รหัสมาตรฐาน ลดการจ่ายยาผิด (ตอนที่ 3)

นพ.สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการบริหารสมาคมเวชสารสนเทศไทย (Thai Medical Informatics : TMI) กล่าวว่า”ความผิดพลาดในการรักษาและจ่ายยา (Medication error) ในประเทศไทย อาจจะมีสาเหตุมาจากการใช้ยา หมอจ่ายยาผิด หรือจ่ายยาถูกแต่คนไข้รับยาผิด ทำให้ได้รับยาไม่เหมาะกับตนเอง หรือบางทีคนไข้แพ้ยากลุ่มเดียวกัน ได้ยาที่ไม่เหมาะ หรือได้ยาซ้ำกันโดยที่ไม่รู้ . . .

. . . ซึ่งเคยพบกรณีคนไข้ปวดเข่าไปพบแพทย์และได้รับยาแก้ปวดเข่ามา แต่อีกไม่กี่วันมีอาการไข้หวัดจึงไปโรงพยาบาลอีกครั้งและได้ยาลดการอักเสบมา ซึ่งเป็นยากลุ่มเดียวกับยาแก้ปวดเข่า หนักไปกว่านั้นคือ คนไข้เป็นโรคหัวใจ ซึ่งใช้ยากลุ่มแอสไพรินเพื่อป้องกันการจับตัวของเม็ดเลือด ยาที่ได้รับไปเสริมฤทธิ์กันหมด ทำให้คนไข้เลือดตกในกระเพาะ หรือเลือดออกในสมอง เพราะเกล็ดเลือดไม่แข็งตัว ซึ่งระบบรหัสมาตรฐาน (Standard code) จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้”

จากบทความของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แม้จะมีระบบจัดกลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์สากลสำหรับ ยา/วัตถุเสพติด แต่ก็มีหลายระบบซึ่งไม่ได้ประสานให้สามารถสื่อสารกันได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนอาหาร เครื่องสำอางและวัตถุอันตรายไม่มีการกำหนดระบบการจัดกลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์สากลใช้งานอย่างใด

รหัสผลิตภัณฑ์สุขภาพที่กำหนดในลักษณะนี้สามารถที่จะใช้ในการจัดการฐานข้อมูลร่วม (Data pool) เพื่อจัดทำทะเบียนประวัติผลิตภัณฑ์ (Product profile) ได้อย่างน้อย 3 ระดับ กล่าวคือ (1) ระดับกลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์ (Category) (2) ระดับทะเบียนตำรับ (Registration) (3) ระดับผลิตภัณฑ์เฉพาะรายการ (Trade item)

แต่ละระดับสะท้อนถึงมาตรฐานและคุณภาพ/ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แต่ละกลุ่ม ซึ่งจะทำให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถใช้ข้อมูลหรือภาพที่ชัดเจนของคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ในการกำหนดทรัพยากรที่ต้องใช้ หรือเร่งรัดมาตรการในการกำกับดูแลได้ตรงต่อวัตถุประสงค์ของหน่วยงานมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น ระเบียนประวัติผลิตภัณฑ์ Steroid Cream มีตัวยาสำคัญคือ Betamethasone และ Neomycin ในการจัดทำข้อมูลในระดับทะเบียนตำรับที่ผลิตภัณฑ์นี้ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ยังสามารถจัดทำข้อมูลได้ถึงระดับผลิตภัณฑ์เฉพาะรายการ ที่บ่งชี้ถึงระดับขนาดบรรจุซึ่งอ้างอิงโดยการใช้รหัส GTIN อันจะเป็นระเบียนประวัติผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตแต่ละทะเบียนตำรับ และยังสามารถจัดทำข้อมูลระดับกลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถสะท้อนภาพรวมของคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในกลุ่มนี้ ที่วางจำหน่ายในประเทศไทยได้อีกด้วย

หากจะมีการแสดงรหัสผลิตภัณฑ์สุขภาพนี้ไว้บนฉลาก จะป็นประโยชน์แก่การใช้งานของ อย. แล้วยังเปิดให้หน่วยงานอื่นได้ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อีกด้วย ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ สำนักงบประมาณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โรงพยาบาล ภาคการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่งของการประยุกต์ใช้ก็คือ หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการเงินงบประมาณสามารถใช้รหัสผลิตภัณฑ์สุขภาพ เปรียบเทียบราคาสินค้าได้แม้ไม่มีความรู้ในวิชาการเชิงลึกของผลิตภัณฑ์นั้นๆ โรงพยาบาลเองก็สามารถค้นหาข้อมูลหรือสอบถามโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงในเรื่องครื่องมือแพทย์ราคาแพงที่จำเป็นต้องใช้อย่างเร่งด่วนเพื่อขอยืมมาใช้งานหรือส่งต่อผู้ป่วยไปขอรับการรักษาพยาบาล ส่วนผู้บริโภคก็สามารถใช้รหัสผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสำคัญ แต่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้

แหล่งข้อมูล:

  1. วงการแพทย์ใช้ GTIN คุมการ 'รักษา-จ่ายยา'คนไข้ 5 โรงพยาบาลใหญ่ขานรับ http://www.manager.co.th/mgrweekly/ViewNews.aspx?NewsID=9550000018296 [2012, February 19].
  2. การใช้งานรหัสผลิตภัณฑ์สากล (GTIN) กับผลิตภัณฑ์สุขภาพ http://logistics.fda.moph.go.th/healthproductid/HealthProductID.asp?id=5 [2012, February 19].