ยาไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) เป็นยารักษาโรคเบาหวาน มีสูตรโครงสร้างใกล้ เคียงกับยากลุ่มซัลฟา (Sulfa drugs) ถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) องค์การอนามัยโลกลงมติให้เป็นยาจำเป็นสำหรับระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของประเทศต่างๆ ประเทศไทยโดยข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขก็จัดไกลเบนคลาไมด์ชนิดเม็ด ขนาด 2.5 และ 5 มิลลิกรัมอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเช่นเดียวกัน

การศึกษาเรื่องการกระจายตัวของยาเมื่อเข้าสู่ร่างกายพบว่า ไกลเบนคลาไมด์สามารถจับตัวกับโปรตีนในเลือดได้เป็นจำนวนมาก ยาจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยอวัยวะตับ และมีระยะเวลาในการออกฤทธิ์นานถึงประมาณ 24 ชั่วโมง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะและอุจจาระในปริมาณที่พอๆ กัน

ยาไกลเบนคลาไมด์จัดอยู่ในหมวดยาอันตราย มีผลข้างเคียง ข้อห้ามใช้ และข้อควรระวังในการใช้หลายประการ การใช้ยากับผู้ป่วยเบาหวานแต่ละรายจึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น

ยาไกลเบนคลาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไกลเบนคลาไมด์

ยาไกลเบนคลาไมด์มีสรรพคุณคือ ใช้บำบัดรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes)

ยาไกลเบนคลาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไกลเบนคลาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะกระตุ้น เบต้า - เซลล์ (Beta cell) ในตับอ่อนให้เพิ่มการหลั่งสารอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายใช้น้ำตาลในกระแสเลือดได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายดูดน้ำตาลกลูโคส (Glucose) จากกระแสเลือดเข้าไปเก็บที่ตับ และทำให้กล้ามเนื้อลายใช้น้ำตาลได้มากยิ่งขึ้น จากกระบวนการที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้ยานี้มีฤทธิ์ในการรักษาโรคเบาหวานตามสรรพคุณ

ยาไกลเบนคลาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไกลเบนคลาไมด์จัดจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ด ขนาด 2.5 และ 5 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาไกลเบนคลาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไกลเบนคลาไมด์ มีขนาดรับประทาน ดังนี้ คือ ขนาดยาเมื่อเริ่มต้นให้รับประทานวันละครั้งๆละ 2.5 มิลลิกรัม จากนั้นให้เพิ่มปริมาณอีก 2.5 มิลลิกรัมในวันถัดมาอีก 3 - 5 วัน

สามารถปรับขนาดการรับประทานเฉลี่ยเป็น 15 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดต่อครั้งต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัม ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาพร้อมกับอาหารเช้า และกระจายขนาดรับประทานที่เหลือไปที่ก่อนอาหารเย็น ทั้งนี้ขนาดรับประทานทั้งหมดต่อวันรวมถึงวิธีแบ่งรับประ ทาน แพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยจะเป็นผู้แนะนำ

*****หมายเหตุ:

แพทย์จะเป็นผู้แนะนำขนาดยานี้ในการรับประทานแต่ละครั้งและในแต่ละวัน โดยประเมินขนาดยาที่เหมาะสมจากอาการของผู้ป่วยและจากการตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่ควรปรับขนาดการรับประทานยาด้วยตนเอง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไกลเบนคลาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไกลเบนคลาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไกลเบนคลาไมด์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาไกลเบนคลาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไกลเบนคลาไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ คือ อาจพบ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ, ระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร, กดการทำงานของไขกระ ดูก, และหากพบอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง เช่น เป็นผื่นขึ้นทั้งตัว หรือมีอาการบวมที่ใบหน้า ลำคอ ลิ้น วิงเวียน และหายใจลำบาก ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันที

มีข้อควรระวังการใช้ยาไกลเบนคลาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไกลเบนคลาไมด์ดังนี้

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type I DM) หรือผู้ที่อยู่ในภาวะโคม่าด้วยโรคเบาหวาน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรงและผู้ป่วยโรคตับ
  • ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาปฏิชีวนะ กลุ่ม Sulfonamides
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไกลเบนคลาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไกลเบนคลาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไกลเบนคลาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้

  • การใช้ยาไกลเบนคลาไมด์ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สามารถส่งผลให้เกิดภาวะน้ำ ตาลในเลือดต่ำได้มากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • การใช้ยาไกลเบนคลาไมด์ร่วมกับยาบางตัว เช่น Beta-blockers, Bezafibrate, Biguanides, Chloramphenical, Clofibrate, Coumadin, Monoamine oxidase inhibitors (MAOIs), Salicylates, Tetracyclines, สามารถส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากต้องใช้ยาร่วมกัน ควร ต้องปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสม
  • การใช้ยาไกลเบนคลาไมด์ ร่วมกับยาบางตัว เช่น กลุ่มยาแก้ท้องผูก , Corticosteriods, Nicotinic acid, Estrogen, Phenothiazine, Saluretics, และไทรอยด์ฮอร์โมน สามารถลดประ สิทธิภาพในการรักษาของไกลเบนคลาไมด์ และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรต้องปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสม

ควรเก็บรักษายาไกลเบนคลาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาไกลเบนคลาไมด์ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) เก็บยาให้พ้นแสงแดด และความชื้น ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาไกลเบนคลาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไกลเบนคลาไมด์ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Daonil (ดาวนิล)sanofi-aventis
Daono (ดาวโน)Milano
Debtan (เด็บแทน)Yung Shin
Diabenol (ไดเอเบนอล)Greater Pharma
Dibesin (ไดเบสซิน)SSP Laboratories
Glamide (กลาไมด์)Community Pharm PCL
Glibenclamide Asian Pharm (ไกลเบนคลาไมด์ เอเซียน ฟาร์ม) Asian Pharm
Glibenclamide GPO (ไกเบนคลาไมด์ จีพีโอ)GPO
Glibetic (ไกลเบติค)The Forty-Two
Glibic (ไกลบิค)Medicine Products
Gliclamin (ไกลคลามิน)Inpac Pharma
Glicon (ไกลคอน)Suphong Bhaesaj
Glimide (ไกลไมด์)Pharmahof
Gluconil (กลูโคนิล)Utopian
Gluzo (กลูโซ)Pharmasant Lab
Locose (โลคอส)T. Man Pharma
Manoglucon (แมโนกลูคอน)March Pharma
Semi Diabenol (เซมิ ไดเอเบนอล)Greater Pharma
Sugril (ซูกริล)Siam Bheasach
T.O. Nil (ที.โอ. นิล)T. O. Chemicals
Xeltic (เซลติค)Unison

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Micronase, Diabeta, Glynase Prestab, Glyburide, Diolin, Euglucon, Glco, Glibet, Glinil, Gluconil, Glucosafe, Glunil, Glyboral, Glubovin, G-Nil

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Glibenclamide[2017,June3]
  2. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/105#item-8702[2017,June3]
  3. https://mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=glibenclamide[2017,June3]
  4. https://mims.com/THAILAND/drug/info/Daonil/[2017,June3]
  5. http://drugs.webmd.boots.com/drugs/drug-222-Glibenclamide.aspx[2017,June3]
  6. http://www.drugs.com/drug-interactions/glyburide-index.html?filter=2&generic_only=#C[2017,June3]
Updated 2017, June3