรด (Nile Red dye) ซึ่งเมื่อส่องด้วยแสงสีฟ้าจะทำให้อนุภาคพลาสติกเรืองแสงจนมองเห็นได้ชัด จากนั้นจึงแยกออกมานับแล้วตรวจสอบอีกครั้งว่าเป็นพอลิเมอร์ชนิดใด ผลปรากฏว่า

      มีการปนเปื้อนของชิ้นส่วนพลาสติกเฉลี่ยอยู่ที่ 325 ชิ้น ในน้ำดื่มทุกๆ 1 ลิตร และมีน้ำดื่มเพียง 17 ขวด เท่านั้น ที่ไม่มีการปนเปื้อนของพลาสติก โดยชิ้นส่วนพลาสติกที่พบมากก็คือ พอลิโพไพลีน (Polypropylene = PP) ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดเดียวกับที่ใช้ทำฝาขวด

      นอกจากนี้ก็มีงานวิจัยของกลุ่มรณรงค์ในสหรัฐอเมริกาที่ใช้ชื่อว่า Story of Stuff ที่พบถึงการปนเปื้อนของพลาสติกในน้ำดื่มด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกทางอากาศ (Airborne) เป็นไปได้ง่ายมาก เกิดได้ทั้งภายในและภายนอกโรงงาน

      อย่างไรก็ดี บริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มก็ได้ออกมาโต้แย้ง และองค์การอนามัยโลกได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า การสะสมของพลาสติกเหล่านี้จะมีอันตรายต่อสุขภาพของคนหรือไม่ และองค์การอนามัยโลกจะทำการศึกษาวิจัยต่อถึงผลกระทบของการดื่มน้ำปนเปื้อนไมโครพลาสติก เพื่อออกมาตรการแก้ปัญหาในอนาคต

      ไมโครพลาสติก (Microplastics) คือ ชิ้นส่วนพลาสติกประเภทหนึ่งที่มีขนาด 1 นาโนเมตร หรือ 1 ในพันล้านของเมตร แต่ไม่เกิน 5 มิลลิเมตร เรียกง่ายๆ ว่าเป็นชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาดเล็กมากๆ เทียบเท่าได้กับไวรัส จนถึงเทียบเท่าไข่มด มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

      1. Primary Microplastics คือ พลาสติกที่ถูกผลิตให้มีขนาดเล็กตั้งแต่ต้น (Nurdles) ตัวอย่างเช่น เม็ดพลาสติกที่เป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทําความสะอาด เป็นต้น โดยในกรณีของพลาสติกที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทําความสะอาดนั้น มีชื่อทางการค่าว่า ไมโครบีดส์ (Microbeads) หรือที่เราเรียกว่า “เม็ดสครับ” เพื่อนําไปใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหรือ เครื่องสําอาง (ครีมขัดผิว ครีมอาบน้ำ ยาสีฟัน ฯลฯ) ซึ่งมีการใช้ไมโครพลาสติกชนิดนี้กันอย่างแพร่หลายและมีการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

      2. Secondary Microplastics คือ พลาสติกที่มาจากการแตกหักของผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดต่างๆ (Degradation of Plastic Waste) ด้วยกระบวนการทางเคมีชีวภาพและกายภาพ เช่น แสงอาทิตย์ การทำปฏิกริยากับออกซิเจน เป็นต้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทําให้สารแต่งเติมในพลาสติกหลุดออกจากพลาสติก ทําให้โครงสร้างของพลาสติกเกิดการแตกตัวจนมีขนาดที่เล็กกลายเป็นสารแขวนลอยปะปนอยู่ใน แม่น้ําและทะเลและอาจถูกสัตว์เล็กและใหญ่กินเป็นอาหาร

      นอกจากนี้ ไมโครพลาสติกชนิดนี้ยังสามารถเกิดได้จากการถลอก/ขีดข่วน จากกระบวนการผลิตพลาสติกขนาดใหญ่ จากยางล้อระหว่างการขับขี่พาหนะ หรือเส้นใยสังเคราะห์ที่หลุดออกมาในน้ำทิ้งจากการซักผ้า

แหล่งข้อมูล:

  1. WHO launches health review after microplastics found in 90% of bottled water. https://www.theguardian.com/environment/2018/mar/15/microplastics-found-in-more-than-90-of-bottled-water-study-says [2018, April 11].
  2. Microplastics in the Environment and in the Human Body. https://owlcation.com/stem/Microplastics-in-the-Human-Body-and-Potential-Health-Effects [2018, April 11].
  3. Plastic bottle. https://en.wikipedia.org/wiki/Plastic_bottle [2018, April 11].