ระวัง ! กินสารปนเปื้อนโดยไม่รู้ตัว (ตอนที่ 2)

ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า อาหารกลุ่มที่ตรวจพบใส่ฟอร์มาลินที่กล่าวมานี้ ที่ผ่านมามักจะตรวจพบสารฟอกขาว การพบสารฟอร์มาลินสูงขึ้นอาจเป็นเพราะพ่อค้าแม่ค้าเปลี่ยนจากการใช้สารฟอกขาวใส่อาหารเพื่อให้คงสภาพสด ไม่หมองคล้ำ หรือไม่เน่าเสีย มาเป็นการใช้สารฟอร์มาลินแทน

นพ.พรเทพ กล่าวว่า สารฟอร์มาลินมีอันตรายต่อผู้บริโภค จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร หากทานเข้าไปจะก่อให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่น ไส้ อาเจียน ปัสสาวะไม่ออก กดประสาทส่วนกลางทำให้หมดสติได้

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศฉบับที่ 93 พ.ศ. 2528 ห้ามใช้สารฟอร์มาลินในอาหาร ผู้ใดละเมิดใส่ในอาหารต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในปี พ.ศ.2549 มีการประเมินว่ามีการผลิตสารฟอร์มาลีนปีละ 8.7 ล้านตัน และในปี พ.ศ.2554 The US National Toxicology Program ได้ระบุให้ฟอร์มาลีนเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง

ฟอร์มาลีนเป็นสารละลายน้ำ ที่ใช้ในการแช่เนื้อเยื่อหรือดองศพ และมักใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค (Disinfectant) ยาแอนตี้แบคทีเรีย (Anti-bacterial wash) ยาที่ใช้รักษาตัวปรสิต (Parasite) สำหรับปลาที่เลี้ยงในตู้

ฟอร์มาลีนสามารถทำปฏิกริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) ได้ง่าย โดยฟอร์มาลีนที่เข้มข้นจะติดไฟง่าย และการเผาไหม้จะทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ

ฟอร์มาลีนสามารถใช้ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่อาจปนเปื้อนในการผลิตวัคซีน โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะมักใช้ยา Methenamine ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของฟอร์มาลดีไฮด์ (Derivatives of formaldehyde) โดยในสภาพที่เป็นกรด Methenamine จะถูกเปลี่ยนเป็นฟอร์มาลดีไฮด์ที่ไต ซึ่งจะมีผลในการทำลายเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในทางเดินปัสสาวะได้

อย่างไรก็ดีวิธีนี้ไม่ควรใช้เป็นระยะเวลานาน เพราะฟอร์มาลดีไฮด์อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ นอกจากนี้ครีม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อนามัยก็อาจมีส่วนผสมของอนุพันธ์ของฟอร์มาลดีไฮด์ เพราะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเติบโตของแบคทีเรีย

ฟอร์มาลีนยังใช้ในการรักษาหูด (Warts) ด้วยการละลายให้เจือจางมากๆ มีฤทธิ์สามารถทำลายเซลล์ผิวหนังที่เป็นหูดและอาจฆ่าเชื้อไวรัสได้ด้วย อย่างไรก็ดีคนบางคนก็อาจแพ้สารนี้ได้

ฟอร์มาลีนจะปล่อยก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ที่เป็นพิษ หากมีการกลืน จะกัดทำลายปาก ลิ้น และหลอดอาหาร (Esophagus) ทำให้เจ็บปวด อาเจียน และเลือดออกได้

นอกจากนี้ยังผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการไตวาย โดยปริมาตรที่สามารถทำให้คนเสียชีวิตได้อยู่ที่ประมาณ 30 มิลลิลิตร

แหล่งข้อมูล:

  1. เจอน้ำยาฉีดศพปนผัก-เนื้อสัตว์เกลื่อนตลาดสด สธ.แนะวิธีสังเกตhttp://www.dailynews.co.th/Content/regional/218300/เจอน้ำยาฉีดศพปนผัก-เนื้อสัตว์เกลื่อนตลาดสด+สธ.แนะวิธีสังเกต [2014, March 12].
  2. Formaldehyde. http://en.wikipedia.org/wiki/Formaldehyde [2014, March 12].
  3. What is formalin ? http://www.wisegeek.org/what-is-formalin.htm [2014, March 12].