ยาลูกกลอน (Herbal bolus)

ยาลูกกลอน เป็นรูปแบบหนึ่งของยาสมุนไพร มีรูปร่างกลม ทำจากผงยาชนิดเดียว หรือหลายชนิด ผสมสารที่ทำให้ผงเกาะตัว เช่น น้ำ น้ำแป้ง น้ำผึ้ง เป็นต้น

ยาลูกกลอนอบน้ำผึ้ง เป็นยาลูกกลอนที่ทำจากผงยาและน้ำผึ้งผสมกัน มีลักษณะกลม มีน้ำอยู่น้อย การแตกตัวช้า ออกฤทธิ์ได้นาน น้ำผึ้งใช้ผสมช่วยปรับรส และช่วยบำรุงร่างกาย มักใช้เป็นยารักษาโรคเรื้อรัง และโรคที่ต้องทำการบำรุงร่างกาย แต่มีข้อเสียที่ยาลูกกลอนน้ำผึ้งใช้น้ำผึ้งจำ นวนมาก ทำให้ต้นทุนยาลูกกลอนสูงขี้น

วิธีการเตรียมยาลูกกลอนน้ำผึ้ง

มีกรรมวิธีและเทคนิคที่จะทำให้ยาลูกกลอนเป็นเม็ดสวยได้ แบ่งออกเป็นขั้นตอน 3 ขั้นตอน ดังนี้

ก.ขั้นตอนการเคี่ยวน้ำผึ้ง ขั้นตอนนี้นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก การเคี่ยวน้ำผึ้งมีประโยชน์ที่ช่วยฆ่าเชื้อโรค และไล่น้ำที่อยู่ในน้ำผึ้ง ทำให้ลูกกลอนไม่ขึ้นรา ยาที่ปั้นเม็ด จะเก็บได้นานหรือเก็บได้ไม่นานขึ้นอยู่กับขั้นตอนนี้ ในการเคี่ยวน้ำผึ้งต้องใช้ภาชนะที่แห้งสนิท

ข.การผสมน้ำผึ้งกับยาผง ขั้นตอนนี้เป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะยาจะเป็นเม็ดได้หรือไม่เป็น ก็ขึ้นอยู่กับการผสมน้ำผึ้งกับยาผง มีรายละเอียดดังนี้

  • นำยาที่ชั่งเตรียมไว้ เทใส่กะละมังที่แห้งสะอาด
  • ตวงน้ำผึ้งที่เคี่ยวได้ที่แล้ว ค่อยๆเทราดบนยาผงทีละทัพพี พร้อมกับใช้มือคลุกเคล้าให้เข้ากับน้ำผึ้ง และเทราดน้ำผึ้งพร้อมกับคลุกเคล้า จนยาได้ที่ ซึ้งสังเกตได้โดยหยิบยาที่เคล้า ทดลองปั้นด้วยมือดูว่าเม็ดดี หรือยาติดนิ้วหรือไม่ ถ้ายาได้ที่แล้วจะไม่ติดนิ้วมือ แล้วบีบเม็ดยาที่ปั้นดูว่า ยานั้นแตกร่วนหรือไม่ ถ้ายาไม่แตกร่วนยังเป็นเม็ดเกาะกันดี แสดงว่ายาได้ที่แล้ว ถ้าบีบแล้วยาแตกร่วนอยู่ แสดงว่ายังเคล้ายาไม่เข้ากับน้ำผึ้ง

หมายเหตุ : ขั้นตอนที่ต้องใช้มือในการคลุกยา ต้องล้างมือให้สะอาด และต้องให้มือแห้ง เพราะถ้ามือไม่แห้งสนิท จะทำให้ยาขึ้นราได้ หรืออาจจะใส่ถุงมือยางที่สะอาดก็ได้

ค. การปั้นโดยใช้มือปั้นทีละเม็ด การปั้นเม็ดยาลูกกลอน ก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญเช่นกัน ต้องปั้นให้กลมและขนาดสม่ำเสมอ การปั้นเม็ดทำได้โดย ค่อยๆแบ่งยาที่ผสมไว้แล้วมาปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8 เซนติเมตร)

การปั้นด้วยมือทำได้ช้า ในขณะที่ปั้นน้ำผึ้งที่ผสมในผงยาจะแห้งลงเรื่อยๆ จึงต้องคอยทด สอบดูว่ายาลูกกลอนที่ปั้นได้นั้น บีบแล้วแตกร่วนหรือไม่ ถ้าแตกแสดงว่าน้ำผึ้งน้อยไป ให้เติมน้ำ ผึ้งลงไป และผสมให้เข้าที่ จากนั้นจึงนำมาปั้นเป็นลูกกลอนต่อไป น้ำผึ้งที่ใส่ในผงยาจะต้องพอ เหมาะ ถ้ามากไปจะเหลว ลูกกลอนไม่เกาะตัว ถ้าน้อยไปลูกกลอนจะร่วนและแตกง่าย

นำลูกกลอนหรือเม็ดยาที่ได้วางไว้ในถาด และไม่ให้เม็ดยาซ้อนกัน นำไปอบในตู้อบอุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียสให้แห้งสม่ำเสมอ อย่าอบนานเกินไป จะทำให้เมล็ดยาแข็ง แตกตัวยากเมื่อรับประทาน เมื่อเม็ดยาแห้งดีแล้ว เก็บใส่ขวดโหลที่สะอาดและมิดชิด

ข้อพิจารณาในการเลือกซื้อยาเม็ดลูกกลอน

การซื้อยาลูกกลอน ควรพิจารณา ดังนี้

  • ซื้อยาที่มีทะเบียนยา และทะเบียน อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข) โดยดูฉลากยาเป็นสำคัญ
    • ถ้าผลิตในประเทศไทย ทะเบียนยาแผนโบราณจะขึ้นต้นด้วยตัวอักษร “G…../……” เช่น G 185/2536
    • ถ้านำเข้ามาจากต่างประเทศ เลขทะเบียนจะขึ้นต้นด้วยตัวอักษร “K" และมีรายละเอียดอื่นๆได้แก่ ชื่อสถานที่ตั้งของผู้ผลิต วัน เดือน ปีที่ผลิต เลขที่หรือครั้งที่ผลิต และปริมาณยาที่บรรจุ
  • หีบ ห่อยา ต้องอยู่ในสภาพดี ไม่ฉีกขาดหรือเปียกชื้น
  • ซื้อจากร้านที่มีใบอนุญาตขายยาเท่านั้น
  • ไม่ซื้อเพราะคำโฆษณา โอ้ อวดสรรพคุณ หรือการอ้างถึงบุคคลที่ใช้แล้วได้ผล

*****ข้อควรจำ

  • เหตุที่ควรจะซื้อยาลูกกลอนตามคำแนะนำข้างต้น และต้องมีฉลากส่วนผสมกำกับ เนื่องจากยาลูกกลอนในปัจจุบัน มักจะมีสารเคมี (ยาแผนปัจจุบัน) ปนมาด้วย เช่น ยาสเตียรอยด์, แบคทีเรีย, เชื้อรา, สารหนู, โลหะหนักตัวอื่นๆ (เช่น สารปรอท) ซึ่งเป็นสิ่งปนเปื้อนที่มีโทษทั้งสิ้น (อ่านเพิ่ม เติมในหัวข้อต่อไป ถึงพิษของสเตียรอยด์)
  • มากกว่าครึ่งของยาลูกกลอนที่จำหน่ายในท้องตลาด ล้วนมีส่วนผสมของยาสเตียรอยด์ทั้งสิ้น และแน่นอนในระยะเริ่มแรก ยาสเตียรอยด์เปรียบเสมือนมิตรที่แสนดี ทำให้คนไม่คิดระแวง ไม่คิดระวัง และติดใจกับส่วนดีของสเตียรอยด์ที่แฝงตัวอยู่ในยาลูกกลอนเหล่านั้น

สำหรับอิทธิฤทธิ์ของสเตียรอยด์ที่ทำให้หลายคนติดใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกินเข้าไปแล้วได้ ผลทันตาเห็น อาทิ คนที่กำลังผจญภัยกับอาการปวดอย่างแสนสาหัส พอกินปุ๊บก็หายปวดปั๊บ และที่สำคัญยาเหล่านี้มีราคาถูก หาซื้อกินเองได้ง่าย โดยไม่ต้องพบแพทย์ หรือมีใบสั่งยาจากแพทย์

ยาลูกกลอนที่มีสเตียรอยด์สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ชัดเจนขนาดนี้ ทำไมจึงหาว่า มันมีคุณสมบัติคล้ายมะเร็งอีกล่ะ? "สิ่งใดมีคุณอนันต์ ย่อมมีโทษมหันต์” ซึ่งเป็นคำ พูดที่สามารถอธิบายถึงอิทธิฤทธิ์ของสเตียรอยด์ใน ยาลูกกลอน เป็นอย่างดีทีเดียว

เมื่อใช้ยาสเตียรอยด์ไปนานๆ ร่างกายจะเกิดอาการ ไตพิการ/โรคไต กระดูกผุ/โรคกระดูกพรุน หน้าบวมเป็นดวงจันทร์ (Moon face) อ้วนฉุ ร่างกายบวมน้ำ ความดันเลือด/ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อลีบ เป็นต้น

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ได้กำหนดให้สารสเตียรอยด์จัดเป็น “ยาควบคุมพิเศษ” หมายถึงเป็นยาที่ต้องควบคุมดูแลและจับตามองเป็นพิเศษ มีบทบัญญัติและบทลง โทษ หากมีการฝ่าฝืนการใช้เกิดขึ้น

แต่เนื่องด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายนั้น มีข้อจำกัดทางด้านกำลังคน ดังนั้น การพึ่ง ตนเองก่อน (ปฏิเสธยาที่ผสมสเตียรอยด์) โดยหลีกเลี่ยงการกินยาลูกกลอนที่ไม่รู้ส่วนผสมที่แท้ จริง จึงปลอดภัยที่สุด

อย่างไรก็ตาม สเตียรอยด์ ก็ยังเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาจากสเตียรอยด์อยู่อีก อาทิ ผู้ที่ป่วยด้วย โรคออโตอิมูน/โรคภูมิต้านตนเอง โรคเลือดบางชนิด โรคไตบางชนิด เป็นต้น แต่ทั้งนี้ “ต้องเป็นการสั่งใช้ยาสเตียรอยด์จากแพทย์เท่านั้น”

พิษของสเตียรอยด์

พิษของสเตียรอยด์ที่ปัจจุบันมักใช้เป็นส่วนผสมในยาลูกกลอน ที่สำคัญ เป็นข้อๆได้ดังนี้

  • กดภูมิคุ้มกันต้านโรคของร่างกายต่อเชื้อโรค ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคได้ง่าย
  • ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผล (โรคแผลในกระเพาะอาหาร) หรือถึงขั้นทะลุได้ง่าย
  • เกิดการสะสมของไขมันในอวัยวะบางส่วน ทำให้ใบหน้ากลมผิดปกติ มีสิวเรียกว่า หน้าพระ จันทร์ หรือ Moon face หรือ ก้อนเนื้อที่ต้นคอหลัง (หนอก)
  • เกิดการคั่งของเกลือโซเดียมในร่างกาย/ในเลือด มีอาการบวมเป็นอันตรายมากต่อผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
  • การใช้ยานี้นานๆ ทำให้ กล้ามเนื้อลีบ กระดูกผุ/โรคกระดูกพรุน น้ำตาลในเลือดสูง/โรคเบา หวาน

สรุป

  • จากพิษอันอาจเกิดจากยาลูกกลอน หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และเด็ก ไม่ควรบริโภคยาลูกกลอน
  • ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราญทุกชนิดที่รวมถึงยาลูกกลอน และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่น กัน

บรรณานุกรม

  1. http://www.baanjomyut.com/library_3/extension-1/traditional_medicine/conversion_of_herbs/04.html [2013,Dec16].
  2. http://www.csjoy.com/story/steroy/steroy.htm [2013,Dec16].