ระวัง ! กินสารปนเปื้อนโดยไม่รู้ตัว (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

สารกันราหรือ กรดซาลิซิลิค (Salicylic acid) เป็นกรดอินทรีย์ชนิดหนึ่ง นิยมใช้เป็นตัวสังเคราะห์อินทรีย์ (Organic synthesis) และทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนพืช (Plant hormone)

[Plant hormones คือสารอินทรีย์ที่พืชสร้างขึ้นมาในปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็สามารถก่อให้เกิดกระบวนการทางสรีรวิทยา (Physiological processes) ต่อการเจริญเติบโตของต้นพืชได้ โดยที่สารนี้มิใช่เป็นอาหารของพืชตามปกติ

เป็นที่รู้จักกันดีว่า สารกันราใช้เป็นวัสดุในการทำยาลดไข้ ยาแก้อักเสบ และเครื่องสำอางรักษาสิว แต่เป็นสารที่ห้ามใช้ในอาหาร

อย่างไรก็ดีมีการนำสารชนิดนี้ใส่ในน้ำดองผักผลไม้เพื่อให้ดูใสเหมือนใหม่อยู่เสมอ โดยปัจจุบันยังตรวจพบสารกันราในอาหารหลายชนิด เช่น แหนม หมูยอ ผักผลไม้ดองจำพวก มะม่วงดอง ผักกาดดอง มะกอกดอง มะดันดอง ขิงดอง ก๊งฉ่าย เกี๊ยมฉ่าย ไชโป้ และหน่อไม้อัดปี๊บ

สารกันราเมื่อกินเข้าไปจะทำลายเซลล์ในร่างกายให้ตาย หากกินเข้าไปมากๆ จะทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ ความดันโลหิตต่ำจนช็อกได้ หรือในบางรายที่กินเข้าไปไม่มากแต่แพ้ จะทำให้เป็นผื่นคันขึ้นตามตัว อาเจียน หูอื้อ มีไข้

ดังนั้นทางที่จะหลีกเลี่ยงพิษจากสารกันราได้ก็คือ การเลือกกินอาหารที่สดใหม่ ไม่กินอาหารหมักดอง หรือเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้

สารเร่งเนื้อแดง หรือ ซาลบูตามอล (Salbutamol) เป็นยาสำคัญที่ใช้ในการรักษาอาการหลอดลมหดเกร็ง (Bronchospasm) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease = COPD) โรคหอบหืด

นอกจากนี้ยังใช้ในการรักษาโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis = CF เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ส่งผลส่วนมากต่อระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร) ภาวะโปแทสเซียมสูงกว่าปกติ (Hyperkalemia) โรคกระดูกสันหลังหด (Spinal muscular atrophy เป็นโรคพันธุกรรมทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ)

หากมีการนำสารซาลบูตามอลไปใช้เร่งเนื้อแดงในหมู โดยให้หมูกินสารนี้ เมื่อมีการตกค้างมาถึงผู้บริโภค อาจมีผลข้างเคียงทำให้มีอาการมือสั่น (Tremor) กระวนกระวาย (Anxiety) ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว (Muscle cramps) ปากแห้ง และใจสั่น (Palpitation) บางรายอาจมีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachycardia) หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) ผิวแดง (Flushing) และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial ischemia)

ดังนั้น ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงไม่กินเนื้อหมูที่มีสารดังกล่าว ด้วยการเลือกหมูที่มีชั้นมันหนาบ้าง และเลือกหมูที่อยู่ในลักษณะสีไม่แดงมากนัก

แหล่งข้อมูล:

  1. Salicylic acid. http://en.wikipedia.org/wiki/Salicylic_acid [2014, March 18].
  2. Salbutamol http://en.wikipedia.org/wiki/Salbutamol [2014, March 18].
  3. อาหารปนเปื้อนสารเคมี...อันตราย http://www.fda.moph.go.th/project/foodsafety/foodsafety46f10.htm [2014, March 18].