ยาไรแฟมพิน/ไรแฟมพิซิน (Rifampin/Rifampicin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ในปี ค.ศ.1967 (พ.ศ. 2510) นักวิทยาศาสตร์ได้พบแบคทีเรียในดินที่นำมาจากป่าสน แถบริเวียราของประเทศฝรั่งเศส สามารถผลิตและสังเคราะห์ยาปฏิชีวนะที่ชื่อ ไรแฟมพิน (Rifampin) หรือเรียกอีกชื่อว่า ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ที่ทางการแพทย์มักนำมาใช้ในการรัก ษา วัณโรค โรคเรื้อน โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Mycobacte ria, Staphylococcus aureus, และ Neisseria meningitidis เป็นต้น

การใช้ไรแฟมพิน สามารถใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดอื่น เพื่อร่วมในการรักษาโรคดังกล่าว หลังจากได้รับยาเข้าสู่ร่างกาย ไรแฟมพินจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ ยาบางส่วนจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างในระหว่างการดูดซึมที่ลำไส้เล็ก และทุกๆ 3 – 4ชั่วโมง ยาจะถูกกำจัดออกจากร่างกายประมาณครึ่งหนึ่งของระดับยาในกระแสเลือด โดยขับออกทางอุจจาระและปัสสาวะ

วงการแพทย์จัดให้ไรแฟมพินอยู่ในกลุ่มยาอันตราย ต้องรับประทานตามคำสั่งแพทย์เท่า นั้น ไม่ควรซื้อหามารับประทานเอง ด้วยหากใช้ไม่ถูกต้อง อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายโดยตรงหรือนำมาซึ่งการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย

ยาไรแฟมพินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาไรแฟมพิน

สรรพคุณของยาไรแฟมพิน คือ ใช้รักษา วัณโรค หนองใน (Gonorrhoea ) ไข้สมองอัก เสบ

ยาไรแฟมพินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไรแฟมพินจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง ดีเอนเอ (DNA) หรือสารพันธุกรรมของแบคที เรีย โดยตัวยาจะไปรวมตัวกับเอนไซม์ที่ชื่อ RNA polymerase และทำให้การทำงานของเอน ไซม์หยุดลง จึงเป็นสาเหตุทำให้แบคทีเรียไม่สามารถขยายพันธุ์ เจริญเติบโต จึงตายในที่สุด

ยาไรแฟมพินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไรแฟมพินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายทั้งที่เป็นชนิดยาผสมและยาเดี่ยว

สำหรับยาเดี่ยว ชนิดแค็ปซูลขนาด 300 และ 450 มิลลิกรัม

ชนิดเม็ดขนาด 300 และ 600 มิลลิกรัม

ยาไรแฟมพินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ก. ยาไรแฟมพินที่ใช้รักษาวัณโรคในผู้ใหญ่

  • รับประทาน 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละครั้ง
  • หรือ ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 50 กิโลกรัมรับประทานครั้งละ 600 มิลลิกรัมครั้งเดียว
  • หากน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัมรับประทานครั้งละ 450 มิลลิกรัม วันละครั้ง

ข. รักษาวัณโรคในเด็ก

  • รับประทาน 10-20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
  • ขนาดรับประทานสูงสุดในเด็กไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อวัน

ค. รักษาหนองใน

  • ผู้ใหญ่รับประทาน 900 มิลลิกรัม ครั้งเดียวและอาจต้องรับประทานซ้ำในวันที่สอง และ วันที่สาม

ง. รักษาไข้สมองอักเสบอันมีสาเหตุจากแบคทีเรีย N.meningitidis

  • ผู้ใหญ่รับประทาน 600 มิลลิกรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 4 วัน

ทั้งนี้ การรับประทานไรแฟมพิน ควรรับประทานในช่วงท้องว่าง หรือก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไรแฟมพิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำ บาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไรแฟมพินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนเกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไรแฟมพิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า

ยาไรแฟมพินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ของยาไรแฟมพินคือ อาจทำให้เกิดอาการผื่นคัน รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง ตับอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ (Flu syndrome)

มีข้อควรระวังการใช้ยาไรแฟมพินอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาไรแฟมพิน คือ

  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยาไรแฟมพิน
  • ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยโรคดีซ่าน
  • ระวังการใช้ยากับหญิงที่ตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร

***** อนึ่ง

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิดที่รวมถึงยาไรแฟมพิน ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไรแฟมพินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไรแฟมพินมีปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาตัวอื่น คือ

  • การใช้ยาไรแฟมพินร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด จะส่งผลให้ประสิทธิผลของยาต้านการแข็งตัวของเลือดลดลง โดยมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด/หายใจลำบาก การมองเห็นไม่ชัด เจน บวม ห้อเลือด หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบพบแพทย์ผู้ทำการรักษาทันที ยาต้านการแข็ง ตัวของเลือดดังกล่าว เช่น Dicumarol และ Warfarin
  • การใช้ยาไรแฟมพินร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะ สามารถลดประสิทธิภาพของยากดภูมิคุ้มกันฯดังกล่าวได้ ผลที่ติดตามมา เช่น การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะล้ม เหลวด้วยร่างกายปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่ายมาใหม่ ยากดภูมิคุ้มกันฯข้างต้น เช่น Cyclosporine
  • การใช้ยาไรแฟมพินร่วมกับยารักษาวัณโรคบางตัว สามารถส่งผลกระทบต่อตับ จนก่อให้มีอาการ ไข้ หนาวสั่น ปวดตามข้อ บวมตามร่างกาย อ่อนเพลีย อาจพบอาการตกเลือด ผื่นคัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ตัวเหลือง หากพบอาการข้างต้น จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อขอปรับขนาดการรับประทาน ยารักษาวัณโรคดังกล่าว ได้แก่ Isoniazid, Pyrazinamide
  • การใช้ยาไรแฟมพินร่วมกับยารักษาโรคภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง สามารถทำให้ระดับยาที่ใช้รักษาโรคภูมิคุ้มกันฯบกพร่องในร่างกายลดต่ำลงและด้อยประสิทธิภาพ แพทย์จะเป็นผู้ปรับ เปลี่ยนระยะเวลาและขนาดการรับประทานเพื่อความเหมาะสมต่อผู้ป่วย ยาที่ใช้รักษาโรคภูมิคุ้ม กันบกพร่องดังกล่าว เช่น Indinavir, Lopinavir

ควรเก็บรักษายาไรแฟมพินอย่างไร

สามารถเก็บยาไรแฟมพินในอุณหภูมิห้อง บรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็ก

ยาไรแฟมพินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไรแฟมพินมีชื่อการค้า และชื่อบริษัทผู้ผลิต ในประเทศไทย เช่น

ชื่อทางการค้า บริษัทผู้ผลิต
Manorifcin (มาโนริฟซิน)March Pharma
Ricin (ไรซิน)Atlantic Lab
Rifacin-A (ไรฟาซิน-เอ)Utopian
Rifadin (ไรฟาดิน)Sanofi-aventis
Rifagen (ไรฟาเจน)General Drugs House
Rifam (ไรแฟม)Siam Bheasach
Rifamcin (ไรแฟมซิน)Pond’s Chemical
Rifam-P (ไรแฟม-พี)P P Lab
Rifampicin Acdhon (ไรแฟมพิซิน แอคฮอน)Acdhon
Rifampicin GPO (ไรแฟมพิซิน จีพีโอ)GPO
Rimaccin (ไรแมคซิน)Chinta
Rimecin (ไรเมซิน)Pharmasant Lab
Ripin (ไรพิน)Picco Pharma

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Rifadin [2014,Apri9].
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Rifampicin[2014,Apri9].
  3. http://www.drugs.com/drug_interactions.php [2014,April9].
  4. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a682403.html#storage-conditions [2014,April 9].