ยาอินซูลิน (Insulin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อินซูลิน (Insulin) จัดเป็นสารประเภทฮอร์โมนซึ่งร่างกายผลิตมาจากเซลล์ในตับอ่อน ฮอร์โมนอินซูลินมีหน้าที่ควบคุมกระบวนการเผาผลาญสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและไขมัน ประกอบกับอินซูลินจะเร่งการดูดซึมของน้ำตาลกลูโคส (Glucose) จากกระแสเลือดเข้าสู่กล้ามเนื้อลายและเนื้อ เยื่อไขมัน เมื่อใดก็ตามที่เกิดความผิดปกติของระดับอินซูลินในกระแสเลือด จะทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดล้มเหลว หรือที่เราเรียกว่า “โรคเบาหวาน” โดยแบ่งโรคได้เป็น 2 ชนิด คือ

  • โรคเบาหวานชนิด 1 (Type 1 diabetes) ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มนี้จะมีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนได้น้อย ทำให้ร่างกายขาดอินซูลิน
  • และเบาหวานชนิด 2 (Type 2 diabetes) ซึ่งเป็นผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินต่ำ จนทำให้กระบวนการเผาผลาญของสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและไขมันผิดปกติไป

ประวัติของฮอร์โมนอินซูลินได้เริ่มต้นที่ปี ค.ศ. 1869 (พ.ศ. 2412) ถูกค้นพบโดยนักศึกษาแพทย์ชาวเยอรมัน จากนั้นมีการศึกษาถึงฤทธิ์อินซูลินพบว่า ฮอร์โมนชนิดนี้ยังกระตุ้นให้เกิดกระบวน การอีกมากมายอาทิเช่น

  • ควบคุมการเชื่อมต่อของสารพันธุกรรมเช่น ดีเอ็นเอ (DNA) และการสังเคราะห์โปรตีนในร่าง กายมนุษย์
  • ช่วยเพิ่มการสังเคราะห์แป้งชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ไกลโคเจน (Glycogen) โดยนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดมาสังเคราะห์จนได้ไกลโคเจน และลำเลียงไปสะสมที่ตับเพื่อเป็นพลังงานสำรองของร่างกาย
  • ช่วยเพิ่มการสังเคราะห์ไขมันเช่น ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides)
  • ลดการสลายตัวของโปรตีนในร่างกายมนุษย์
  • ชะลอการทำลายหรือความเสื่อมของอวัยวะในร่างกาย
  • ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงคลายตัวและเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
  • ช่วยเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร
  • ลดการขับของเกลือโซเดียมจากไต

จากข้อมูลข้างต้น นักวิทยาศาสตร์จึงได้พยายามคิดค้นการสังเคราะห์อินซูลินเพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ โดยใช้หลักการของพันธุวิศวกรรมเข้ามาช่วยเหลือ จนค้นพบว่า อินซูลินถูกสร้างขึ้นได้โดยใช้แบคทีเรียที่มีชื่อว่า E.Coli (Escherichia coli) และถูกนำออกมาจัดจำหน่ายภายในปี ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) มีชื่อทางการค้าว่า “Humulin” นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อินซูลินขึ้นมามากมายหลายชื่อการค้า

อาจจำแนกยาอินซูลินเป็นหมวดย่อยโดย

ก. แบ่งตามระยะเวลาของการออกฤทธิ์ดังนี้

1. ประเภทออกฤทธิ์เร็ว (Rapid acting Insulin หรือ Fast acting insulin): ใช้ระยะเวลาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดประมาณ 15 นาที ระดับยาในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นสูงสุดใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และฤทธิ์การรักษาอยู่ได้นาน 2 - 4 ชั่วโมง ตัวอย่างอินซูลินในกลุ่มนี้ได้แก่ Insulin glulisine, Insulin lispro, Insulin aspart

2. ประเภทออกฤทธิ์ในช่วงปกติ (Regular insulin หรือ Short-acting Insulin): ใช้ระยะเวลาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดประมาณ 30 นาที ระดับยาในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นสูงสุดใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง และฤทธิ์การรักษาอยู่ได้นาน 3 - 6 ชั่วโมง ตัวอย่างอินซูลินในกลุ่มนี้ได้แก่ Humulin R

3. ประเภทออกฤทธิ์นานขึ้นในระดับกลาง (Intermediate - acting Insulin): ใช้ระยะเวลาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดประมาณ 2 - 4 ชั่วโมง ระดับยาในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นสูงสุดใช้เวลาประมาณ 4 - 12 ชั่วโมง และฤทธิ์ในการรักษาอยู่ได้นาน 12 - 18 ชั่วโมง ตัวอย่างอินซูลินในกลุ่มนี้ได้แก่ Humulin N

4. ประเภทออกฤทธิ์นาน (Long - acting Insulin): ชนิดที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงตั้งแต่ดูดซึมจนกระทั่งเริ่มออกฤทธิ์ ระยะเวลาของฤทธิ์ในการรักษาอยู่ได้นานมากกว่า 24 ชั่วโมงขึ้นไป ตัวอย่างอินซูลินในกลุ่มนี้ได้แก่ Insulin detemir และ Insulin glargine

ข. แบ่งตามรูปแบบการละลายของยาคือ

1. อินซูลินประเภทละลายน้ำได้: มักอยู่ในกลุ่มที่ออกฤทธิ์เร็ว มีลักษณะใส สามารถฉีดทางหลอดเลือดได้

2. อินซูลินประเภทไม่ละลายน้ำ: ถูกผลิตเป็นรูปยาฉีดชนิดแขวนตะกอน มักอยู่ในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ระดับกลางขึ้นไป ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง

อนึ่ง การเลือกใช้อินซูลินรูปแบบที่เหมาะสมต่อผู้ป่วย เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น และห้ามผู้ป่วยปรับเปลี่ยนการใช้หรือหยุดการใช้ยากลุ่มอินซูลินด้วยตนเอง

อินซูลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาอินซูลิน

ยาอินซูลินมีสรรพคุณดังนี้

  • รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 diabetes)
  • ใช้ร่วมรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 diabetes)
  • รักษาภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนด้วยโรคเบาหวาน (Diabetic ketoacidosis, ผลข้างเคียงที่เกิดจากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ อาการเช่น ซึม หายใจเร็ว หายใจมีกลิ่นผลไม้ หน้าแดง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน)

อินซูลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอินซูลินมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับในเซลล์ต่างๆที่เรียกว่า อินซูลิน รีเซพเตอร์ (Insulin receptor) ทำให้มีการนำกลูโคสในกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย เช่น กล้าม เนื้อ ร่างกายจึงสามารถนำกลูโคสมาเผาผลาญและทำให้เกิดพลังงานต่อร่างกายได้

อินซูลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบผลิตภัณฑ์การจัดจำหน่ายของยาอินซูลิน จะเป็นประเภทของยาฉีด ด้วยอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบหลัก ทำให้ถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะได้ง่าย ทางการแพทย์จึงผลิตออกมาในรูปแบบยาฉีดเสียเป็นส่วนมากได้แก่

  • ยาฉีด ขนาด 100 ยูนิต/มิลลิลิตร ขนาดบรรจุ 3 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 100 ยูนิต/มิลลิลิตร ขนาดบรรจุ 10 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดที่ผสมอินซูลินชนิดละลายน้ำต่อชนิดที่ไม่ละลายน้ำ 50% : 50% ขนาดบรรจุ 3 มิลลิ ลิตร
  • ยาฉีดที่ผสมอินซูลินชนิดละลายน้ำต่อชนิดที่ไม่ละลายน้ำ 30% : 70% ขนาดบรรจุ 3 และ 10 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดชนิดอุปกรณ์การฉีดเป็นปากกาหรือที่เรียกว่า Penfill ขนาด 100 ยูนิต/มิลลิลิตร

อินซูลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การคัดเลือกชนิดหรือกลุ่มยาอินซูลิน หรือขนาดการใช้ยาอิซูลินที่จะใช้กับผู้ป่วย จะขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษา โดยมีข้อมูลทางการแพทย์ (เช่น ค่าน้ำตาลในเลือด การทำงานของไต และของตับ) เป็นข้อมูลประกอบในการรักษาและในการปรับขนาดยา ซึ่งกรณีที่ใช้อินซูลินกับผู้ป่วยโรคไตโรคตับอาจต้องปรับขนาดอินซูลินลดลง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำ บาก

มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอินซูลินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน

หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดอินซูลินควรทำอย่างไร?

หากลืมฉีดยาอินซูลินสามารถฉีดยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อินซูลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อินซูลินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้คือ เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เกิดการสูญเสียเนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนัง มีภาวะโพแทส เซียมในร่างกายต่ำ (อาการเช่น กล้ามเนื้อเป็นตะคริว หัวใจเต้นผิดปกติ) การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน

มีข้อควรระวังการใช้อินซูลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอินซูลินดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ของยาอินซูลิน
  • ระวังการใช้กับสตรีตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
  • กรณีที่มีการเปลี่ยนชนิดหรือผลิตภัณฑ์ยาอินซูลินเป็นชนิดใหม่ ควรต้องเฝ้าติดตามประสิทธิ ผลในการรักษาของผู้ป่วยควบคู่กันไปอย่างใกล้ชิดเช่น จากการตรวจค่าน้ำตาลในเลือดบ่อยขึ้น
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอินซูลินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อินซูลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

  • การใช้ยาอินซูลินร่วมกับยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid), ยากลุ่ม Sympathomi metic drug, ไทรอยด์ฮอร์โมนเช่น ยา Levothyroxine, ยาขับปัสสาวะ, ยาต้านวัณโรค เช่น Isoniazid สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรปรับขนาดของยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาอินซูลินร่วมกับยาต้านเบาหวานชนิดอื่น (เช่น ยา Metformin), ยาในกลุ่ม ACE inhibitors, ยากลุ่ม MAOIs, ยาต้านแบคทีเรีย/ยาฏิชีวนะกลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) จะส่งผลให้ลดน้ำตาลในกระแสเลือดมากยิ่งขึ้น แพทย์จะปรับขนาดของยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาอินซูลินร่วมกับยาต้านแบคทีเรีย เช่น Doxycycline สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำยิ่งขึ้น การใช้ยาร่วมกันควรต้องตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดว่าปกติดีหรือไม่
  • การใช้ยาอินซูลินร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำก็ได้ จึงห้ามใช้ร่วมกัน

ควรเก็บรักษาอินซูลินอย่างไร?

สามารถเก็บยาอินซูลินที่อุณหภูมิระหว่าง 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius), เก็บอุปกรณ์ที่ใช้ฉีดยาอินซูลินที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาและอุปกรณ์ฯในช่องแช่แข็งของ ตู้เย็น และเก็บยาอินซูลินในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

อินซูลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอินซูลินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Actrapid HM/Actrapid Penfill Novo Nordisk
Apidra (อะพิดรา)sanofi-aventis
Basalin (บาซาลิน)Gan & Lee / LG Life Sciences
Gensulin M30 (30/70) (เจนซูลิน เอ็ม30 (30/70)SciGen
Gensulin M50 (50/50) (เจนซูลิน เอ็ม50 (50/50)SciGen
Gensulin N (เจนซูลิน เอ็น)SciGen
Gensulin R (เจนซูลิน อาร์)SciGen
Humalog/Humalog Mix 25 (ฮิวมาล็อก/ฮิวมาล็อก มิกซ์ 25)Eli Lilly
Humulin 70/30 (ฮิวมูลิน 70/30)Eli Lilly
Humulin N (ฮิวมูลิน เอ็น)Eli Lilly
Humulin R (ฮิวมูลิน อาร์)Eli Lilly
Insugen-30/70 (Biphasic) (อินซูเจน-30/70 (ไบฟาซิก)Biocon
Insugen-N (NPH) (อินซูเจน-เอ็น (เอ็นพีเฮช)Biocon
Insugen-R (Regular) (อินซูเจน-อาร์ (เรกูลาร์)Biocon
Insulatard HM/Insulatard Penfill (อินซูลาทาร์ด เฮชเอ็ม/อินซูลาทาร์ด เพนฟิล)Novo Nordisk
Insuman Rapid/Insuman Basal/Insuman Comb 30 (อินซูแมน ราพิด/อินซูแมน บาซัล/อินซูแมน คอมบ์ 30)Sanofi-aventis
Lantus (แลนตัส)Sanofi-aventis
Levemir FlexPen (เลวีเมีย เฟล็กซ์เพน)Novo Nordisk
Mixtard 30 HM/Mixtard 30 Penfill (มิกซ์ทาร์ด 30 เฮชเอ็ม/มิกซ์ทาร์ด 30 เพนฟิล)Novo Nordisk
NovoMix 30 Penfill/NovoMix 30 FlexPen (โนโวมิกซ์ 30 เพนฟิล/โนโวมิกซ์ 30 เฟล็กซ์เพน)Novo Nordisk
NovoRapid Penfill/NovoRapid FlexPen (โนโวราพิด เพนฟิล/โนโลราพิด เฟล็กซ์เพน)Novo Nordisk

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Insulin#History[2017,June24 ]
  2. http://www.webmd.com/diabetes/guide/diabetes-types-insulin?page=2[2017,June24 ]
  3. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=insulin&page=0[2017,June24 ]
  4. http://www.diabetes.org/living-with-diabetes/treatment-and-care/medication/insulin/insulin-basics.html[2017,June24 ]
  5. http://en.wikipedia.org/wiki/Insulin_glulisine[2017,June24 ]
  6. http://en.wikipedia.org/wiki/Insulin_aspart#Variations_on_Insulin_Aspart[2017,June17]
  7. https://www.mims.com/USA/drug/info/insulin/?type=brief&mtype=generic[2017,June24 ]
  8. http://www.drugs.com/food-interactions/insulin.html[2017,June24 ]
Updated 2017,June24