ยาสามัญประจำบ้าน (Household remedies)

ยาสามัญประจำบ้าน เป็นชื่อเรียกของกลุ่มยาที่มีทั้งยาแผนโบราณและยาแผนปัจจุบัน ที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน หมายถึง ยาที่ประชาชนทั่วไปสามารถหาซื้อมาใช้ได้ โดยที่อาจกล่าวได้ว่าไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ยกเว้นในบางคนที่แพ้ยาเหล่านี้ (พบได้น้อยมากๆๆ) และเพื่อให้เป็นการรักษาตนเองในเบื้องต้น เมื่ออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังใช้ยาประจำบ้าน จึงควรพบแพทย์

ทั้งนี้ ยาสามัญประจำบ้าน ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่มีอาการรุนแรง ซึ่งผู้ ป่วยหรือประชาชนสามารถใช้รักษาได้ด้วยตนเองเบื้องต้นได้ เช่น ไอ ปวดศีรษะ ถูกน้ำร้อนลวก ท้องอืด ท้องเฟ้อ ถูกมีดบาด เป็นต้น

อีกทั้งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ โดยยาจะมีฉลากคำว่า "ยาสามัญประจำบ้าน" ในกรอบสีเขียว มีขนาดตัวอักษรที่สามารถอ่านได้ชัดเจน และมีคำว่า "ยาสิ้นอายุ" แสดง วัน เดือน ปีพ.ศ. ที่ยาสิ้นอายุ

ในที่นี้จะกล่าวถึงยาสามัญประจำบ้าน ชนิดยาแผนปัจจุบัน โดยมีรายการยาแบ่งเป็นกลุ่มๆ ดังต่อไปนี้

รายการยา

1. กลุ่มยาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ

  • ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ยาธาตุน้ำแดง
  • ยาเม็ดแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ โซดามิ้นท์ (Soda mint)
  • ยาขับลม
  • ยาน้ำแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ โซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate)
  • ยาทาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ทิงเจอร์มหาหิงค์
  • ยาเม็ดลดกรด อะลูมินา-แมกนีเซีย (Alumina-Magnesia)
  • ยาน้ำลดกรด อะลูมินา-แมกนีเซียม (Alumina-Magnesia)

2. กลุ่มยาแก้ท้องเสีย

  • ยาแก้ท้องเสีย ผงน้ำตาลเกลือแร่ โออาร์เอส (ORS,Oral rehydration salt)

3. กลุ่มยาระบาย

  • ยาระบายกลีเซอรีน (Glycerine) ชนิดเหน็บทวารหนักสำหรับเด็ก
  • ยาระบายกลีเซอรีน ชนิดเหน็บทวารสำหรับผู้ใหญ่
  • ยาระบายแมกนีเซีย
  • ยาระบายมะขามแขก
  • ยาระบายโซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride) ชนิดสวนทวาร

4. กลุ่มยาถ่ายพยาธิลำไส้

  • ยาถ่ายพยาธิตัวกลม มีเบนดาโซล (Mebendazole) ใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม ได้แก่ พยาธิเส้น ด้าย/พยาธิเข็มหมุด พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน และพยาธิแส้ม้า

5. กลุ่มยาบรรเทาปวด ลดไข้

  • ยาเม็ดบรรเทาปวด ลดไข้ พาราเซตามอล (Paracetamol) ขนาด 500 มก. และขนาด 325 มก.
  • ยาน้ำ บรรเทาปวดลดไข้ พาราเซตามอล
  • ยาเม็ดบรรเทาปวดลดไข้ แอสไพริน (Aspirin) 325 มก.
  • พลาสเตอร์บรรเทาปวด

6. กลุ่มยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก

  • ยาเม็ดแก้แพ้ลดน้ำมูก คลอร์เฟนิรามีน (Chlopheniramine)

7. กลุ่มยาแก้ไอ ขับเสมหะ

  • ยาน้ำแก้ไอ ขับเสมหะสำหรับเด็ก
  • ยาแก้ไอน้ำดำ

8. กลุ่มยาดมหรือยาทาแก้วิงเวียน หน้ามืด คัดจมูก

  • ยาดมแก้วิงเวียน เหล้าแอมโมเนียหอม
  • ยาดมแก้วิงเวียน แก้คัดจมูก
  • ยาทาระเหย บรรเทาอาการคัดจมูกชนิดขี้ผึ้ง

9. กลุ่มยาแก้เมารถ เมาเรือ

  • ยาแก้เมารถ เมาเรือ ยาไดเมนไฮดริเนท (Dimenhydrinate)

10. กลุ่มยาสำหรับโรคตา

  • ยาหยอดตา ซัลฟาเซตาไมด์ (Sulfacetamide) รักษาอาการตาแดง ตาอักเสบ จากโรคติดเชื้อ
  • ยาล้างตา ใช้ล้างตาเพื่อบรเทาอาการแสบตา ระคายเคืองตา

    11. กลุ่มยาสำหรับโรคปากและลำคอ

    • ยากวาดคอ บรรเทาอาการอักเสบ และเจ็บในลำคอ
    • ยารักษาลิ้นเป็นฝ้า เยนเชี่ยนไวโอเลต (Gentian violet)
    • ยาแก้ปวดฟัน
    • ยาดมบรรเทาอาการระคายคอ

    12. กลุ่มยาใส่แผล ยาล้างแผล (ยาใช้ภายนอก)

    • ยาใส่แผล ทิงเจอร์ไอโอดีน (Tincture iodine) รักษาแผลสด
    • ยาใส่แผล ทิงเจอร์ไทเมอรอซอล (Tincture thimerosal) รักษาบาดแผล
    • ยาใส่แผลโพวิโดน ไอโอดีน (Povidone iodine) รักษาแผลสด
    • ยาไอโซโบรฟิล แอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol) ทำความสะอาดบาดแผล
    • ยาเอทธิล แอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) ทำความสะอาดบาดแผล
    • น้ำเกลือล้างแผล ทำความสะอาดบาดแผล

    13. กลุ่มยารักษาแผลติดเชื้อไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

    • ยารักษาแผลน้ำร้อนลวกฟีนอล (Phenal)
    • ยารักษาแผลติดเชื้อซิลเวอร์ ซัลฟาไดอาซีน ครีม (Silver sulfadiazine cream)

    14. กลุ่มยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ แมลงกัดต่อย

    • ยาหม่อง ชนิดขี้ผึ้ง

    15. กลุ่มยาสำหรับโรคผิวหนัง

    • ยารักษาหิด เหา และโลน ยา เบนซิล เบนโซเอต (Benzyl benzoate)
    • ยารักษาหิด ขึ้ผึ้งกำมะถัน
    • ยารักษากลากเกลื้อน น้ำกัดเท้า
    • ยารักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง Coal Tar
    • ยาทาแก้ผดผื่นคัน คาลาไมน์ (Calamine lotion)
    • ยารักษาเกลื้อน โซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate)

    16. กลุ่มยาบำรุงร่างกาย

    • ยาเม็ดวิตามินบีรวม
    • ยาเม็ดวิตามินซี 100 มก.
    • ยาเม็ดบำรุงโลหิต เฟอร์รัส ซัลเฟต (Ferrous sulfate)
    • ยาเม็ดวิตามินรวม
    • ยาน้ำมันตับปลา ชนิดแคปซูล
    • ยาน้ำมันตับปลาชนิดน้ำ

    *****หมายเหตุ

    การใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด รวมทั้งเมื่อจะซื้อยาใช้เอง ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ

    บรรณานุกรม

    1. ยาสามัญประจำบ้าน - http://th.wikipedia.org/w/index.php?title=ยาสามัญประจำบ้าน&oldid=4434230