ยาวัณโรค หรือ ยารักษาวัณโรค (Anti-tuberculosis medication)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาวัณโรค

ยาวัณโรคคืออะไร?

ยาวัณโรค หรือ ยารักษาวัณโรค(Anti-tuberculosis medication หรือ Anti TB medication หรือ Anti tuberculosis agent หรือ Anti TB agent หรือTuberculosis medication หรือ Anti tuberculosis drug หรือ Tuberculosis drug หรือ TB drug) เป็นยาที่ใช้รักษาวัณโรค (Tuberculosis ย่อว่าTB) ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) โดยใช้ยานี้เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อ การรักษาวัณโรคให้หายขาด, การรักษาซ้ำหลังจากการรักษาครั้งแรกล้มเหลว, การรักษาซ้ำหลังจากผู้ป่วยขาดยาครั้งแรก, ทั้งนี้เพื่อ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรค, ลดอัตราการตายของผู้ป่วยจากวัณโรค, ป้องกันการกลับเป็นซ้ำของวัณโรค, และเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคไปยังผู้อื่น

ยาวัณโรคมีกี่ประเภท?

ยารักษาวัณโรค แบ่งออกเป็นกลุ่ม/ประเภทได้ดังนี้

ก.ยาหลักที่ใช้เป็นทางเลือกแรกในการรักษาวัณโรค (First-line anti-tuberculosis drugs): แบ่งออกเป็น

1. ยาหลักทางเลือกแรกที่ใช้รักษาวัณโรค ชนิดเป็นยารับประทาน (First-line oral anti-tuberculosis drugs): เช่นยา ไอโซไนอะซิด (Isoniazid หรือ Isonicotinylhydrazide ย่อว่า INH), ไรแฟมพิน หรือไรแฟมพิซิน (Rifampin หรือ Rifampicin ย่อว่า R), อีแทมบูทอล (Ethambutol ย่อว่า E), ไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide ย่อว่า Z)

2. ยาหลักทางเลือกแรกที่ใช้รักษาวัณโรค ชนิดเป็นยาฉีด (First-line injectable anti-tuberculosis drugs): เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) ได้แก่ สเตรปโตมัยซิน(Streptomycin ย่อว่า S)

ข. ยาทางเลือกที่สองหรือยาสำรองที่ใช้ในการรักษาวัณโรค (Second-line anti-tuberculosis drugs): ได้แก่

1. ยาทางเลือกที่สองฯ ที่เป็นยาชนิดรับประทาน (Second-line oral anti-tuberculosis drugs): เช่นยา พาราอะมิโนซาลิซิลิกแอซิด (Para-aminosalicylic acid หรือ 4-Aminosalicylic acid ย่อว่า PAS), ไซโคลซีรีน (Cycloserine), เทอริซิโดน (Terizidone), อีทิโอนาไมด์ (Ethionamide), โพรทิโอนาไมด์ (Prothionamide)

2. ยาทางเลือกที่สองฯ ที่เป็นยาชนิดฉีด (Second-line injectable anti-tuberculosis drugs): เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) ได้แก่ยา อะมิคาซิน (Amikacin), กานามัยซิน (Kanamycin)

3. ยาทางเลือกที่สองฯ ที่เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones): ได้แก่ยา โอฟล็อกซาซิน (Ofloxacin), ลีโวฟล็อกซาซิน (Levofloxacin), ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin), กาติฟล็อกซาซิน (Gatifloxacin), ม็อกซิฟล็อกซาซิน (Moxifloxacin)

ค. ยาใหม่ที่ใช้ในการรักษาวัณโรค (New drugs in tuberculosis): ได้แก่ ยา บีดาควิไลน์ (Bedaquiline), ดีลามานิด (Delamanid) ซึ่งทั้ง 2ชนิดเป็นยารับประทาน

ยาวัณโรคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาวัณโรคมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาแกรนูล (Granule)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
  • ยาอิลิกเซอร์ (Elixir)
  • ยาฉีด (Injection)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ถึงคำอธิบายรูปแบบต่างๆของยาแผนปัจจุบันได้ ในบทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยาวัณโรคอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาวัณโรค ดังนี้ เช่น

1. ยาหลักที่ใช้เป็นทางเลือกแรกในการรักษาวัณโรค (First-line anti-tuberculosis drugs): เป็นยารักษาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ผู้ป่วยทนอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากยากลุ่มนี้ได้ดีที่สุด

2. ยาทางเลือกที่สองหรือยาสำรองที่ใช้ในการรักษาวัณโรค (Second-line anti-tuberculosis drugs): เป็นยาที่เลือกใช้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาหลักได้ เช่น เมื่อผู้ป่วยดื้อยาหลัก หรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาหลักมาก

มีข้อห้ามใช้ยาวัณโรคอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาวัณโรค ดังนี้ เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ

2. ยา Isoniazid, Rifampin, Pyrazinamide, Ethambutol, เป็นยาที่ต้องใช้อย่างเคร่งครัด รับประทานทุกวันอย่างต่อเนื่องถึงแม้จะรู้สึกว่าอาการดีขึ้น หรือไม่มีอาการแล้ว ห้าม เพิ่ม ลด หรือหยุด ยาเองโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์

3. ห้ามใช้ยา Streptomycin ในผู้ป่วยโรคไต เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา คือ เป็นพิษต่อหู(หูหนวก) และต่อไต (ไตอักเสบ)

4. ห้ามใช้ยา Ofloxacin ร่วมกับยา Rifampin เพราะจะทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยา Ofloxacin

5. ห้ามรับประทานยา Isoniazid, Ethambutol ร่วมกับยาลดกรด เพราะอาจทำให้ยารักษาวัณโรคดังกล่าวถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ลดลง ทำให้การรักษาวัณโรคไม่ได้ผล แต่หากต้องการใช้ยาลดกรด ให้รับประทานยาลดกรด หลังจากรับประทานยา Isoniazid อย่างน้อย 1 ชั่วโมง, และหลังจากรับประทานยา Ethambutol อย่างน้อย 2 ชั่วโมง

มีข้อควรระวังการใช้ยาวัณโรคอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาวัณโรคดังนี้ เช่น

1.หากลืมรับประทานยา Isoniazid, Rifampin, Pyrazinamide, ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่หากนึกได้เมื่อต้องรับประทานมื้อถัดไป ให้ข้ามยามื้อนั้นไป และรับประทานมื้อถัดไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา

2.หากลืมรับประทานยา Ethambutol ภายใน 12 ชั่วโมงหลังจากกำหนด ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าเกิน 12 ชั่วโมง ให้ข้ามยามื้อนั้นไป และเริ่มรับประทานมื้อถัดไปตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา และถ้าผู้ป่วยลืมรับประทานยามากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป ควรแจ้งแพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษา

3. ยา Isoniazid, Rifampin, Pyzacinamide, Ethambutol, เป็นยาที่ควรรับประทานเวลาท้องว่าง โดยรับประทานยา 1 ชั่วโมงก่อนอาหาร หรืออย่างน้อย 2 ชั่วโมงหลังอาหาร หรือก่อนนอน (ตามที่ระบุในใบสั่งยาของแพทย์) และไม่ควรแกะยาออกจากแผงยาก่อน เพราะอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพ

4.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อใช้ยา Isoniazid, Rifampin, Pyrazinamide, เนื่องจากจะยิ่งเพิ่มพิษต่อตับจากยาดังกล่าว

5.ระหว่างรับประทานยา Rifampin อาจทำให้สารคัดหลั่งต่างๆ เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลาย เสมหะ เหงื่อ น้ำตา เปลี่ยนเป็นสีส้มแดงจากสีของตัวยา ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์ขณะใช้ยานี้ เพราะจะทำให้คอนแทคเลนส์เปลี่ยนสีถาวรได้

6. ยา Rifampin มีคุณสมบัติเป็นตัวเหนี่ยวนำเอนไซม์ (Enzyme inducer)ต่างๆในเลือด จึงมีผลอาจลดระดับยาอื่นๆบางชนิดในเลือดได้ เช่นยา Warfarin, ยาเม็ดคุมกำเนิด (Oral contraceptives) ซึ่งอาจทำให้ระดับยาอื่นๆเหล่านั้นในเลือดลดต่ำลง จนอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือแพทย์จะปรับขนาดยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป

7. ยา Isoniazid มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ (Enzyme inhibitor)ต่างๆในเลือด จึงมีผลเพิ่มระดับยาอื่นๆบางชนิดในเลือดได้ เช่น ยากันชัก (เช่นยา Phenytoin, Carbamazepine) จึงอาจทำให้ระดับยาอื่นๆบางชนิดดังกล่าวในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนอาจเกิดพิษ(ผลข้างเคียง)จากยาอื่นๆบางชนิดดังกล่าวสูงขึ้นได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือแพทย์จะปรับขนาดยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป

8.ผู้ป่วยโรคเกาต์ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบว่าเป็นโรคนี้ เพราะยา Pyrazinamide อาจทำให้มีภาวะกรดยูริคในเลือดสูง จนส่งผลให้อาการของโรคเกาต์แย่ลง

9. ยา Ethambutol เป็นยาที่มีอาการไม่พึงประสงค์ คือ ทำให้การมองเห็นสีต่างๆผิดปกติไป ดังนั้น ผู้ป่วยควรได้รับการสอบถามความผิดปกติของการมองเห็นก่อนใช้ยานี้และขณะที่มาตรวจติดตามการรักษา รวมทั้งผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร กรณีที่เกิดอาการเหล่านี้ขึ้นหลังใช้ยานี้

การใช้ยาวัณโรคในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาวัณโรคในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1.ยารักษาวัณโรคที่ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ คือยา Isoniazid, Rifampin, Pyrazinamide, Ethambutol, โดยแพทย์จะคำนวณขนาดยาเหล่านี้ตามน้ำหนักตัวผู้ป่วยช่วงก่อนตั้งครรภ์

2.หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับยา Isoniazid ควรได้รับวิตามินบี 6 (Pyridoxine) เสริม เพื่อป้องกันการขาดวิตามินนี้ โดยอาการจากขาดวิตามินบี6 เช่น อาการชาตามปลายเส้นประสาท เช่น ปลายมือ ปลายเท้า

3.หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Aminoglycosides และ Fluoroquinolones ในหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจก่อความผิดปกติ/ความพิการต่อทารกในครรภ์ ยาเหล่านี้จะใช้ก็ต่อเมื่อมีการประเมินจากแพทย์ระหว่างประโยชน์ที่ได้จากการใช้ยา และความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์แล้ว ว่าเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

การใช้ยาวัณโรคในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาวัณโรคในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

1.ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโรคประจำตัวและมักใช้ยาหลายชนิดอยู่ก่อน จึงควรแจ้งแพทย์ว่ากำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้น จากยาโรคประจำตัวที่ใช้อยู่แล้วกับยาที่ใช้รักษาวัณโรค

2.ผู้สูงอายุที่มีการทำงานของตับผิดปกติ ควรเลือกใช้ยาวัณโรคชนิดที่มีผลต่อตับน้อย หรือไม่มีผลต่อตับ(แพทย์จะเป็นผู้เลือกว่า ควรเป็นยาชนิดใด) ควรตรวจเลือดติดตามการทำงานของตับอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และระวังการใช้ยาอื่นที่ไม่จำเป็น/ที่ซื้อใช้เอง เพราะอาจเพิ่มความเป็นพิษต่อตับ

3.ผู้สูงอายุที่มีการทำงานของไตผิดปกติ แพทย์จะปรับขนาดยาวัณโรคที่มีการขับออกทางไตเป็นกรณีๆไป ได้แก่ยา Ethambutol, Pyrazinamide

4.ผู้สูงอายุที่ได้รับยา Isoniazid ควรได้รับวิตามินบี 6 (Pyridoxine) เสริม เพื่อป้องกันอาการชาตามปลายประสาท เช่น ปลายมือ ปลายเท้า จากการขาดวิตามินบี6

การใช้ยาวัณโรคในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาวัณโรคในเด็กควรเป็น ดังนี้ เช่น

1.ยาที่ใช้รักษาวัณโรคในเด็ก ได้แก่ Isoniazid, Rifampin, Pyrazinamide, Ethambutol

2.หลีกเลี่ยงการใช้ยา Streptomycin ในเด็ก เพราะจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา คือ เป็นพิษต่อหู และต่อไต

3.ทารกแรกเกิดทุกคนควรได้รับวัคซีนบีซีจี (BCG Vaccine) เพื่อใช้ป้องกันการติดเชื้อวัณโรค

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาวัณโรคเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาวัณโรคอาจพบได้ดังนี้ เช่น

1. ยา soniazid: เช่น อาจทำให้ตับอักเสบ มีอาการชาตามปลายเส้นประสาท เช่น ปลายมือ ปลายเท้า เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ ภาวะโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย

2. ยา Rifampin: เช่น อาจทำให้ตับอักเสบ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ตับอ่อนอักเสบ ผื่นผิวหนังอักเสบ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงซึม สารคัดหลั่งต่างๆ เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลาย เสมหะ เหงื่อ น้ำตา เปลี่ยนเป็นสีส้มแดง

3. ยาPyrazinamide: เช่น อาจทำให้ตับอักเสบ กรดยูริคในเลือดสูง ปวดข้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ผื่นผิวหนังอักเสบ อ่อนเพลีย เกล็ดเลือดต่ำ

4. ยาEthambutol: เช่น อาจทำให้การมองเห็นสีผิดปกติ(เช่น มองเห็นสีแดงและสีเขียวเปลี่ยนไป) ปวดตา ปวดข้อ ผื่นผิวหนังอักเสบ มีไข้ ตัวสั่น

5.ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Aminoglycosides: เช่น อาจเป็นพิษต่อหู(เช่น ทำให้สูญเสียการได้ยิน/หูหนวก) เป็นพิษต่อไต (เช่น ทำให้การทำงานของไตบกพร่อง/ไตอักเสบ)

6.ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Fluoroquinolones: เช่น อาจทำให้ถ่ายเหลว/ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง แน่นท้อง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ ใจสั่น

7. ยา Bedaquiline: เช่น ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดข้อ ปวดศีรษะ ผื่นผิวหนังอักเสบ เจ็บหน้าอก

8. ยา Delamanid: เช่น ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง วิตกกังวล ตัวสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ ปวดหรือเจ็บเหมือนเข็มตำ(Pins and Needles sensation) บริเวณ มือ เท้า

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยารักษาวัณโรค) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดำเนินงานควบคุมวัณโรคแห่งชาติ พ.ศ. 2556 http://e-lib.ddc.moph.go.th/pdf/eb333/eb333.pdf [2016,Nov12]
  2. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการรักษาวัณโรคในเด็ก http://www.tbhivfoundation.org/images/pdf/2557-1.pdf [2016,Nov12]
  3. ศูนย์แพ้ยา โรงพยาบาลศิริราช. อาการไม่พึงประสงค์จากยารักษาวัณโรค.http://www.si.mahidol.ac.th/Th/division/shdp/admin/knowledges_files/13_27_1.pdf [2016,Nov12]
  4. สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการบริหารจัดการผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา.http://www.tbnfmthailand.org/Download/DR-TB%20Proof%2023%20FINAL.pdf [2016,Nov12]
  5. Nahid, P., and others. Official American Thoracic Society/Centers for Disease Control and Prevention/Infectious Diseases Society of America Clinical Practice Guidelines: Treatment of Drug-Susceptible Tuberculosis. (October 2016) : e147 –e195
  6. Santad Chanprapaph. Antimycobacterials. Bangkok: Faculty of Pharmaceutical Sciences Chulalongkorn University, 2010. (Mimeographed)