ยาเสพติด (Narcotic drug)

บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาเสพติด หรือ สิ่งเสพติด หรือ สารเสพติด (Narcotic หรือ Drug หรือ Opiate) ในความ หมายขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization/WHO) จะหมายถึง สิ่งที่เสพเข้าไปแล้วจะเกิดความต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อไปโดยไม่สามารถหยุดเสพได้ และจะต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่อร่างกายและต่อจิตใจ

ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พุทธศักราช 2522 ที่ใช้ในปัจจุบันได้กำหนดความ หมายสิ่งเสพติดให้โทษดังนี้ สิ่งเสพติดให้โทษ หมายถึง "สารเคมีหรือวัตถุชนิดใดๆ” ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใดๆ แล้วทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ และจะต้องทำให้ผู้เสพแสดงออกซึ่งลักษณะ ดังนี้

  1. ผู้เสพมีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะเสพยาชนิดนั้นๆต่อเนื่องกันไป และต้องแสวงหายาชนิดนั้นๆมาเสพให้ได้ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆก็ตาม
  2. ผู้เสพจะต้องเพิ่มปริมาณของยาที่เคยใช้ให้มากขึ้นทุกระยะ
  3. ผู้เสพจะมีความปรารถนาอยากเสพยาชนิดนั้นๆอย่างรุนแรง ระงับไม่ได้ คือ มีการติดและอยากยาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

อนึ่ง ยาเสพติด ให้รวมตลอดถึง พืช หรือ ส่วนของพืช ที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษ หรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษ และสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษด้วย แต่ไม่หมายความถึง ยาสามัญประจำบ้านบางตำรับ ตามกฎหมายว่าด้วยยาที่มียาเสพติดให้โทษผสมอยู่

ประเภทของยาเสพติด

แบ่งประเภทยาเสพติดได้ดังนี้

ก. แบ่งตามการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท (Effects on nervous system) แบ่งเป็น 4 ประ เภท คือ

  1. ประเภทกดประสาท (Sedative) ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน (Morphine) เฮโรอีน (Heroin) ยานอนหลับ ยาระงับประสาท/ยากล่อมประสาท/ยาคลายเครียด เครื่องดื่มมึนเมา บาร์บิทูเรตทุกชนิด (Barbiturate: กลุ่มยาชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์กด ระบบประสาท) รวมทั้ง สารระเหย เช่น ทินเนอร์ แล็กเกอร์ น้ำมันเบนซิน เป็นต้น มักพบว่าผู้เสพติดยาเสพติดกลุ่มนี้ มักมีร่างกายซูบซีด ผอมเหลือง อ่อน เพลีย ฟุ้งซ่าน อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
  2. ประเภทกระตุ้นประสาท (Stimulant) ได้แก่ ยาบ้า/ยาม้า/ยาขยัน/ยาโดป/แอมเฟตามีน (Amphetamine) ยาไอซ์ (Methamphetamine) ยาอี/ยาเลิฟ (Ecstacy) โคเคน (Cocaine) เครื่องดื่มกาเฟอีน ซึ่งมักพบว่าผู้เสพติดยาเสพติดกลุ่มนี้ จะมีอาการหงุดหงิด กระวนกระวาย จิตสับ สน หวาดระแวง บางครั้งมีอาการคลุ้มคลั่งหรือทำในสิ่งที่คนปกติไม่กล้าทำ เช่น ทำร้ายตนเอง หรือฆ่าผู้อื่น เป็นต้น
  3. ประเภทหลอนประสาท (Hallucinogen) ได้แก่ แอลเอสดี (LSD: Lysergic acid diethylamide) เห็ดขี้ควาย ดีเอ็มที (DMT: Dimethyltryptamine) และ ยาเค (Ketamine) เป็นต้น ซึ่งผู้เสพติดจะมีอาการประสาทหลอน ฝันเฟื่อง หูแว่ว ได้ยินเสียงประหลาด หรือเห็นภาพหลอนที่น่าเกลียดน่ากลัว ควบคุมตนเองไม่ได้ และในที่สุดมักป่วยเป็นโรคจิต
  4. ประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน (Combining action) คือทั้งกระตุ้น กด และหลอนประ สาทร่วมกัน ซึ่งผู้เสพติดมักมีอาการหวาดระแวง ความคิดสับสน เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ควบคุมตน เองไม่ได้และป่วยเป็นโรคจิต ยากลุ่มนี้ เช่น กัญชา

ข แบ่งตามแหล่งที่เกิด (Source of drugs) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • ยาเสพติดธรรมชาติ (Natural Drugs) คือ ยาเสพติดที่ผลิตมาจากพืช เช่น ฝิ่น มอร์ฟีน กระท่อม กัญชา เป็นต้น
  • ยาเสพติดสังเคราะห์ (Synthetic Drugs) คือ ยาเสพติดที่ผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีทางเคมี เช่น เฮโร อีน แอมเฟตามีน ยาอี เป็นต้น

ค. แบ่งตามกฎหมาย โดยแบ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ประเภทตามอันตรายและความรุนแรงของยาเสพติด และตามบทลงโทษจากมากไปหาน้อย (อ่านเพิ่มเติมใน บรรณานุกรม 5) ดังนี้

  • ประเภทที่ 1 ได้แก่ เฮโรอีน แอลเอสดี แอมเฟตามีน ยาอี
  • ประเภทที่ 2 ยาเสพติดประเภทนี้สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่ต้องใช้ภาย ใต้การควบคุมของแพทย์ และใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน โคเคน/โคคาอีน/โคเคอีน และเมทาโดน (Methadone)
  • ประเภทที่ 3 ยาเสพติดประเภทนี้เป็นยาเสพติดให้โทษที่มียาเสพติดประเภทที่ 2 ผสมอยู่ด้วย มีประโยชน์ทางการแพทย์ การนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นหรือเพื่อเสพติด จะมีบทลงโทษกำกับไว้ ยาเสพติดประเภทนี้ ได้แก่ ยาแก้ไอที่มีตัวยาโคเคอีน, ยาแก้ท้องเสียที่มีฝิ่นผสมอยู่, และยาฉีดระ งับปวดต่างๆ เช่น มอร์ฟีน เพทิดีน (Pethidine) ซึ่งสกัดมาจากฝิ่น
  • ประเภทที่ 4 คือ สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 1 หรือประเภทที่ 2 ยาเสพติดประเภทนี้ไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการบำบัดโรคแต่อย่างใด และมีบทลงโทษกำกับไว้ด้วย ได้แก่ น้ำยาอะเซติคแอนไฮไดรย์ (Acetic anhydride) และ อะเซติลคลอไรด์ (Acetyl chloride) ซึ่งใช้ในการเปลี่ยนมอร์ฟีนเป็นเฮโรอีน, และสารคลอซูโดอีเฟครีน (Chlo-pseudoephedrine) สามารถใช้ในการผลิตยาบ้าได้
  • ประเภทที่ 5 เป็นยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าข่ายอยู่ในยาเสพติดประเภทที่ 1 ถึง 4 ได้แก่ ทุกส่วนของพืชกัญชา, ทุกส่วนของพืช กระท่อม เห็ดขี้ควาย, เป็นต้น

ยาเสพติดที่แพร่ระบาดในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ยาเสพติดที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในปัจจุบันมี 6 ชนิด ซึ่งมีรายละ เอียด รูปลักษณะ อาการของผู้เสพ และอันตรายของยาเสพติดแต่ละชนิดดังต่อไปนี้

  1. ยาบ้า ยาม้า ยาโดป หรือ ยาขยัน (Amphetamine):

    เป็นยากลุ่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่มีชื่อว่า เมทแอมเฟตามีน(Methamphetamine) ยาบ้าที่ลักลอบจำหน่ายกันอยู่ในปัจจุบันมีลักษณะเป็นยาเม็ดสีส้ม สีน้ำตาล หรือสีเขียว ด้านหนึ่งของเม็ดยาจะมีสัญลักษณ์เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ “wy” ส่วนอีกด้านจะเป็นรอยขีดแบ่งครึ่งเม็ด ในยาบ้า 1 เม็ดจะมีสารเมทแอมเฟตามีน ประมาณ 25 – 30 มิลลิกรัม อาจเสพโดยการกิน เผาไฟแล้วสูบควัน หรือฉีดเข้าหลอดโลหิตดำ

    ยาบ้าจะออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง อันได้แก่ สมองและไขสันหลัง ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น อัตราการหายใจถี่ขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น ม่านตาขยายกว้างขึ้นและไม่รู้สึกหิว

    นอกจากนั้น ผู้ใช้ยาจะมีเหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว และนอนไม่หลับ ถ้าเสพยาเข้าไปในปริมาณมาก จะมีอาการหัวใจเต้นรัวผิดปกติ เนื้อตัวสั่นเทา ทรงตัวไม่ได้ และสิ้นสติ ถ้าเสพเข้าไปในปริมาณที่มากเกินกว่าร่างกายจะทนรับไหว จะทำให้เกิดอาการหัวใจวาย เสียชีวิต (ตาย) ได้

    นอกจากนี้ ยาบ้ายังทำให้เกิดอาการผิดปกติทางจิตและประสาทด้วย โดยผู้เสพยาบ้าจะมีอา การรู้สึกสับสน หงุดหงิด วิตกกังวลใจ และนอนไม่หลับ อาการดังกล่าวจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อเสพยามากขึ้น และจะทำให้ผู้เสพกลายเป็นคนวิกลจริต โดยจะมีอาการเพ้อคลั่ง มองเห็นภาพหลอน หูแว่ว และหวาดระแวง หลงผิดว่าคนอื่นจะมาทำร้าย ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้เสพยาบ้าหันไปทำร้ายผู้อื่นเสมอ

  2. เฮโรอีนและอนุพันธุ์ของฝิ่นชนิดอื่นๆ (Heroin and derivative of opium):

    เฮโรอีนเป็นยาเสพติดที่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมีที่ทำมาจากมอร์ฟีนซึ่งได้มาจากฝิ่น เฮ โรอีนมีลักษณะเป็นผงสีขาว มีรสขมจัด ไม่มีกลิ่น ละลายน้ำได้ง่าย

    เฮโรอีนสามารถเสพโดยการนำไปละลายน้ำแล้วฉีดเข้าหลอดโลหิตดำ หรือนำไปผสมใส่ในมวนบุหรี่แล้วสูบ หรือนำไปลนไฟแล้วสูดไอระเหย เฮโรอีนเป็นยาเสพติดที่ร้ายแรงและติดง่ายที่สุด

    เมื่อเสพเฮโรอีนหรือยาเสพติดที่เป็นอนุพันธุ์ของฝิ่น เช่น มอร์ฟีน เข้าไปแล้ว ผู้เสพจะมีอา การเคลิบเคลิ้ม มึนเมา ลืมความทุกข์ในจิตใจไปชั่วขณะ

    เนื่องจากเฮโรอีนและอนุพันธุ์ฝิ่นชนิดอื่นๆมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ผู้เสพยาพวกนี้จึงมีอาการง่วงซึม ม่านตาหรี่ลงเล็กน้อย ตาแฉะ ในผู้ที่เสพยาพวกนี้ครั้งแรก อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเกิดขึ้นได้

    เฮโรอีนหรือยาอนุพันธุ์ฝิ่นเป็นยาเสพติดที่มีฤทธิ์รุนแรง หากเสพมากเกินไปจนร่างกายทนไม่ไหว การทำงานของระบบการหายใจจะถูกกด ทำให้หายใจแผ่วและตื้น ผิวกายเย็นชื้น ชัก สลบ/หมดสติ และเสียชีวิต (ตาย) เนื่องจากภาวะหายใจล้มเหลว

    คนที่ติดเฮโรอีนหรือยาชนิดอื่นที่เป็นอนุพันธุ์ฝิ่น จะมีร่างกายซูบซีด ผอมเหลือง มีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เมื่อขาดยาจะมีอาการหงุดหงิด ทุรนทุราย หาว เหงื่อออกมาก เบื่ออาหาร ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง ท้องเดิน/ท้องเสีย อาเจียน ชักจนหมดสติ และถ้าร่างกายอ่อนแอก็อาจจะถึงขั้นทำให้เสียชีวิต (ตาย) ได้

  3. โคเคน (Cocaine):

    โคเคน เป็นสารเคมีที่สกัดมาจากใบของต้นโคคา (Coca) ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่เจริญงอกงามอยู่บนภูเขาสูงในทวีปอเมริกาใต้ โคเคนเป็นยาเสพติดที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทอย่างรุนแรง มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว นิยมเสพโดยการสูดผงยาเข้าโพรงจมูก มีอยู่ส่วนน้อยที่เสพโดยนำโค เคนไปละลายน้ำแล้วฉีดเข้าหลอดโลหิตดำ โคเคนทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับร่างกายได้ภายในเวลา 10 วินาทีหลังเสพ

    อาการผิดปกติจากฤทธิ์ของโคเคน ได้แก่ ม่านตาขยายกว้างขึ้นกว่าปกติ ความดันโลหิตสูง ขึ้นอย่างรวดเร็ว หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจถี่ และอุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้นสูงกว่าปกติ หากเสพโค เคนมากเกินไปจนร่างกายทนไม่ไหว ผู้เสพมักจะเสียชีวิต (ตาย) จากภาวะหัวใจวาย หรือภาวะหาย ใจล้มเหลว

    นอกจากนี้ โคเคนยังทำให้เกิดอาการผิดปกติทางจิตและประสาทด้วย โดยโคเคนมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มมึนเมาเป็นระยะเวลาสั้นๆประมาณ 20 – 90 นาที ต่อจากนั้นจะตามด้วยอา การกระสับกระส่าย กังวลใจอย่างรุนแรง ร่างกายอ่อนล้า และจิตใจหดหู่

    หากเสพโคเคนเข้าไปมากๆหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน ผู้เสพจะมีอาการ เพ้อคลั่ง หวาดระ แวงกลัวคนอื่นจะมาทำร้าย มีอาการประสาทหลอนทางกลิ่น รส และสัมผัส อาการดังกล่าวจะค่อยๆลดระดับความรุนแรงลงเมื่อหยุดเสพโคเคน

  4. ยาอี/ยาเลิฟ (Ecstacy):

    ยาอี เป็นสารสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์ทั้งกระตุ้นประสาทและหลอนประสาท ซึ่งเด็กวัยรุ่นนิยมใช้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเด็กวัยรุ่นที่ชอบมั่วสุมกันตามสถานบันเทิงหรือสถานที่ฟังเพลงและเต้นรำที่ๆมีการเปิดเพลงเสียงดัง ทั้งนี้เพราะผู้ที่เสพยาอีจะชอบเสียงดัง

    ยาอีที่แพร่ระบาดในประเทศไทยจะมีลักษณะเป็นเม็ดกลมแบน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประ มาณ 0.7 – 0.8 เซนติเมตร ความหนาของเม็ดยาประมาณ 0.4 – 0.5 เซนติเมตร สีของเม็ดยาจะเป็นสีอ่อนๆ เช่น เขียวอ่อน เหลืองอ่อน ฟ้าอ่อน เทาอ่อน หรือชมพูอ่อน ไม่ค่อยพบเม็ดยาที่มีสีเข้มๆ

    สัญลักษณ์ที่ปรากฏบนเม็ดยาจะมีหลากหลายรูปแบบ เช่น รูปนก ผีเสื้อ ตัวการ์ตูน หัวใจ ดวง ดาว ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือตัวอักษรภาษาอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่เคยนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์บนเม็ดของยารักษาโรค

    ยาอีเสพด้วยการกิน เมื่อกินแล้วจะเกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย ได้แก่ หัวใจจะเต้นแรงและเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น อัตราการหายใจถี่ขึ้น อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นเหมือนคนเป็นไข้ เหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว และอาจถึงกับเป็นลม หมดสติ

    นอกจากนี้ ยาอียังทำให้เกิดอาการประสาทหลอนขึ้นมาด้วย ผู้เสพจะมีความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น การได้ยิน และการสัมผัส ชอบฟังเพลงเสียงดัง ชอบดูแสงสีที่วูบวาบบาดตา และชอบให้คนมาสัมผัสเล้าโลม แต่เมื่อยาหมดฤทธิ์ลง ผู้เสพจะมีอาการวิตกกังวลผสมกับอาการซึมเศร้า

    ยาอีมีฤทธิ์ทำลายเซลล์ประสาทสมอง แม้จะกินเข้าไปเพียงเล็กน้อย ผู้ที่เสพยาอีจึงมักมีระ ดับสติปัญญาและผลการเรียนรู้ต่ำกว่าคนปกติทั่วไป

  5. ยาแก้ไอผสมโคเดอีน (Drug with codiene):

    โคเดอีน เป็นสารประกอบจำพวกอัลคาลอยด์ (Alkaloid) ที่มีอยู่ในฝิ่นประมาณ 0.7 - 2.5% โดยน้ำหนัก ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากจนไม่สามารถผลิตเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ปัจจุบันโคเดอีนที่ใช้ในทางการแพทย์ได้จากการสังเคราะห์จากฝิ่น

    โคเดอีนออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง มีฤทธิ์ระงับปวดและระงับอาการไอ โดยออกฤทธิ์ที่ก้านสมองซึ่งทำหน้าที่ควบคุมอาการไอ จึงนิยมใช้ผลิตเป็นยาแก้ไอ แต่ยาแก้ไอผสมโคเด อีนที่มีการนำไปใช้ในทางที่ผิดและแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ยาแก้ไอผสมโคเดอีนชนิดน้ำ

    วัยรุ่นนิยมเสพยาน้ำแก้ไอผสมโคเดอีนด้วยการดื่มโดยไม่ต้องเจือจาง หรือดื่มโดยผสมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ได้แก่ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ใจสั่น มีอาการมึนงง หายใจและถ่ายปัสสาวะลำบาก

    หากโคเดอีนเป็นพิษโดยเฉียบพลัน อาจทำให้เกิดการชัก เพ้อคลั่ง ชีพจรเต้นช้า หัวใจเต้นเร็ว ไม่รู้สึกตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายล้มเหลว ระบบการหายใจเป็นอัมพาต เกิดภาวะหยุดการหายใจ และเสียชีวิต (ตาย) ได้

    การใช้โคเดอีนในระยะยาว อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้า ขาดสมาธิ ง่วงนอน และหลับได้ ท้องผูกอย่างรุนแรง และทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศด้วย และหากใช้ในปริมาณที่สูงจะทำให้เกิดอาการสั่นและชักได้

  6. กัญชา (Marijuana):

    กัญชาเป็นพืชล้มลุก ส่วนที่นำมาใช้เสพคือ ช่อดอกตัวเมียและใบที่ติดมากับช่อดอก โดยนำมาตากหรืออบให้แห้ง แล้วนำไปบดหรือหั่นเป็นฝอยหยาบๆ แล้วจึงนำไปมวนสูบโดยผสมกับบุ หรี่ หรืออาจจะสูบจากกล้องยาสูบ หรือบ้องกัญชาก็ได้

    กัญชาทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ ผลเสียที่เกิดขึ้นต่อร่างกายทันทีได้แก่ หัวใจ เต้นเร็วผิดปกติ ตาแดงก่ำเนื่องจากเส้นเลือดฝอยขยายตัวหรือแตก ปากแห้ง คอแห้ง และอยากอา หาร

    การสูบกัญชาจะส่งผลต่อระบบความจำ ทำให้เกิดภาวะความจำเสื่อม ความเฉลียวฉลาดลด ลง การรับรู้เรื่องระยะทางและเวลาผิดปกติ ความสามารถในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้สมาธิ เช่น การขับขี่ยวดยานจะมีประสิทธิภาพลดลง แรงจูงใจและการใฝ่เรียนรู้ลดลง นอกจากนั้น การสูบกัญชามากๆอาจส่งผลให้เกิดอาการประสาทหลอนและวิกลจริต

    ในการสูบกัญชา ผู้สูบมักสูดเอาควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของกัญชาเข้าไปในปอด แล้วพยายามกักเอาควันไว้ในปอดให้นานที่สุด ก่อนจะผ่อนลมหายใจออกมา และเนื่องจากในควันกัญ ชามีสารเคมีที่เป็นพิษมากกว่าควันบุหรี่ ฉะนั้น ผู้ที่สูบกัญชาจึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคถุงลมโป่งพอง และมะเร็งปอด สูงกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ และการสูบกัญชาเป็นประจำ จะทำให้เกิดการเสพติดทางจิตใจ ต้องเพิ่มปริมาณกัญชาที่สูบและความถี่ในการสูบขึ้นเรื่อยๆ

  7. บรรณานุกรม

    1. http://th.wikipedia.org/wiki/สิ่งเสพติด [2014,June5].
    2. http://en.wikipedia.org/wiki/Narcotic [2014,June5].
    3. http://blog.eduzones.com/jipatar/85849 [2014,June5].
    4. http://webnotes.fda.moph.go.th/consumer/csmb/csmb2548.nsf/สาระความรู้/A19C9E5F65ECC4F247256F86002CF7A1?opendocument [2014,June5].
    5. http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/?p=1147 [2014,June5]