ยาแก้ท้องเสีย (Antidiarrhea drugs)

บทความที่เกี่ยวข้อง

เมื่อพูดถึงภาวะ/โรคท้องเสียหรือท้องเดิน เป็นคำไทยแท้ที่ผสมระหว่าง "ท้อง" กับคำว่า "เสีย" หรือ "เดิน" สื่อให้เห็นถึงสิ่งที่ไม่ดี ไม่เป็นปกติที่เกิดกับท้องหรือลำไส้ หรือทางเดินอาหาร โดยมีอาการถ่ายผิดปกติ คือถ่ายเหลว หรือถ่ายบ่อยครั้ง มากกว่าในภาวะปกติ

โรคท้องเสียนี้เป็นโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในประเทศไทย เกิดขึ้นได้ทุกฤดูกาล และมีสาเหตุของท้องเสียหลากหลายมากมาย แต่ที่พบบ่อยๆ และขอกล่าว ณ ที่นี้มี 2 ประเภทใหญ่ คือ ท้องเสียที่เกิดจากภาวะทางจิตใจ/อารมณ์ (ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ) และท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อ

  1. ท้องเสียที่เกิดจากจิตใจ/อารมณ์

    ท้องเสียที่เกิดจากจิตใจ/อารมณ์ (Irritable bowel syndrome) เป็นกลุ่มอาการท้องเสียที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดเนื่องจากมีสิ่งกระตุ้นทางด้านจิตใจ ที่พบได้บ่อยๆ คือ ความ เครียด เมื่อใดที่มีความเครียด ตื่นเต้น กังวล ใกล้สอบ ไปสัมภาษณ์เข้างานใหม่ เปลี่ยนที่ทำงานใหม่ ฯลฯ

    สังเกตลักษณะเด่นของการปวดท้องประเภทนี้ว่า มักไม่มีอาการไข้ร่วมด้วยเหมือนท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อ (ที่จะกล่าวต่อไป) ซึ่งถ้าปวดท้องบ่อยๆร่วมกับท้องเสีย และหาสาเหตุไม่ได้ ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป

    ดังนั้น ผู้ป่วยก็ควรดูแลรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะทางด้านอารมณ์ให้ผ่อนคลาย เข้มแข็ง มีสมาธิ หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ก็พอจะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ลงได้

  2. ท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อ

    อาการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อ จะมีลักษณะเด่นแตกต่างจากท้องเสียชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ คือ มักจะถ่ายเหลว ถ่ายบ่อยกว่าปกติ ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระหลายครั้งพร้อมกับอาการไข้ ตัวร้อน อาจมีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว และคลื่นไส้ อาเจียนได้

    กรณีมีอาการไข้และถ่ายอุจจาระหลายๆครั้ง และมีทีท่าว่าจะเป็นมากขึ้นๆเรื่อยๆ หรืออาการแย่ลง แสดงว่ามีการติดเชื้อทางเดินอาหารและเริ่มจะลุกลามมากยิ่งขึ้น ควรสังเกตอาการ เพื่ออาจช่วยแยกชนิดของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของท้องเสีย ดังนี้

    1. ท้องเสียจากการติดเชื้อไวรัส: ท้องเสียชนิดนี้มักพบในเด็กเล็ก มีอาการถ่ายเหลว ถ่ายบ่อยๆ ไม่รู้ตัว อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ ตัวไม่ร้อน เด็กมักเล่นได้และซนตามปกติ ซึ่งคนโบราณเรียกว่า เด็กกำลังยืดตัว เพราะอาจเป็นช่วงที่เด็กกำลังคลานและเดิน พร้อมกับท้องเสีย ถ่ายเหลว ท้องเสียชนิดนี้มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส
    2. ท้องเสียจากเชื้อแบคทีเรีย: ท้องเสียที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมีหลายชนิด เช่น ไทฟอยด์ บิดไม่มีตัว อหิวาตกโรค เป็นต้น ในกรณีนี้แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะชื่อ นอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin ) ในการกำจัดเชื้อ โดยผู้ใหญ่ใช้ทานในขนาด 400 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารประมาณ ครึ่ง ถึง 1 ชั่วโมง หรือทุก 12 ชั่วโมงก็ได้ ควรใช้ติดต่อกันประมาณ 3 - 5 วัน

      ส่วนอาการอื่นๆก็รักษาตามอาการ เช่น ถ้าเป็นไข้/ตัวร้อน ปวดศีรษะ ก็อาจใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 4 - 6 ชั่วโมง เฉพาะเวลามีอาการไข้/ตัวร้อน ปวดศีรษะ ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย ก็อาจจะดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่หรือยาผงเกลือแร่โออาร์เอส (ORS:Oral rehydration salt) เพื่อทดแทนได้

    3. ท้องเสียจากเชื้อโรคบิด: ท้องเสียจากเชื้อบิด พบได้ไม่บ่อยนัก มี ๒ ประเภท คือ บิดไม่มีตัว และบิดมีตัว ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งทางด้านอาการที่เป็นและการรักษา บิดชนิดไม่มีตัวแตกต่างจากบิดชนิดมีตัวดังนี้
      • บิดชนิดไม่มีตัว มีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นจุลชีพเซลล์เดียวขนาดเล็กมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จะมีอาการไข้/ตัวร้อน และปวดเมื่อยเนื้อตัวที่รุนแรงกว่าบิดชนิดมีตัว จะถ่ายเหลวอาจเป็นน้ำ และถ่ายเป็นมูก และถ่ายวันละหลายๆครั้ง มากกว่า 3 - 5 ครั้งขึ้นไป และอ่อนเพลียมาก
      • บิดชนิดมีตัว เกิดจากเชื้ออะมีบา (Amoeba) ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสียน้อยกว่า วันละไม่เกิน 3 - 5 ครั้ง และมักไม่ถ่ายเหลว แต่จะถ่ายเป็นมูกเลือดตั้งแต่ครั้งแรกๆของการติดเชื้อ

    เมื่อไหร่ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

    ถ้าผู้ป่วยท้องเสียแล้วมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วยเป็นเรื่องอันตราย ควรต้องรีบไปโรงพยาบาล

    • ไข้สูงมาก
    • เหงื่อออกมาก ตัวเย็น
    • เซื่องซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือกระสับกระส่าย คลุ้มคลั่ง
    • ชีพจรเบาและเร็วมาก
    • ไม่ปัสสาวะนานเกิน 6 ชั่วโมง
    • อุจจาระมีเลือดปน
    • อาเจียนติดต่อกันหลายครั้ง ไม่สามารถดื่มน้ำได้เพียงพอ
    • ปวดท้องมาก ท้องแข็งเป็นกระดาน กดเจ็บ
    • เด็กทารก, หญิงตั้งครรภ์, คนชรา/ผู้สูงอายุ และคนที่ร่างกายอ่อนแอมาก/มีโรคประ จำตัว ควรระวังเป็นพิเศษ
    • ท้องเสียเป็นนานเกิน 2 วัน

    ยารักษาโรคท้องเสีย

    การรักษาโรคท้องเสียประกอบด้วย

    1) การให้น้ำและสารอาหารอย่างเพียงพอ

    ผงเกลือแร่/โออาร์เอส (ชนิดรับประทาน) ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการรักษามาเป็นเวลา นาน และร่วมกับผู้ป่วยควรได้รับสารอาหาร (ชนิดรับประทาน)/อาหารน้ำหรืออาหารเหลว (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง อาหารทางการแพทย์) ในช่วงที่มีอาการท้องเสียอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำและอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้

    2) ยากลุ่ม Zinc และ Probiotic

    ก. Zinc: จะช่วยลดอาการแทรกซ้อนและลดการตายจากอาการท้องเสียได้ (ยาอยู่รูปยาเม็ด)
    ข้อบ่งใช้ยา Zinc: รักษาโรคท้องเสียจากการติดเชื้อ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย

    ข. Probiotic ซึ่งเป็นแบคทีเรีย (จุลินทรีย์) ในลำไส้เล็ก จะช่วยลดระยะเวลาของการเกิดท้องเสีย Probiotic นี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันฯที่เหมาะสมต่อเยื่อเมือกของลำไส้ ทั้งยังป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารด้วย

    • ยา Probiotic ในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ

      2.1) Bioflor (Lyophilized Saccharomyces boulardii) ยาอยู่ในรูปแคปซูล และเป็นผงบรรจุในซอง

      2.2) Infloran (Lyophilized Lactobacillus acidophilus และ Bifidobacterium bifidum) ยาอยู่ในรูปแคปซูล

    • ข้อบ่งใช้ Probiotic: ยามีผลต่อสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งถ้ารับประทานในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยส่งเสริมสุขภาพของร่างกาย ทั้งสองชนิดนี้ต่างกันที่เป็น Probiotic คนละสายพันธุ์

    3) ยาป้องกันอาการท้องเสีย

    ยาที่ถือว่าปลอดภัยและมีประสิทธิผลดีในการรักษาโรคท้องเสียเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อคือ Bismuth subsalicylate และยา Racecadotril (Hidrasec) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาท้องเสียในเด็ก

    ก. Bismuth subsalicylate (Gastro Bismol) จะจับกับสารพิษจากแบคทีเรีย (Enterotoxin) ทำให้เกิดผลโดยตรงต่อการต้านแบคทีเรีย และช่วยกระตุ้นการดูดกลับของน้ำและโซเดียมภายในลำ ไส้

    • ยา Gastro Bismol ใช้ในเด็กอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป
    • ยาอยู่ในรูปแบบชนิดเม็ด และชนิดน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
    • ข้อบ่งใช้: รักษาโรคแผลเปบติค, ปวดเกร็งกล้ามเนื้อท้อง, คลื่นไส้, ควบคุมอาการท้อง เสีย, รวมทั้งท้องเสียจากการเดินทาง
    • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้ ผู้ป่วยโรคไต และระวังการใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

    ข. Racecadotril (Hydrasec) เป็น Encephalinase inhibitor (ตัวยับยั้งเอนไซม์ที่ทำลายสาร Encephalin ในทางเดินอาหาร) ช่วยต้านอาการท้องเสีย ซึ่งสาร Encephalin มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสารน้ำในทางเดินอาหาร ทำให้ Encephalin มากขึ้น จึงสามารถลดอาการท้องเสียได้

    • ยานี้ใช้ในเด็กเล็กได้
    • ยาอยู่ในรูปแคปซูล และรูปแบบผงบรรจุในซอง
    • ข้อบ่งใช้: ใช้รักษาอาการท้องเสียเฉียบพลัน
    • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้ และระวังการใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

    4) ยาปฏิชีวนะ

    ยาที่ใช้รักษาอาการท้องเสียก่อนได้รับผลวินิจฉัยว่าเกิดจากเชื้อใด คือ

    ก. Norfloxacin: ใช้รักษา บิดไม่มีตัว, อาหารเป็นพิษ, อหิวาตกโรค ทั้งนี้ ยาอยู่ในรูปแบบยาเม็ด

    • ข้อบ่งใช้: Norfloxacin ใช้รักษาโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และในทางเดินอาหาร
    • ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

    ข. Ciprofloxacin: ใช้รักษา บิดชนิดไม่มีตัว, อาหารเป็นพิษ, อหิวาตกโรค โดยยาอยู่ในรูปแบบ ยาเม็ด

    • ข้อบ่งใช้: Ciprofloxacin ใช้รักษาโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และในทางเดินอาหาร
    • ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

    ค. Bactrim: (Trimethoprim/Sulfomethoxazole) ใช้รักษาบิดมีตัว โดยยาอยู่ในรูปแบบยาเม็ด และยาน้ำแขวนตะกอน

    • ข้อบ่งใช้: ใช้รักษาโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจ และในทางเดินอาหาร
    • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้ และระวังการใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

    ง. Flagyl (Metronidazole): ใช้รักษาบิดมีตัว โดยยาอยู่ในรูปแบบยาเม็ด และยาน้ำแขวนตะกอน

    • ข้อบ่งใช้: ใช้รักษาโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร และในทางเดินปัสสาวะ
    • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้ และในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

    5) ยาหยุดถ่าย

    หมายถึง ยาที่มีฤทธิ์ลดการบีบตัวหรือลดการเคลื่อนที่ของลำไส้ ซึ่งมีการใช้รัก ษาเพื่อช่วยลดจำนวนครั้งของการถ่าย ตัวอย่างเช่น Imodium (Loperamide), Lomotil (Diphe noxylate atropine) เป็นต้น

    • ยากลุ่มนี้เป็นอนุพันธุ์ของยาเสพติดกลุ่มฝิ่น (Opiate และ Opioid analogues) เช่น Lopera mide, Diphenoxylate atropine มีผลยับยั้งการบีบตัวของลำไส้, ลดการสร้างสารน้ำ (fluid) ในลำไส้, และเพิ่มการดูดกลับของน้ำจากลำไส้เข้าสู่ร่างกาย
    • ยา Loperamide เป็นยาตัวเดียวเป็นที่นิยมใช้มากกว่ายาอื่นๆ เช่น Diphenoxylate atropine เนื่องจากตัวยาออกฤทธิ์โดยไม่ผ่านสมอง และไม่มียา Atropine (ยาต้านการทำงานของระบบประ สาทอัตโนมัติ) ผสมอยู่ จึงไม่มีผลข้างเคียง เช่น หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น ซึ่งอาจใช้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อที่เป็นต้นเหตุ

    6) กลุ่มอื่นๆ เช่น

    ก. ยาน้ำ Kaopectate (Kaolin Pectin): ออกฤทธิ์โดยการดูดซับเชื้อโรค และป้องกันการจับของเชื้อโรคกับผนังลำไส้ ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ ดูดซับของเหลวส่วนเกินในลำไส้

    • ใช้แก้ท้องเสียในเด็กเล็กอายุมากกว่า 1 ขวบ
    • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้ และระวังการใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

    ข. ยา Furazolidone: (ฟูราโซลิโดน) เป็นยารักษาอาการท้องเสีย จากการติดเชื้อบิดมีตัว และลำไส้อักเสบ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย

    • ข้อบ่งใช้: ใช้แก้ท้องเสียในเด็กเล็กอายุมากกว่า 1 ขวบ
    • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้ และระวังการใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

    ค. ยา Ultra Carbon: เป็นยาใช้รักษาอาการท้องเสีย ยาออกฤทธิ์โดยการดูดซับเชื้อโรคและสาร พิษจากเชื้อโรค โดยยานี้ควรรับประทานตอนท้องว่าง หรือก่อนอาหารประมาณ 1 ชม.(ชั่วโมง) หรือหลังอาหารประมาณ 2 ชม. หากต้องรับประทานร่วมกับยาอื่น ต้องห่างจากยานี้ประมาณ 2 ชม.

    สรุป

    • ควรเริ่มทานยาแก้ท้องเสียเมื่อมีการถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งใน 1 วัน โดยอา การนำของการเกิดท้องเสีย คือ ลำไส้จะมีการเคลื่อนไหวหรือบีบตัวอย่างมาก อาจมีท้องอืด ท้อง เฟ้อ มักปวดท้อง ถ่ายง่าย และอ่อนเพลีย เมื่อมีการถ่ายบ่อยครั้งขึ้น
    • ผงเกลือแร่ (โออาร์เอส/ORS) สามารถทานได้บ่อยๆ จนกว่าจะหยุดท้องเสีย ส่วนกรณีของยาปฎิชีวนะ ควรทานยาติดต่อกันอย่างน้อย 3 วันขึ้นไป จนกระทั่งหยุดท้องเสีย
    • เมื่อทานยาปฎิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแล้ว อาการไม่ดีขึ้น โดยยังมีอาการท้องเสีย อ่อนเพลีย และ/หรือ มีไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส (Celsius) ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
    • ท้องเสียในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี หรือในผู้สูงอายุ ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต (ตาย) ได้ง่าย ไม่ควรซื้อยาทานเอง
    • ท้องเสียที่เกิดในสตรีตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะอาจเกิดอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้ ไม่ควรซื้อยาทานเอง

    บรรณานุกรม

    1. http://www.doctor.or.th/article/detail/1545 [2014,May28].
    2. http://drug.pharmacy.psu.ac.th/Question.asp?ID=7&gid=2 [2014,May28].
    3. http://utaisuk.blogspot.com/2013/03/hidrasec.html [2018,May28].
    4. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=647301 [2014,May28].