ยิ่งสูง ยิ่งหนาว ยิ่งเสี่ยง (ตอนที่ 2)

ในการเที่ยวช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผู้เขียนและคนใกล้ตัว ได้เดินทางไปถึงเขาจุงฟราวยอร์ก (Jungfraujoch) ในเมืองกรินเดอร์วาลกรุน (Grinderwald Grun) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นชุมชนเล็กๆ มีสถานีรถไฟฟ้า (Cog wheel) เพื่อขึ้นรถไฟสายจุงฟราวบาห์เนน (Jungfrau Banen) สู่ยอดเขาจุงฟราวยอร์ก

ตลอดสองข้างทาง ก็มีธรรมชาติภูเขาหิมะและแนวป่าสนให้ชม จนถึงยอดเขาจุงฟราวยอร์ก ที่ความสูง 3,454 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล จนได้ชื่อว่าเป็น “Top of Europe” เพราะเป็นจุดสูงสุดของยุโรปที่รถไฟขึ้นถึง แล้วเยี่ยมชมสถานีตรวจวัดภาพภูมิอากาศชื่อ “สฟิงคซ์” (Sphinx) จากนั้นเข้าชมถ้ำน้ำแข็งที่ได้รับการขุดเจาะและสลักตกแต่งไว้อย่างงดงาม

แต่ก่อนที่จะขึ้นไปชมสถานีฯนี้เอง คนใกล้ตัวผู้เขียนก็ได้มีอาการหายใจลำบาก อ่อนเพลีย วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม โดยมีเจ้าหน้าที่พยาบาลเข้ามาตรวจวัดระดับออกซิเจนในกระแสเลือดให้ พบว่ายังเกิน 90% อยู่ จึงถือว่าปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ก็ได้แนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มชอคโกแล็ตร้อน

ณ ที่ความสูง 1,500–3,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เป็นช่วงที่ร่างกายจะเริ่มมีปฏิกิริยาสนองต่อการหายใจที่ได้รับออกซิเจนลดลง โดยที่ร่างกายจะมีแรงดัน (Oxygen pressure : Po2) ลดลงและพยายามเพิ่มการหมุนเวียนออกซิเจนในโลหิต

สมรรถนะร่างกายที่ด้อยลงนี้ จะพบเมื่อการขับเคลื่อนของออกซิเจนในหลอดโลหิตแดงใหญ่ (Arterial oxygen saturation : Sao2) ซึ่งปกติจะไม่ต่ำกว่า 90% ได้ลดลงอย่างมาก เนื่องจากการเคลื่อนที่ขึ้นสู่ที่สูง 1,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล อย่างรวดเร็ว

ณ ที่ความสูง 3,500–5,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล การขับเคลื่อนของออกซิเจนในหลอดโลหิตแดงใหญ่ (Sao2) จะลดต่ำกว่า 90% และแรงดันออกซิเจน (Po2) จะต่ำลง อาการเจ็บป่วยจากที่สูงที่รุนแรงมักพบในความสูงที่ระดับนี้

อาการภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย (Hypoxemia) อย่างรุนแรงดังกล่าว อาจเกิดขึ้นเมื่อออกแรง ขณะหลับ และเมื่อเกิดอาการปอดบวมน้ำจากที่สูง (High altitude pulmonary edema : HAPE) หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพของปอดอย่างเฉียบพลัน

ณ ที่ความสูงสุด สูงกว่า 5,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล อาจก่อให้เกิดอาการโลหิตนำออกซิเจนได้น้อยลง และอาการขาดแคลนคาร์บอนไดออกไซด์ในโลหิต (Hypocapnia) โดยมีด่างเพิ่มขึ้นในโลหิตและส่วนต่างๆ ของร่างกาย (Alkalosis)

และข้อสำคัญ เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความเสื่อมถอยในการทำงานของร่างกายก็จะเข้าแทนที่ความสามารถในการปรับตัวให้คุ้นชินกับอากาศ (Acclimatization)

ผลก็คือ ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถอยู่ในความสูงที่เกิน 5,500 เมตรได้ และระยะเวลาที่มนุษย์สามารถปรับตัวให้คุ้นชินกับอากาศมีความสำคัญมาก เพราะ ณ ความสูงมากเช่นนั้น การขึ้นที่สูงอย่างรวดเร็วทันทีทันใดโดยไม่มีออกซิเจนเพียงพอ จะล่อแหลมต่อการเกิดภาวะร้ายแรงในการเจ็บป่วยจากที่สูงได้ง่าย

แหล่งข้อมูล:

  1. Altitude sickness. http://en.wikipedia.org/wiki/Altitude_sickness [2012, June 7].