ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride tablet)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์ หรือ ยาเม็ดเกลือ (Sodium chloride tablet) เป็นเกลือแกง บริสุทธิ์ที่นำมาตอกเม็ดทำเป็นยารับประทานขนาดความแรง 300 มิลลิกรัม/เม็ดตามบัญชียาหลักแห่งชาติของประเทศไทยเรา วงการแพทย์นำมาใช้ป้องกันและรักษาภาวะร่างกายขาดเกลือโซเดียม จากสาเหตุเหงื่อออกมาก หรือภาวะร่างกายขาดน้ำ (ภาวะขาดน้ำ)

หลังรับประทาน ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์จะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด และกำจัดออกจากร่างกายทาง ปัสสาวะ เหงื่อ น้ำตา น้ำลาย และอุจจาระ ซึ่งก่อนการใช้ยานี้ ต้องให้แพทย์วิเคราะห์และเป็นผู้ตัดสินใจในการกำหนดขนาดการรับประทานของผู้ป่วยแต่ละราย โดยประกอบกับเงื่อนไขอื่นๆอีก อาทิเช่น เคยมีภาวะแพ้ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์หรือไม่, หรือมีโรคความดันโลหิตสูง, มีภาวะโรคไตหรือไม่, หากเป็นหญิงอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่ เป็นต้น

การใช้ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์ในขนาดที่มากเกินความจำเป็น หรือผิดขนาดจะส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้รับยาโดยตรง ถึงแม้ดูเหมือนยานี้ใกล้เคียงกับเกลือแกงที่ใช้ในครัวเรือนก็ตาม แต่ด้วยฤทธิ์ของการรักษา ผลข้างเคียง ข้อห้ามใช้ และมีวิธีใช้ที่ละเอียดอ่อน การใช้ยาจึงต้องขึ้นกับคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์

ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะการขาดเกลือโซเดียมคลอไรด์ชนิดเรื้อรัง (Chromic salt - losing conditions)
  • ป้องกันการเป็นตะคริวระหว่างการฟอกเลือดในการล้างไต
  • ใช้ละลายน้ำเป็นน้ำยาบ้วนปาก

หมายเหตุ: สำหรับเกลือโซเดียมคลอไรด์ในรูปแบบสารละลาย 0.9% (Irrigation solu tion) มักถูกนำมาใช้ ล้างจมูก ล้างตา ล้างบาดแผล และล้างทำความสะอาดผิวหนัง (ยาใส่แผล)

ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดย สร้างสมดุลของเกลือโซเดียมและสมดุลของน้ำในร่างกาย ส่งผลให้มีแรงดันของเลือดสูบฉีดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้อย่างทั่วถึง

ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์จัดจำหน่ายในรูปแบบ เช่น

  • ยาเม็ดขนาด 300 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. ผู้ใหญ่: เช่น

  • รักษาภาวะขาดเกลือโซเดียมชนิดเรื้อรัง: เช่น รับประทานภายในระหว่างวัน 2.4 - 4.8 กรัม โดยดื่มน้ำตามเป็นปริมาณเพียงพอ หากมีการขาดเกลือโซเดียมแบบรุนแรงสามารถรับประทานได้สูงสุดถึง 12 กรัมต่อวัน สำหรับผู้ป่วยโรคไต แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานให้ได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม
  • ป้องกันตะคริวระหว่างการฟอกเลือดล้างไต: เช่น ทำเป็นยาเตรียมสำหรับผู้ป่วย 6 - 10 กรัมต่อการฟอกเลือดแต่ละครั้ง

ข. เด็ก: การใช้ยานี้ต้องอยู่ในคำแนะนำและการกำกับดูแลของแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรืออาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (อาการข้างเคียง/ผลข้าง เคียง) เช่น

  • เกิดภาวะเกลือโซเดียมในเลือดสูง เช่น
    • รู้สึกกระหายน้ำ
    • น้ำลายน้อยลง
    • มีไข้
    • ปวดหัว
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • ความดันโลหิตสูง
    • วิงเวียน
    • อ่อนเพลีย
    • คลื่นไส้-อาเจียน
    • ปวดท้อง
    • บวมตามมือและเท้า

มีข้อควรระวังการใช้ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะลำไส้ตีบตัน (ลำไส้อุดตัน)
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในการกระตุ้นให้อาเจียน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยด้วยโรค/ภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคปอดบวม
  • การใช้ยานี้ใน เด็ก หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ต้องเป็นการสั่งยาจากแพทย์ และใช้ยาภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์ ร่วมกับยาจิตเวช เช่นยา Lithium สามารถทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของยา Lithium ลดประสิทธิภาพลงไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสม
  • การใช้ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์ ร่วมกับยารักษาภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ เช่นยา Tolvaptan สามารถส่งผลให้ระดับเกลือโซเดียมในเลือดสูงมากเกินไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับระยะเวลาของการรับประทานไม่ให้ตรงกัน หรือปรับขนาดการรับประทานให้สอดคล้องกับร่างกายของผู้ป่วยเป็นรายๆไป

ควรเก็บรักษายาเม็ดโซเดียมคลอไรด์อย่างไร?

ควรเก็บยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเม็ดโซเดียมคลอไรด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Sodium Chloride Pharmahof (โซเดียมคลอไรด์ ฟาร์มาฮอฟ) Pharmahof

บรรณานุกรม

1. http://www.drugs.com/cdi/sodium-chloride.html [2020,Dec5]
2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fsodium%2bchloride%3fmtype%3dgeneric [2020,Dec5]
3. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fusa%2fdrug%2finfo%2fsodium%2520chloride%2fsodium%2520chloride%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric [2020,Dec5]
4. http://www.drugs.com/drug-interactions/sodium-chloride-index.html?filter=2&generic_only= [2020,Dec5]