รก (Placenta)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 12 มกราคม 2557
- Tweet
รก เป็นอวัยวะมีเฉพาะช่วงตั้งครรภ์ โดยเป็นอวัยวะที่เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างทารกในครรภ์ (จากทางสายสะดือ) กับมารดา (จากที่รกเกาะอยู่กับเยื่อบุมดลูก) รกมีรูปร่างค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 22 เซนติเมตร หนาประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร และหนักประ มาณ 500 กรัม ทั้งนี้ ร่างกายเริ่มสร้างรก ตั้งแต่ไข่ที่ผสมพันธุ์แล้ว เริ่มฝังตัวในเยื่อบุมดลูก และรกจะฝังตัวได้เรียบร้อยเมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ 12-13 สัปดาห์ ซึ่งรกจะมีการเจริญเปลี่ยน แปลงตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์
หน้าที่ของรก คือ
- เป็นทางผ่านของอาหาร ออกซิเจน และสารภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่างๆจากแม่สู่ทารก
- และเป็นทางผ่านของของเสียจากทารกสู่แม่ เพื่อแม่จะได้กำจัดออกทางอวัยวะต่างๆ ที่มีหน้า ที่กำจัดของเสียของแม่ เช่น ไต และตับ
- นอกจากนั้นเซลล์ของรกยังสร้างฮอร์โมนต่างๆ เพื่อการตั้งครรภ์และการสร้างน้ำนม เช่น
- ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตของเต้านม/ต่อมน้ำนม (Human placental lactogen)
- ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโตของรกเอง และเพื่อการเจริญเติบโตของมดลูกเพื่อการตั้งครรภ์ (Human chorionic gonadotropin/hCG เป็นฮอร์โมนที่ใช้ตรวจจากปัสสาวะและเลือดเพื่อช่วยวินิจฉัยการตั้งครรภ์)
- และฮอร์โมนลดการบีบตัวของมดลูก (Progesterone) ที่ช่วยลดโอกาสเกิดการแท้งและการคลอดก่อนกำหนด
โรคที่เกิดจากความผิดปกติของรก เช่น ภาวะรกเสื่อม ภาวะรกเกาะต่ำ และภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด แต่ที่พบได้น้อยมาก คือ เนื้องอกของรก
บรรณานุกรม
- Placenta http://en.wikipedia.org/wiki/Placenta [2013,Dec23].