ยาเฮพาริน (Heparin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เฮพาริน (Heparin หรือ Unfractionated heparin ย่อว่า UFH, หรือ Heparin sodium) เป็นสารชีวโมเลกุล (Biomolecule: โมเลกุลที่มีในสิ่งมีชีวิต โดยมีธาตุ ออกซิเจน คาร์บอน และ ไฮโดรเจน เป็นส่วนประกอบหลัก) ที่มีประจุลบ (Negative ion) และมีความหนาแน่นสูง มีหน้าที่สำคัญคือ ต้านการแข็งตัวของเลือด มีการทดลองใช้เฮพารินกับมนุษย์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1935 (พ.ศ. 2478) อีก 2 ปีต่อมาวงการแพทย์ยอมรับด้วยเหตุผลว่า เฮพารินสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในมนุษย์

ประโยชน์ของเฮพารินที่ใช้ในวงการแพทย์ เช่น

  • ใช้ในโรคหลอดเลือดหัวใจแบบเฉียบพลัน
  • รักษาภาวะอุดตันของหลอดเลือดดำและเส้นเลือดในปอดอุดตัน
  • สำหรับการผ่าตัดหัวใจ
  • ใช้ในการทำหัตถการของการช่วยชีวิต
  • ป้องกันการแข็งตัวของเลือดขณะทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การล้างไต)

จากการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic: การเป็นไปของยาเมื่อเข้าสู่ร่างกาย) ของเฮพารินในร่างกายมนุษย์พบว่า เมื่อเข้าสู่ร่างกาย เฮพารินจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดย ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.5 ชั่วโมงในการกำจัดเฮพารินออกจากร่างกาย 50% โดยผ่าน ไปกับปัสสาวะ

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เฮพารินเป็นยาขั้นพื้นฐานที่ควรต้องมีประจำในสถานพยา บาลของรัฐ คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุเฮพารินลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และถูกจัดให้อยู่ในหมวดยาอันตรายเพื่อใช้รักษา

  • ภาวะอุดตันของหลอดเลือดดำ หรือภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Deep vein thrombosis) และเส้นเลือดในปอดอุดตัน หรือ สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด(Pulmonary embolism)
  • ภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตันหรือโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตัน (Venous stroke) และ มีลิ่มเลือดอุดตันที่หัวใจ(Cardio embolic stroke)
  • โรคหลอดเลือดหัวใจแบบเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome)

หมายเหตุ: เฮพารินที่พบเห็นกันบ่อยๆมีรูปแบบยาฉีด เฉลี่ยอายุการเก็บรักษาอยู่ที่ 18 เดือน - 3 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตของแต่ละบริษัท การใช้ยาต้องอาศัยหัตถการทางการ แพทย์ที่มีผู้ชำนาญการ เช่น แพทย์ พยาบาล เป็นผู้บริหารการใช้ยาต่อผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป จึง จะปลอดภัย

ยาเฮพารินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาเฮพาริน

ยาเฮพารินมีสรรพคุณดังนี้

  • รักษาภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
  • ป้องกันภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำหลังการผ่าตัด (Prophylaxis of postoperative venous thromboembolism)
  • ป้องกันการแข็งตัวของเลือดที่ทำให้สายสวนอวัยวะต่างๆอุดตัน (Prophylaxis of mural thrombosis)
  • รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากหลอดเลือดที่ตีบ (Unstable angina)
  • รักษาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral arterial embolism)

ยาเฮพารินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิของยาเฮปารินคือ ตัวยาเฮพารินจะยับยั้งกระบวนการเปลี่ยนสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดที่ชื่อ Prothrombin ไปเป็น Thrombin และกระบวนการเปลี่ยนสาร Fibrinogen ไปเป็น Fibrin จากกลไกข้างต้นทำให้เกิดการยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือด จึงทำให้ยานี้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ยาเฮพารินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเฮพารินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • รูปแบบยาฉีด ขนาดความแรง 5,000 อินเตอร์เนชั่นแนลยูนิต/มิลลิลิตร
  • รูปแบบยาขี้ผึ้ง(Heparin gel) ขนาดความแรง เช่น 50,000 อินเตอร์เนชั่นแนลยูนิต/100 กรัม ยารูปแบบนี้เป็นยาทาเฉพาะที่เพื่อการลดบวมที่เกิดจากหลอดเลือดอักเสบ
  • รูปแบบยาฉีดที่ใช้เป็นยาล้างลิ่มเลือด/สารโปรตีนในหลอดสวนเลือดดำ(Heparin flush)เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดหรือสารโปรตีนอุดตันหลอดสวนหลอดเลือดดำ เช่น หลอดสวนฯที่ใช้ให้สารอาหารทางหลอดเลือด เป็นต้น

ยาเฮพารินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเฮพารินมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น

  • ฉีดเข้าหลอดเลือด 5,000 - 10,000 อินเตอร์เนชั่นแนลยูนิต ทุก 4 - 6 ชั่วโมง
  • ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 10,000 อินเตอร์เนชั่นแนลยูนิต ทุก 8 ชั่วโมง

อนึ่ง ขนาดของการใช้ยาเฮพารินจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ต่อคนไข้เป็นรายบุคคลไป อีกทั้งต้องอาศัยเครื่องมือเฉพาะของหัตถการทางการแพทย์ รวมถึงบุคคลากรพยาบาลชำนาญการ เป็นองค์ประกอบในการให้ยาเพื่อรักษาคนไข้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเฮพาริน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่โดยเฉพาะแอสไพริน หรือยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด/ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น Dipyridamole เพราะยาเฮพารินอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ยาเฮพารินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเฮพารินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก อาจพบลมพิษ หอบหืด ผมร่วงเป็นหย่อมๆ แน่นจมูก ตาแดง ภาวะกระดูกพรุน เกิดภาวะเลือดออกตามร่างกายในอวัยวะต่างๆ เช่น ไอเป็น เลือด ปัสสาวะเป็นเลือด

มีข้อควรระวังการใช้ยาเฮพารินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเฮพารินดังนี้

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีภาวะเลือด ออกผิดปกติ ผู้ป่วยเยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง และผู้ป่วยด้วย หลอดเลือดในหลอดอาหารโป่งพอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดและมีความเสี่ยงต่อการที่เลือดจะไหลออกง่าย
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีบาดแผลที่อวัยวะสำคัญๆ เช่น ที่ ตับ ไต หรือมีภาวะหลอดเลือด ฉีกขาด
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาเฮพาริน
  • ระหว่างการใช้ยานี้ต้องตรวจสอบระดับเกล็ดเลือดของผู้ป่วยควบคู่กันไป
  • หยุดให้ยาเฮพารินทันทีหากพบว่าผู้ป่วยมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ระวังการใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์และผู้สูงอายุ
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุก ชนิด (รวมยาเฮพารินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเฮพารินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเฮพารินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้ การใช้เฮพารินร่วมกับยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด เช่น Aspirin และ Dipyridamole สามารถทำให้เกิดภาวะตกเลือดในผู้ป่วยได้ หากไม่มีความจำเป็นควรต้องระวังและหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาเฮพารินอย่างไร?

ควรเก็บยาเฮพารินภายใต้อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส(Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาเฮพารินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเฮพารินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
DBL Heparin (ดีบีแอล เฮพาริน)Hospira
Heparin LEO (เฮพาริน แอลอีโอ)LEO Pharma
Heparin Sato (เฮพาริน ซาโต)Sato Pharma
Heparin Sodium Kamada (เฮพาริน โซเดียม คามาดา)Kamada

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ เช่น Beprin, Caprin, Cathflush, Declot, Hepgel, Heparen, Heplock, V-parin, Thrombophob gel

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Heparin#Medical_use [2018,Jan20]
  2. http://www.uptodate.com/contents/hemodialysis-anticoagulation [2018,Jan20]
  3. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/44#item-8423 [2018,Jan20]
  4. http://www.mims.com/USA/drug/info/heparin/?type=full&mtype=generic#Dosage [2018,Jan20]
  5. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Heparin%20LEO/?type=brief [2018,Jan20]
Updated 2018,Feb20