รหัสมาตรฐาน ลดการจ่ายยาผิด (ตอนที่ 5 และตอนสุดท้าย)

นพ.สุธี สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการบริหารสมาคมเวชสารสนเทศไทย (Thai Medical Informatics: TMI) กล่าวว่า “ในปีนี้โรงพยาบาลใหญ่ 5 แห่งใน Thailand Healthcare Cluster ได้กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ติดรหัส GTIN บนสินค้า ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เพื่อทำฐานข้อมูลร่วม (Data pool) หลังจากยาและเวชภัณฑ์ทั้งหมดมีการขึ้นทะเบียน GTIN แล้ว โดยโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่ง จะไม่รับยาจากบริษัทยาที่ไม่มีรหัส GTIN . . .

. . . ส่วนฐานข้อมูลร่วม น่าจะเสร็จประมาณเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 ซึ่งขณะนี้ทาง กลุ่มได้เน้นการนำร่อง ณ โรงเรียนแพทย์เป็นหลักเพื่อเป็นต้นแบบแก่โรงพยาบาลอื่นๆ และระบบสาธารณสุขทั้งระบบซึ่งตัดสินใจมาใช้ระบบรหัสมาตรฐาน (Standard code) ของ GS1 โดยความสมัครใจต่อไป ส่วนทางด้านบริษัทผู้ผลิตยามีความต้องการให้ขึ้นทะเบียน GTIN อยู่แล้ว เนื่องจากจะช่วยแก้ปัญหาการส่งยาผิดและการสต็อกยาได้อย่างครบวงจร”

ขณะที่ภาคธุรกิจใช้งานเพื่อการบริการลูกค้าหรือคู่ค้าเป็นหลัก แต่หน่วยงานกำกับดูแลจะเน้นการตรวจสอบเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เพื่อจำแนกปัญหาของการใช้ผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า การสื่อสารด้วยชื่อผลิตภัณฑ์ มีโอกาสเกิดความสับสนและไม่ชัดเจนในแง่การจำแนกเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์

เหตุผลก็คือผู้สื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือผู้บริโภค มักจะสื่อสารชื่อผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับชื่อผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการแจ้งกับ อย. นอกจากนี้ การสื่อสารยังต้องมีการส่งข้อมูลอื่นๆ ประกอบเข้ามาเพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแล สามารถจำแนกเอกลักษณ์ผลิตภัณฑ์ ก่อนจะดำเนินการในขั้นต่อไป

ดังนั้น หาก อย. สามารถจัดทำฐานข้อมูลร่วมของผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการกำหนดรหัส GTIN ย่อมจะทำให้การสื่อสารเป็นไปด้วยความรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำขึ้น อันจะเอื้อประโยชน์การตอบสนองของ อย. ต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ให้รวดเร็วและถูกต้องตามแม่นยำขึ้นไปด้วย

โดยพื้นฐานการใช้งานแล้ว ผลได้จากการกำกับดูแลและด้านวิชาการ (Regulatory and technical value) จะเป็นไปในลักษณะเดียวกับประโยชน์ทางธุรกิจ เนื่องจากใช้งานในการตรวจสอบและติดตาม (Tracing and tracking) ผลิตภัณฑ์เหมือนกัน เพียงแตกต่างกันในการประยุกต์ใช้งาน (Application) เท่านั้น

หน่วยงานอื่นที่มิใช่หน่วยงานกำกับดูแลสามารถใช้ประโยชน์จากรหัส GTIN ของผลิตภัณฑ์สุขภาพในลักษณะอื่นๆ นอกเหนือจากการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค อาทิ โรงพยาบาลสามารถใช้รหัส GTIN ของผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อการจัดการสินค้าคงคลัง หรือการควบคุมการจัดซื้อสินค้า รวมทั้งการควบคุมการจ่ายยาและเวชภัณฑ์ให้ผู้ป่วยได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายนับเป็นปัญหาใหญ่ในการกำหนดใช้รหัสผลิตภัณฑ์สากลกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ แม้จะมีข้อมูลว่าผู้ประกอบการส่วนหนึ่งได้ใช้งานรหัส GTIN แล้วก็ตาม และแม้ว่าการแสดงรหัส GTIN บนฉลากจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าโดยตรง แต่การออกกฎหมายเพื่อกำหนดให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพทุกประเภทมีการแสดงรหัสผลิตภัณฑ์อย่าง GTIN บนฉลาก ก็ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลหลายหน่วยเกิดความกังวลใจว่าจะทำให้ผู้ประกอบการร้องเรียนได้

แหล่งข้อมูล:

  1. วงการแพทย์ใช้ GTIN คุมการ 'รักษา-จ่ายยา'คนไข้ 5 โรงพยาบาลใหญ่ขานรับ http://www.manager.co.th/mgrweekly/ViewNews.aspx?NewsID=9550000018296 [2012, February 21].
  2. การใช้งานรหัสผลิตภัณฑ์สากล (GTIN) กับผลิตภัณฑ์สุขภาพ http://logistics.fda.moph.go.th/healthproductid/HealthProductID.asp?id=5 [2012, February 21].